ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต้องการได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลในกรณีขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาททั่วประเทศ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเปลี่ยนตัวประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จากนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล เป็นนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต้องการได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลในกรณีขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาททั่วประเทศ ที่รัฐบาลได้ประกาศเดินหน้าในวันที่ 1 ม.ค. 2556 ว่า เรื่องค่าแรง 300 บาท เป็นการตกลงกันของคณะกรรมการไตรภาคี สำหรับข้อขัดแย้งต่างๆ ในส.อ.ท.รัฐบาลคงไม่สามารถไปก้าวล่วงได้
ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ตั้งคณะกรรมการทำงานร่วมกับภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือดูแล ซึ่งระยะแรกของนโยบายดังกล่าวรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ และในระยะที่สองนี้คณะกรรมการที่มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมตรี และรมว.คลัง และนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอุตสาหกรรมที่ได้รับผล กระทบว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือบ้าง
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวถึงการที่หลายฝ่ายกังวลจะมีคนตกงานเพิ่มว่า ภาพรวมยืนยันว่าไม่มีแรงงานตกงานเพิ่มขึ้นแน่นอน และยืนยันว่ามาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับค่าแรง 300 บาท นั้นเป็นไปตามมติของคณะกรรมการไตรภาคี รัฐบาลเองก็รับข้อห่วงใยและพร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบและอยากขอร้องให้ช่วยกันดูว่าจะช่วยแก้ไขอย่างไรในแต่ละอุตสาหกรรม
นายเผดิมชัยกล่าวว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันนั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้ตัดสินกำหนดอัตราค่าจ้างมาตลอดตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งครั้งนี้ก็เช่นกันคณะกรรรมการไตรภาคีมีมติว่าจะขึ้นค่าแรง 300 บาท ในปีนี้ขั้นต้น 7 จังหวัดขึ้นในวันที่ 1 ม.ค.2555 และขั้นที่ 2 ทั้งหมดทั่วประเทศจะขึ้นในวันที่ 1 ม.ค.2556 เพราะรัฐบาลมีสิ่งตอบแทนเรื่องการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และรัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน วันนี้ส.อ.ท.ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับนโยบาย 300 บาทของรัฐบาลเลย ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องการเยียวยานั้นมีการดำเนินการแล้วโดยขยายเวลาขึ้นค่าแรงออกมา 1 ปี
"ปัญหาในส.อ.ท. เขาต้องไปแก้ปัญหากันเอง ที่ระบุว่าไม่เห็นใจฝ่ายผู้ประกอบการนั้นผมอยากถามกลับไปว่าแล้วไม่เห็นใจบรรดาลูกจ้างบ้างหรือ การขึ้นค่าแรง 300 บาท เพื่อให้บรรดาลูกจ้างอยู่ได้ ทำงาน 26 วัน เงินเดือน 7 พันกว่าบาทจะอยู่ได้อย่างไร ทีคนจนถูกเอาเปรียบไม่มีใครพูด" นายเผดิมชัย กล่าว
นายเผดิมชัยกล่าวว่า ในวันที่ 30 พ.ย. นายกิตติรัตน์จะหารือกับตนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการในการรองรับ เพราะเราไม่ได้ข้อมูลจากส.อ.ท.เลย และในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ ตนได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 5 เสือของทุกจังหวัดมาประชุมกันที่กระทรวงแรงงาน ว่าแต่ละจังหวัดบริษัทขนาดเอส หรือแอล กี่บริษัท มีแรงงานหรือคนตกงานเท่าไร เพื่อหามาตรการดูแลต่อไป