เนื้อหาวันที่ : 2012-11-30 15:12:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1877 views

รมว.พลังงาน ยันประมูล IPP รอบ 3 ตามแผนเดิม 5,400 MW ขายซอง 20 ธ.ค.

กกพ.จะเปิดขายซองเอกสารเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า เริ่มตั้งแต่ 20 ธันวาคม 2555 ถึง 21 มกราคม 2556 และกำหนดยื่นข้อเสนอ 12 มีนาคม และพิจารณาคัดเลือกเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน 2556

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP) รอบ 3 ซึ่งเป็นไปตามแผนงานเดิม โดยจะเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 5,400 เมกะวัตต์(MW) ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทั้งหมด เงินลงทุน 1.134 แสนล้านบาท

โดย กกพ.จะเปิดขายซองเอกสารเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า เริ่มตั้งแต่ 20 ธันวาคม 2555 ถึง 21 มกราคม 2556 และกำหนดยื่นข้อเสนอ 12 มีนาคม และพิจารณาคัดเลือกเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน 2556 โดยการพิจารณาจะเป็นอำนาจของ กกพ. ทั้งหมด

รมว.พลังงาน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นไปตามแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว(PDP 2012) ฉบับปรับปรุงรอบที่ 3 อย่างไรก็ตามในปี 2556 จะมีการปรับแผน PDP 2013 ใหม่ โดยให้นโยบายว่าจะใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน และรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากเพื่อนบ้านมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น จากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากได้รับรายงานว่า ปลายแผน PDP หรือประมาณปี 2573 ค่าไฟฟ้าจะปรับตัวสูงขึ้นไปถึงระดับประมาณ 5 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อหน่วย

นอกจากนี้ ตนเองยังได้มอบหมายให้ กกพ.พิจารณาเรื่องการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้ระบบขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อของ บมจ.ปตท.(PTT) และเปิดให้เข้ามาใช้ระบบส่งไฟฟ้าได้ด้วย เพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน(AEC) ในปี 2558 โดยให้ กกพ.ไปคำนวณค่าเชื่อมต่อในการเข้ามาใช้บริการให้เหมาะสม

ทั้งนี้ กกพ.ได้รายงานผลกระทบจากการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า โดยมีความเป็นห่วงว่า ในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(PEAK) หากระบบส่งก๊าซฯ เกิดปัญหาขาดแคลนจะทำให้เกิดไฟฟ้าตกและไฟฟ้าดับ เพราะปัจจุบันพึ่งพาก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงถึงร้อยละ 70 กระทรวงพลังงานจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางเพิ่มสำรองก๊าซฯ มากขึ้น ทั้ง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) หรือ ปตท.สผ. ไปลงทุนนอกประเทศ เพื่อแสวงหาแหล่งก๊าซฯ มากขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุนในประเทศโมซัมบิก และ ปตท.ก่อสร้างคลังเก็บก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ระยะที่ 2 อีก 5 ล้านตัน เมื่อรวมกับระยะแรกจะสามารถรองรับได้ถึง 10 ล้านตัน

ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มอบหมาบให้ กกพ. ไปพิจารณาว่าจะออกกฎระเบียบในการดูแลอย่างไร เพราะปัจจุบันพบว่ามีปัญหามาก โดยเฉพาะการที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ออกใบอนุญาตรับซื้อถึง 4,000 เมกะวัตต์ ขณะที่แผน PDP กำหนดรับซื้อเพียง 2,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(Ft) ให้สูงขึ้น และการอ้างอิงตัวเลขต้นทุนค่าไฟฟ้าในอดีตนั้น การผลิต 1 เมกะวัตต์ จะต้องลงทุนถึง 120 ล้านบาท แต่ปัจจุบัน ลดลงเหลือ 70 ล้านบาทเท่านั้น จึงไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาแพง และเป็นไปไม่ได้ที่จะรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมด โดยเฉพาะการผลิตน้ำร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีการเสนอมาถึง 1,000 เมกะวัตต์ เพราะมีต้นทุนสูง จึงมอบหมายให้ กกพ.ไปหาแนวทางเยียวยาผลกระทบต่อผู้ลงทุน

ขณะเดียวกันจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการอุดหนุนการซื้อไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ให้เหมาะสมจากปัจจุบัน ที่ใช้รูปแบบอัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม(Adder)อยู่ที่ 6.50-8 บาทต่อหน่วย ก็จะเปลี่ยนมาเป็นระบบรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง(Feed Intariff)