โค้งท้ายไม่ขึ้น โตชิบา-เอเซอร์-เลอโนโว ไม่หมดหวังระดมโปรโมชั่นลงช่องทางขายเต็มเหยียดเดือนสุดท้ายของปี
ดันไม่ขึ้น ยักษ์ไอทีรับสภาพ อัดสารพัดแคมเปญดึงดูดใจผู้บริโภคเต็มเหนี่ยว แต่ยังดึงยอดขายไม่เข้าเป้า กำลังซื้อสุดฝืด-ผู้บริโภคชะลอซื้อไม่คุ้นเทคโนโลยีใหม่ "คอมมาร์ต" เอาไม่อยู่ปลุกยอดโค้งท้ายไม่ขึ้น "โตชิบา-เอเซอร์-เลอโนโว" ไม่หมดหวังระดมโปรโมชั่นลงช่องทางขายเต็มเหยียดเดือนสุดท้ายของปี
นายถกล นิยมไทย ผู้จัดการประจำประเทศไทย ส่วนธุรกิจไอที บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แม้จะเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปีแล้ว แต่สภาพตลาดไอทีโดยรวมยังไม่ดีขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ผู้บริโภคยังชะลอการตัดสินใจซื้อ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีเทคโนโลยีใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด เช่น มีระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 8 ที่เหมาะกับการใช้โน้ตบุ๊กหน้าจอสัมผัส ขณะที่แท็บเลตที่ใช้วินโดวส์ 8 ยังไม่เข้ามาในไทย รวมถึงการเข้ามาแย่งตลาดโน้ตบุ๊กของแท็บเลตและสมาร์ทโฟนทำให้ผู้บริโภคสับสนได้ ไม่รู้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวเหมาะกับการใช้งานประเภทใด ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้
นอกจากนี้ การร่วมในงานคอมมาร์ต คอมเทค ไทยแลนด์ 2012 ที่ผ่านมา (วันที่ 15-18 พ.ย. 2555) โดยส่วนตัวมองว่า เทียบ 2 ปีก่อนมีคนมาเดินในงานน้อยลง อาจเพราะแบรนด์คอมพิวเตอร์มีโปรโมชั่นแบบเดียวกับในงานผ่านช่องทางจัดจำหน่ายทั่วประเทศ งานนี้จึงอาจช่วยผลักดันยอดไตรมาส 4 ได้ แต่ไม่ถึงกับทำให้ยอดขายรวมดีกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้
"โดยรวมพอไปได้ เทียบกับสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ กลุ่มผู้บริโภคที่เข้ามาในงานเป็นกลุ่มที่ตั้งใจมาซื้อจริง ๆ ยอดขายของโตชิบาทำได้ใกล้เคียงคอมมาร์ตช่วงกลางปี โน้ตบุ๊กได้ 5,000-6,000 เครื่อง แท็บเลต 100-200 ตัว คอมพิวเตอร์ออลอินวัน 50-60 เครื่อง จากนี้เราจะนำยอดที่ทำได้มาปรับตามสถานการณ์ตลาด เพื่อทำโปรโมชั่น โดยวางแผนว่าช่วงที่เหลือของปีจะจัดโปรโมชั่น และกิจกรรมตามหน้าร้านพาร์ตเนอร์กลาง ธ.ค.เป็นต้นไป แต่ละร้านจะมีรูปแบบและวันเวลาในการจัดโปรโมชั่นต่างกันไป"
สำหรับเป้าหมายรายได้ในส่วนธุรกิจไอทีของโตชิบาปีนี้อยู่ที่ 3,500 ล้านบาท มาจากโน้ตบุ๊ก 80% แก็ดเจต และฮาร์ดดิสก์ 10-15% แท็บเลต 5% โตจากปี 2554 25% โดย 3 ไตรมาสที่ผ่านมา เติบโต 25% และในไตรมาส 4 คงโต 5-10% เทียบช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แต่ถ้าเทียบไตรมาสที่ 3 ลด 20-25% เพราะมีรายได้จากลูกค้าภาครัฐ และองค์กรเป็นจำนวนมากในไตรมาส 3
