ตลาดแรงงานตึงตัว สะท้อนจากสัดส่วนตำแหน่งงานว่างต่อผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.3% ขณะดัชนีความยากง่ายในการสรรหาแรงงาน ยังต่ำกว่าระดับ 50 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนว่าสรรหาแรงงานได้ยาก
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานสำรวจภาวะแรงงานในเดือน ก.ย.2555 พบว่า ตลาดแรงงานมีความตึงตัวมากขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนตำแหน่งงานว่างต่อผู้ว่างงานที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 18.3% เทียบกับเดือน ส.ค.ซึ่งอยู่ที่ 16% ขณะดัชนีความยากง่ายในการสรรหาแรงงาน ยังต่ำกว่าระดับ 50 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการว่ายังคงสรรหาแรงงานได้ยาก
ในเดือน ก.ย.การจ้างงานขยายตัวได้ต่อเนื่อง ตามการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวในระดับต่ำที่ 0.6%
ส่วนจำนวนผู้มีงานทำเดือน ก.ย.พบว่า มีจำนวน 39.2 ล้านคน ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน 0.7% เป็นผลจากการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัว 6.3% ตามการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเฉพาะข้าวจากปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวย ประกอบกับฐานต่ำในปีก่อนเนื่องจากอุทกภัย
สำหรับการจ้างงานนอกภาคเกษตรหดตัว 2.7% ตามการลดลงของการจ้างงานในภาคการค้าและภาคบริการ โดยเฉพาะบริการโรงแรมและภัตตาคาร ขณะที่การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกจะลดลง แต่การจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เน้นจำหน่ายในประเทศปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจภาวะการทำงานในเดือน ต.ค.2555 พบว่าตลาดแรงงานยังมีการตึงตัวเช่นกัน โดยจำนวนผู้ว่างงานมีทั้งสิ้น 2.23 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 0.6% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 4 พันคน จาก 2.19 แสนคน เป็น 2.23 แสนคน
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือน ก.ย.2555 จำนวนผู้ว่างงานลดลง 2.4 หมื่นคน จาก 2.47 แสนคนเป็น 2.23 แสนคน
เมื่อพิจารณาจำนวนผู้ว่างงานตามประสบการณ์การทำงาน พบว่า ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 6.2 หมื่นคน และผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน 1.61 แสนคน ซึ่งลดลง 8 พันคนจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2554 จาก 1.69 แสนคน เป็น 1.61 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคการผลิต 7.9 หมื่นคน ภาคการบริการและการค้า 4.7 หมื่นคน และภาคเกษตรกรรม 3.5 หมื่นคน ตามลำดับ
ค่าจ้างเฉลี่ยขยายตัว 7.9%
รายงาน ธปท.ระบุอีกว่า ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างขยายตัว 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการขยายตัวของค่าจ้างเฉลี่ยนอกภาคเกษตรกรรมที่ 8.8% เป็นสำคัญ
ส่วนภาวะการว่างงานนั้น พบว่าในเดือน ก.ย.มีผู้ว่างงานจำนวน 2.5 แสนคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนตามปัจจัยฤดูกาล แต่อัตราการว่างงานยังทรงตัวที่ 0.6% สำหรับอัตราการว่างงานรอฤดูกาลอยู่ในระดับต่ำที่ 0.1% สอดคล้องกับการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม อัตราการทำงานต่ำกว่าระดับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.0% จาก 0.7% ในเดือนก่อน โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมที่แรงงานต้องการทำงานเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นฤดูเก็บเกี่ยวอยู่แล้วก็ตาม
สำหรับภาพรวมของภาวะตลาดแรงงานในไตรมาส 3 ปี 2555 ยังคงตึงตัว การจ้างงานขยายตัวจากความต้องการแรงงานในภาคเกษตรกรรม ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมการจ้างงานยังหดตัวตามการจ้างงานของภาคบริการเป็นสำคัญ ส่วนอัตราการว่างงานปรับลดลงจากไตรมาสก่อน
อสังหาฯ เปิดใหม่เริ่มชะลอตัว
การหดตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตร เห็นได้ชัดในภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากในเดือน ต.ค.พบว่าภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอลงจากเดือนก.ย.เล็กน้อย หลังจากเร่งขึ้นมามากในช่วงก่อนหน้า ส่วนราคาที่อยู่อาศัยก็ทรงตัวจากเดือน ก.ย.เช่นกัน
"ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยชะลอลงเล็กน้อยหลังจากที่เร่งขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ในเดือน ต.ค. เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่อยู่ที่ 6,809 หน่วย ลดลงจากเดือนก่อนที่ 7,357 หน่วย โดยเป็นการลดลงของบ้านแนวราบที่เดือนนี้อยู่ที่ 4,252 หน่วย จากเดือนก่อนที่ 4,745 หน่วย ส่วนอาคารชุดทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนโดยอยู่ที่ 2,332 หน่วย"
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเริ่มชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ โดยโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือน ต.ค.2555 อยู่ที่ 6,641 หน่วย ลดลงจากเดือนก่อนที่ 7,344 หน่วย จากการลดลงของบ้านแนวราบเป็นสำคัญ โดยจำนวนบ้านแนวราบที่เปิดขายใหม่ในเดือน ต.ค. อยู่ที่ 2,751 หน่วย ลดลงจากเดือนก่อนที่ 3,941 หน่วย ขณะที่อาคารชุดที่เปิดขายใหม่อยู่ที่ 4,084 หน่วย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 3,651 หน่วย
สำหรับราคาที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและอาคารชุดทรงตัวจากเดือนก่อน โดยดัชนีราคาอาคารชุดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือน ต.ค. อยู่ที่ 117 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน แต่คิดเป็นการขยายตัว 8.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน เช่นเดียวกับดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินและดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดินที่อยู่ที่ 107.7 และ 114.5 ทรงตัวจากเดือนก่อนที่ 108 และ 114.6 แต่เป็นการขยายตัวเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่ 3.3% และ 2.8% ตามลำดับ