นายวิศว วิศวชัยวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า นโยบายค่าจ้างแรงงานวันละ 300 บาท ที่กำลังจะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2556 ไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีผลกระทบรุนแรงเพียงใดเพราะยังไม่ได้เริ่มใช้ แต่ เชื่อมั่นว่าจะต้องมีผลกระทบแน่นอน เพราะ จ.พิษณุโลก มีค่าจ้างแรงงาน 236-237 บาทต่อวัน เมื่อปรับขึ้นเป็นวันละ 300 บาท ผลให้ต้นทุนการผลิตจากการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น 30% ทันทีที่ผ่านมาสินค้าหลายชนิดอยากปรับราคาขึ้น อาทิ น้ำมัน ข้าว ยางพารา หรือเนื้อหมู ที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ราคาข้าวแกง อาหารเกือบทุกชนิดปรับราคาเพิ่มขึ้น เฉลี่ยอาหารอยู่ที่จานละหรือถุงละ 35-40 บาท แต่เมื่อราคาเนื้อหมูปรับราคาลดลงมา ราคาอาหารไม่มีการปรับราคาลงแต่อย่างใด ขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาท ทำให้ผู้ประกอบการในจังหวัดพิษณุโลกกระทบไปทุกแห่ง เพราะต้นทุนสูง แม้ว่าสภาอุตสาหกรรมมีประเด็นเรียกร้องไปยังรัฐบาลเพื่อให้ช่วยเหลือจำนวน 21 ข้อ อาทิ ลดหย่อนภาษี แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะสนใจเพียงใด นโยบายค่าแรง 300 บาท ภาคธุรกิจก็คงต้องปฏิบัติตาม เพราะเป็นกฎหมายไม่มีใครกล้าฝ่าฝืน ปล่อยให้ต้นทุนเพิ่ม เพียงแต่สวัสดิการ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ที่ไม่ใช่ค่าแรง ผู้ประกอบการอาจต้องถูกตัดออกไปบางรายธุรกิจดีๆ ก็คงไว้ ขึ้นอยู่ว่าการประกอบกิจการได้กำไรมากหรือน้อย ปัจจุบัน ผู้ประกอบการประสบกับการขาดแคลนแรงงานไม่รู้ว่าแรงงานหายไปไหนหมด มีบางสถานประกอบการจ่ายค่าแรงเกินอยู่แล้วแต่ก็ไม่มีคนงาน เป็นไปได้ว่าแรงงานกำลังรอเงินปรับเพิ่มขึ้น จึงมีการย้ายฐานแรงงานไปที่อื่นก่อน กรณีแรงงานพม่าครอบครัว 2-3 คน จ้างรวมกัน 240 บาท เขาอยู่ได้ แต่วันนี้นโยบายจ้างแรงงาน 300 บาท ทำให้แรงงานพม่ายังไม่ไหลออกกำลังรอค่าจ้างใหม่อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอาจรอผลกระทบในอีก 6 เดือนข้างหน้า ว่าจะเดือดร้อนเพียงใดจากค่าแรงที่ต้องจ่าย แบกรับภาระเพิ่มขึ้นแค่ไหน แนวทางแก้ไขอาจลดปริมาณคนงานลง ลอยแพคนงานด้อยคุณภาพ ย้ายฐานการผลิตหรือปิดกิจการไปเลย
ประธานหอการค้า จ.พิษณุโลก กล่าวย้ำอีกว่า รัฐบาลช่วยเหลือผู้ผลิตลำไย ชาวนาอุ้มราคายางพารา สามารถช่วยได้ ส่วนผู้ประกอบการก็เป็นส่วนหนึ่งที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากนโยบาย รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการ SMEs แบกรับภาระต้นทุนที่มากขึ้นจนอาจทนไม่ไหวจากปัญหาขาดทุนและต้องปิดกิจการลง