กระทรวงพลังงานจับมือกับกระทรวงการคลัง โปรยยาหอมผู้ใช้รถยนต์เอ็นจีวี เร่งออกมาตรการภาษีเอาใจ เผยมาตรการนี้นับว่าคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับการลดนำเข้าน้ำมัน ตั้งเป้า 1.6 หมื่นคันต่อปี
กระทรวงพลังงานจับมือกับกระทรวงการคลัง โปรยยาหอมผู้ใช้รถยนต์เอ็นจีวี เร่งออกมาตรการภาษีเอาใจ หวังเป้าผู้ใช้เพิ่มจำนวนมากขึ้น เผยมาตรการนี้นับว่าคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับการลดนำเข้าน้ำมัน เบื้องต้นตั้งเป้ารถยนต์ใหม่ที่ติดตั้งเครื่องเอ็นจีวี 10% หรือประมาณ 1.6 หมื่นคันต่อปี |
|
มาตรการภาษีรถยนต์เอ็นจีวีประเภทแยกมาติดตั้งเอง(ดีโทรฟิต)ก็จะได้ส่วนลดจากต้นทุนติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวีไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อคัน เป็นเวลา 2 ปี ระบุ หลังจากนั้นจะมีรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องเอ็นจีวีจากโรงงานเลย (โออีเอ็ม) มากขึ้นเพื่อหวังส่วนลดภาษี 20% เบื้องต้นตั้งเป้าจะมีรถยนต์ใหม่ที่ติดตั้งเครื่องเอ็นจีวี 10% หรือประมาณ 1.6 หมื่นคันต่อปี ชี้ การขยายปั๊มเอ็นจีวีจะมากขึ้นหลัง ปตท.ตัดสินใจปรับค่าการตลาดเป็น 1.40 บาทต่อกิโลกรัม |
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยภายหลังการหารือถึงการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์นั่งที่มาประกอบเครื่องยนต์เอ็นจีวีภายหลัง(ดีโทรฟิต) เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้เอ็นจีวีอย่างแพร่หลาย โดยเห็นร่วมกันในหลักการว่าจะไม่กำหนดเป็นร้อยละของอัตราภาษีที่ลดลง จากอัตราภาษีรถยนต์นั่งร้อยละ 30 เป็นส่วนลดภาษีจากต้นทุนการติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวีแต่ละคันไม่เกิน 5 หมื่นบาท และกำหนดอัตราภาษีเช่นนี้เป็นเวลา 2 ปี |
นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังกล่าวว่า การลดสัดส่วนภาษีสำหรับรถยนต์ดังกล่าว คาดว่ารัฐคงสูญเสียรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี เพราะคาดว่าจะมีรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวีใหม่ประมาณร้อยละ 10 ของรถยนต์ที่ผลิตออกมาใหม่ที่มีประมาณ 160,000 คันต่อปี หรือจำนวนรถยนต์ประมาณ 16,000 คันต่อปี ซึ่งนับว่าคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับการลดนำเข้าน้ำมัน |
นายเมตตา บันเทิงสุข ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงมาตรการลดภาษีสรรพสามิตในรถเอ็นจีวีว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ สนพ.เป็นผู้ไปดูมาตรการจูงใจผู้ใช้รถให้หันมาติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวีมากขึ้น ซึ่งหากติดตั้งจากโรงงานเลย(โออีเอ็ม)ก็จะได้รับส่วนลดภาษีสรรพสามิตจาก 30% เหลือ 20% |
แต่หากติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวีจากโรงงานผู้ผลิตรถยนต์สำเร็จรูป(ดีโทรฟิต)ก็จะได้รับการลดภาษีในส่วนที่เป็นค่าติดตั้งตามราคาจริงไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อคัน เฉพาะรถยนต์ที่มีขนาดไม่เกิน 3 พันซีซี เบื้องต้นเป็นระยะเวลา 2 ปีก่อน หลังจากนั้นก็จะให้เป็นการติดตั้งจากโรงงานเลย |
การที่จะให้ติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวีออกมาจากโรงงานเลยในทุกบริษัทตนยืนยันว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้เพราะทุกบริษัทรถยนต์ต่างก็อยากได้รับส่วนลดภาษีสรรพสามิตตรงนี้แต่ติดอุปสรรคที่ว่าตัวเครื่องที่มาจากบริษัทแม่ต้องเปลี่ยนไลน์การผลิตก่อนซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ2 ปี นายเมตตา กล่าว |
ทั้งนี้กระทรวงพลังงานอยากให้มีรถใหม่ที่ติดตั้งเครื่องยนต์เอ็นจีวีมาเลยจากโรงงาน 10% หรือประมาณ 1.6 หมื่นคันต่อปี ซึ่งหากทำได้ตามที่เสนอจะทำให้มีรถใหม่ที่ติดตั้งเครื่องเอ็นจีวีเกินเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะมีประมาณ 2 หมื่นคันต่อปี ซึ่งรถยนต์ในกรุงเทพฯที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีจะเสียค่าเชื้อเพลิงแค่ 80 สตางค์ต่อกิโลเมตร แต่หากใช้เบนซินจะต้องเสียค่าเชื้อเพลิงถึง 3 บาทต่อกิโลเมตร(คิดในอัตราราคาค่าเชื้อเพลิงปัจจุบัน) |
|
นายเมตตา กล่าวว่า ทางบริษัทรถยนต์ต่าง ๆ ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะมีการคุยกันก่อนหน้านี้แล้ว และคิดว่าน่าจะทำให้บริษัทรถยนต์หันไปติดตั้งเอ็นจีวี 100% เพราะเมื่อราคาเท่ากันก็เลือกที่มีทั้ง 2 อย่างด้วยน่าจะดีกว่า และเชื่อว่าการใช้แบบเดียวต้องหมดไปแน่ เพราะเป็นเรื่องของการแข่งขันถ้าบริษัทหนึ่งติดอีกบริษัทหนึ่งก็ต้องติด หากไม่ติดก็สู้เขาไม่ได้ ส่วนการขยายปั๊มเอ็นจีวีคิดว่าน่าจะมีการขยายได้มากกว่าเดิม เพราะขณะนี้ |
|
ปตท.เองก็เปิดให้ผู้ค้าน้ำมันรายอื่นอย่างบางจากและเชลล์เข้ามาแชร์ตลาดด้วย โดยการเพิ่มค่าการตลาดเป็น 1.40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งคาดว่าน่าจะขยายได้มากกว่า 200 สถานีภายในปีนี้ |
|
อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.)จะเรียกผู้ประกอบการรถยนต์ทุกราย กรมการขนส่งทางบก และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมารับทราบมาตรการลดภาษีสรรพสามิตในวันจันทร์ที่ 10 พ.ค. 2549 เวลา 10.00 น. ซึ่งหากสามารถสรุปรายละเอียดต่าง ๆ ได้ภายในวันดังกล่าวก็จะรายงานผลให้กับทางกระทรวงการคลังพิจารณาก่อนที่จะเสนอมาตรการดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันอังคารที่ 16 พ.ค.พิจารณาต่อไป และหากที่ประชุม ครม.เห็นชอบก็จะมีการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ต่อไป |