กฟผ.มีความจำเป็นต้องปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ใหม่อีกครั้ง
นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงกรณีที่ นาย พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องการให้ กฟผ.เจรจาซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเป็น 20,000 เมกะวัตต์ว่า หากมีการดำเนินการจริง ทาง กฟผ.มีความจำเป็นต้องปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ใหม่อีกครั้ง เพื่อเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศจากร้อยละ 15 ในปัจจุบันเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตรวมทั้งหมด และยังต้องแก้ไขบันทึกข้อตกลง (MOU) การซื้อขายไฟฟ้าที่ไทยทำกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ในปัจจุบันประเทศไทยได้ลงนาม MOU รับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย 1) สปป.ลาวประมาณ 7,000 เมกะวัตต์ ทั้งในส่วนของไฟฟ้าพลังน้ำ แบ่งเป็นโครงการที่จ่ายไฟแล้ว ได้แก่ โครงการเทิน-หินบุน, โครงการห้วยเฮาะ, โครงการน้ำเทิน 2 และโครงการน้ำงึม 2 2) โครงการที่ลงนาม PPA และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการเทิน-หินบุนส่วนขยาย, โครงการไซยะบุรี
3) โครงการที่ลงนาม MOU และอยู่ระหว่างจัดทำ PPA ได้แก่ โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย, โครงการน้ำเงี้ยบ 1 และ 4) โรงไฟฟ้าจากถ่านหิน ได้แก่ โครงการหงสาและจากพม่า จำนวน 1,500 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในพม่ายังอยู่ในขั้นตอนศึกษา ยังไม่มีความชัดเจนของโครงการ มีเพียงกรอบนโยบาย เท่านั้น
"รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ให้กรอบนโยบายนี้มาเนื่องจากเห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านยังมีศักยภาพที่น่าจะทำการผลิตไฟฟ้าเพิ่มได้อีก เช่น โครงการเขื่อนสาละวินในพม่ามีการศึกษาผลิตไฟฟ้าที่ 7,000 เมกะวัตต์ รวมถึงโครงการ โรงไฟฟ้าถ่านหินในนิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่ง กฟผ.ยังทำการศึกษาอยู่ และจะได้เจรจาซื้อไฟเพิ่มเติมในอนาคต ขณะที่ ใน สปป.ลาวยังมีพื้นที่ที่สามารถพัฒนา การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำได้ จึงอาจจะ มีการเจรจาโครงการอื่น ๆ ในลาวอีก ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ในอนาคต" นายสุทัศน์กล่าว
ทั้งนี้ โครงการลงทุนโรงไฟฟ้าใน พม่าที่ผ่านมามีความล่าช้าเนื่องจาก ติดปัญหาเงื่อนไขการลงทุนในพม่า แต่ปัจจุบันรัฐบาลพม่ามีการเปิดกว้างมากขึ้น เชื่อว่าจะทำให้เอกชนสามารถ เดินหน้าการลงทุนได้
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมทวายยังต้องรอการตัดสินใจจากรัฐบาลพม่า หากรัฐบาลพม่าตัดสินใจที่จะใช้ถ่านหินก็จะทำให้โครงการคืบหน้ารวดเร็วขึ้น โดยโครงการนี้บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (มหาชน) เข้าไปถือหุ้นร่วมด้วย และ กฟผ.พร้อมรับซื้อไฟฟ้าหากมีกำลังผลิตเหลือส่งและสายส่งในประเทศพร้อมรับไฟฟ้าดังกล่าว
"กฟผ.ได้ให้บริษัทลูกคือ บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ร่วมศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ ร่วมกับ บริษัทอิตาเลียน- ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ในนิคมอุตสาหกรรมทวาย เบื้องต้นมีการหารือกับรัฐบาลพม่าในช่วงที่ผ่านมาในเรื่องการแสวงหาโอกาสการลงทุนและความร่วมมือทั้งสองประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต" นายสุทัศน์กล่าว