เนื้อหาวันที่ : 2012-11-27 09:49:05 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2104 views

ชี้ปัญหากีดกันค้าน่าห่วงกว่าเออีซีทำคนไทยถูกแย่งงาน

การเข้าสู่เออีซีจะเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่จะเข้าไปลงทุนในอาเซียน

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "ประชาคมอาเซียน : มายาคติ ความเป็นจริง โอกาสและความท้าทาย" ว่า ประเทศไทยมีความตื่นตัวการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 มากสุด แต่ในทางกลับกัน มีความเข้าใจผิดๆ มาโดยตลอด ทั้งในเรื่องแรงงานและภาษี

 โดยคนไทยเข้าใจว่าการลดภาษีการค้าระหว่างประเทศในเออีซีจะเหลือ 0% ในปี 2558 แต่ความเป็นจริงภาษีเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2532 และในปี 2558 ไม่ใช่ว่าทั้ง 10 ประเทศจะมีการลดภาษี แต่จะมี 3 ประเทศ ที่ยังมีภาษีอยู่ 0.5% คือ กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง ลาว กัมพูชา และพม่า
ส่วนปัญหาแรงงาน ที่กังวลว่าเมื่อเข้าเออีซีแล้วจะทำให้แรงงานของประเทศเพื่อนบ้านมาแย่งงานคนไทย แต่ปัจจุบันปัญหาการว่างงานที่ 0.7% และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวในประเทศถึง 1.35 ล้านคน

 "สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญเมื่อเข้าสู่เออีซี น่าจะเป็นเรื่องการกีดกันทางการค้ามากกว่า แม้การลดภาษีเหลือ 0% แต่ยังมีมาตรการกีดกันสินค้าอื่นๆ ที่จะทำให้เราแข่งขันได้ยาก" นายสมเกียรติกล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเข้าสู่เออีซีจะเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่จะเข้าไปลงทุนในอาเซียน เพราะบริษัทส่วนใหญ่ไปลงทุนในกลุ่มพลังงาน แต่เอสเอ็มอีไทยมีความสามารถในด้านบริการ ซึ่งยังมีช่องว่างเพียงพอที่จะเข้าไปเปิดตลาดได้