ด้านนายบุญชัย เงาวิศิษฎ์กุล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์โมบิลิตี้ บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า วินโดวส์ 8 ยังไม่หวือหวาในประเทศไทย เนื่องจากซัพพลายสินค้าไม่เพียงพอ และผู้บริโภคต้องใช้เวลาเรียนรู้ คาดว่ากระแสการซื้อจะเริ่มมาทางพีซีที่ใช้วินโดวส์ 8 ในอีก 1-2 ไตรมาสข้างหน้า ส่วนภาพรวมตลาดไตรมาส 4 คงทำได้ใกล้เคียง หรือมากกว่าไตรมาส 3 นิดหน่อย เนื่องจากผู้บริโภคอยู่ในช่วงรอดู แม้อยากได้ แต่ยังไม่ซื้อ
ในคอมมาร์ตที่ผ่านมา เอเซอร์มียอดขายลดลง 15% เทียบกับคอมมาร์ตครั้งที่แล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีที่สุดคือ โน้ตบุ๊ก ตระกูล "คอร์ไอ" ส่วนสินค้าที่รองรับวินโดวส์ 8 แม้จะขายดี แต่มีซัพพลายสินค้าไม่มากจากยอดขายในงานครั้งนี้บอกว่าวินโดวส์ 8 ต้องใช้เวลาในการทำตลาด
"1 เดือนที่เหลือจากนี้จะเน้นโปรโมชั่นสำหรับร้านค้าปลีกต่อเนื่อง แต่อาจไม่แรงเท่าโปรโมชั่นในคอมมาร์ต จากงานนี้ทำให้เห็นเทรนด์ที่ชัดเจนจากตลาดปัจจุบัน ถ้าเป็นงานที่เกี่ยวกับสมาร์ทโฟนและแท็บเลตคนจะเยอะ แต่งานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์คนจะน้อยลง คอมมาร์ตครั้งนี้ปรับตัวให้มีแท็บเลตและสมาร์ทโฟนมากขึ้น"
อย่างไรก็ตาม ตลาดคอมพิวเตอร์พีซีรุ่นเก่าที่ไม่ได้รองรับวินโดวส์ 8 มาถึงจุดอิ่มตัว เน้นจับกลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มใช้ ขณะที่คนส่วนใหญ่มีคอมพิวเตอร์ใช้แล้วทำให้ดีมานด์ไม่มา แม้คนเท่าเดิม แต่ยอดขายลดลง
นายจีรวุฒิ วงศ์พิมลพร กรรมการ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เลอโนโว (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ช่วงเหลือของปีนี้ จะนำเสนอสินค้าประเภทอัลตร้าบุ๊ก และสลีกบุ๊กให้ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อคอมพิวเตอร์ทดแทนโน้ตบุ๊กเก่า เน้นทำตลาดคอมพิวเตอร์ ออลอินวันจับผู้บริโภคที่ไม่ได้เปลี่ยนคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปมานาน โดยมีโปรโมชั่นแถมสินค้าพิเศษสลับกันไปทุกสัปดาห์
สำหรับผลประกอบการ ณ ไตรมาส 3 มีส่วนแบ่งในประเทศไทย 10% โตเพิ่มจากไตรมาส 2 ประมาณ 30% ซึ่งเป้าส่วนแบ่งการตลาดปีนี้อยู่ที่ 10% มีการเติบโตทั้งปี 30% หากเทียบปีที่แล้ว เพราะทำตลาดในกลุ่มผู้บริโภคดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขยายช่องทางจำหน่าย, การจัดการทรัพยากรในองค์กร และเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ที่กว้างขึ้น มีทั้งคอมพิวเตอร์ออลอินวัน และเดสก์ทอปที่กลับมาให้ความสำคัญ มีผลิตภัณฑ์ที่รองรับวินโดวส์ 8
"คอมมาร์ตที่ผ่านมา เราทำได้ดีกว่ากลางปี 20% ดีเกินคาด น่าจะเพราะวินโดวส์ 8 และมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ผู้บริโภคซื้อ เช่น โน้ตบุ๊กหน้าจอสัมผัส และอัลตร้าบุ๊ก ราคาประมาณ 3 หมื่น ซึ่งเรามีผลิตภัณฑ์ที่รองรับวินโดวส์ 8 งานคอมมาร์ตครั้งนี้เทียบ 1-2 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่ต่างไปจากเดิมมาก จะให้บูมเหมือน 4-5 ปีก่อนคงไม่ใช่ ตอนนั้นคนไทยมีคอมพิวเตอร์ส่วนตัวไม่มาก ตอนนี้มีทั้งสมาร์ทโฟนและแท็บเลตเข้ามา ขณะที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเท่าเดิม"