ภาคการส่งออกเป็นพิเศษ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก รวมทั้งให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศ เพื่อเพิ่มการกระจายรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้น
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้สถาบันจัดอันดับอย่างมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส, สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (เอสแอนด์พี) และฟิทช์ เรทติ้งส์ ยังไม่ยอมปรับเพิ่มเครดิตให้กับประเทศไทย เพราะไม่มั่นใจประเด็น ความชัดเจนด้านนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล และปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของไทย เบื้องต้นกระทรวงการคลังได้ชี้แจงว่า ประเทศไทยจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยการออกกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ลงทุนภายใน 7 ปี ทั้งระบบขนส่งและระบบน้ำครั้งใหญ่ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้กำหนดให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับไม่เกิน 50% ของจีดีพี เพื่อรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศ
ขณะที่ ปัญหาทางการเมืองนั้น เป็นเรื่องที่ชี้แจงให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือเข้าใจได้ยาก โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ชี้แจงให้กับสถาบันจัดอันดับว่า การบริหารงาน 1 ปี ที่ผ่านมาของรัฐบาลได้พยายามประนีประนอมกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เพื่อให้สถานการณ์การเมืองสงบและไม่มีปัญหา
นายอารีพงศ์ กล่าวว่า สถาบันจัดอันดับบางแห่งจะส่งคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีอำนาจในการตัดสินเพิ่มเครดิตให้กับประเทศไทย ซึ่งจะเดินทางเข้ามาเก็บข้อมูลในต้นปีหน้า เพื่อพิจารณาว่าประเทศไทยจะเพิ่มเครดิตได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยได้ปรับเครดิตเพิ่มขึ้นก็จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น จากการนำข้อมูลไปชี้แจงสถาบันจัดอันดับมีความเข้าใจเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และเห็นด้วยที่การจัดอันดับของไทยต่ำกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยควรอยู่ที่ระดับ เอ หรือ เอเอ ไม่ใช่ บีบีบี บวก ที่ได้อยู่ในปัจจุบัน
นายกิตติศักดิ์ พรหมรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพล) กล่าวถึงผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ เรื่อง "คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2013" จากองค์กรชั้นนำ 35 แห่ง รวม 73 ราย พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ 67.1% คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 56 จะอยู่ที่ระดับ 4.1-5% และ 13.7% คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.1-6% ขณะที่การส่งออก 43.8% คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 6-10% และอีก 35.6% คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1-5% เท่านั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 56 นักเศรษฐศาสตร์ 31.5% คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 2.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.75%
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป 79.5% กังวลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ 64.4% กังวลกับปัญหาการเมือง การชุมนุมประท้วง และเสถียรภาพของรัฐบาล ส่วนปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ที่ 32.9% ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ได้เสนอแนะให้รัฐบาลปรับลดการดำเนินนโยบายประชานิยม ลดการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว เพื่อช่วยลดปัญหาหนี้สาธารณะที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้รัฐบาลควรเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในโครงการต่าง ๆรวมถึงโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ
นอกจากนี้รัฐบาลควรเข้าไปดูแลภาคการส่งออกเป็นพิเศษ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก รวมทั้งให้ความสำคัญกับตลาดในประเทศ เพื่อเพิ่มการกระจายรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงเตรียมแผนรองรับกับปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า เช่น ปัญหาจากการเพิ่มค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ปัญหาเงินเฟ้อ เป็นต้น
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปี 56 คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ระดับ 4-5% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน เพื่อกระตุ้นการค้าขายชายแดน ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 7-8%.