ธีมปีนี้เน้นเรื่องการเพิ่มระดับความแม่นยำในการผลิตขั้นสูง เสริมความมั่นใจธุรกิจโลหะการในภูมิภาค
เปิดแล้ว “เมทัลเล็กซ์ 2012” อัดเต็มพิกัด
เพิ่มระดับความแม่นยำการผลิตขั้นสูง เสริมแกร่งอุตสาหกรรมอาเซียน
ฯพณฯ ประเสริฐ บุญชัยสุข รมว. กระทรวงอุตสาหกรรม ประธานในพิธีเปิด พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ “ ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทย ในปี 2015 “ ในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ “เมทัลเล็กซ์ 2012” มหกรรมเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีโลหะการที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เวทีกลางเปิดตัวเทคโนโลยีล่าสุด เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ความแม่นยำ เสริมศักยภาพอุตสาหกรรมโลหะการผู้ประกอบการอาเซียน
รี้ด เทรดเด็กซ์ เปิดงานยักษ์โลหะการระดับภูมิภาค โชว์เครื่องจักรและเทคโนโลยีล่าสุดกว่า 4,000 รายการ พร้อมประสิทธิภาพสูงสุด เสริมกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้วยแบรนด์ชั้นนำกว่า 2,700 แบรนด์ และ 8 พาวิลเลียนนานาชาติ ดึงผู้ซื้อทั่วอาเซียนกว่า 66,000 ราย พร้อมอัดสัมมนาคุณภาพครบเครื่องเรื่องเทคโนโลยีโลหะการ อาทิ การพัฒนาประสิทธิภาพระดับสูงด้วยเทคโนโลยีนาโน อุตสาหกรรมเหล็ก เทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเชื่อม ในงาน เมทัลเล็กซ์ 2012 ระหว่างวันที่ 21- 24 พฤศจิกายน 2555 ไบเทค บางนา
นายชัยณรงค์ ลิมป์กิตติสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด เปิดเผยว่า งานเมทัลเล็กซ์ 2012 เป็นงานที่รองรับการพัฒนาภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมโลหะการ ซึ่งในปีนี้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2555 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 4.91 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากภาคการผลิตในกลุ่มยานยนต์ ซึ่งยอดการผลิตกลับมาสู่ระดับปกติหลังเกิดอุทกภัยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 และแนวโน้มการผลิตที่ทางเอกชนคาดการณ์ไว้ในช่วงปี 2555 ที่ระดับ 2.2 ล้านคัน
“ในฐานะเวทีกลางของภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาค เมทัลเล็กซ์ 2012 พร้อมยกระดับศักยภาพทางธุรกิจและอุตสาหกรรมให้ก้าวนำคู่แข่งด้วยเทคโนโลยีครบวงจรภายใต้แนวคิด “The Future of ASEAN The Plus of High Precision” โดยได้รับความร่วมมือจากแบรนด์ชั้นนำทั่วโลก ที่จะนำเทคโนโลยีระดับไฮพรีซิชั่นหรือความแม่นยำสูง มาจัดแสดงให้นักอุตสาหกรรมจากทั่วอาเซียนได้พบกับเทคโนโลยีและเครื่องจักรใหม่กว่า 4,000 รายการ จาก 50 ประเทศ และ 8 พาวิลเลียนนานาชาติ
ในครั้งนี้ เมทัลเล็กซ์ 2012 ได้จัดเวทีนัดจับคู่พันธมิตรทางธุรกิจระหว่างนักอุตสาหกรรมนานาชาติล่วงหน้ามาแล้วกว่า 6,000 รายการ อาทิ นักอุตสาหกรรมศรีลังกา อินเดีย จีน ไต้หวัน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย รวมถึงการจัดเวทีการ BUILD Marketplace เพื่อเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และผู้ซื้อคุณภาพ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นำผู้ซื้อและทีมงานจัดซื้อจากเมืองโอตะ ประเทศญี่ปุ่น กว่า 100 โรงงาน ร่วมเจรจาธุรกิจกับผู้ผลิตไทย
การสัมมนาองค์ความรู้นานาชาติ ถือได้ว่าเป็นอีกกิจกรรมหลักภายในงาน ไฮไลท์ที่สำคัญ คือ เมทัลเล็กซ์ นาโนฟอรั่ม (METALEX NANO forum) ในหัวข้อ “The New Cutting-Edge of High Precision Manufacturing Industries” สัมมนาเชิงวิเคราะห์บทบาทสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีของนาโน เพื่อเพิ่มศักยภาพการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ภาคการผลิตระดับโลก โดยมีบุคคลสำคัญด้านนาโนเทคโนโลยีโลกมาให้ข้อมูล อาทิ Dr.Mihali C. Roco ที่ปรึกษาอาวุโสด้านนาโนเทคโนโลยี มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งการพัฒนานาโนเทคโนโลยี” และ Dr. Ioan D. Marinescu ผู้อำนวยการศูนย์ PMMC (Precision Micro-Machining Center) College of Engineering, The University of Toledo”
สัมมนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ “4th Thai – Japan Die and Mold Technology Symposium” วิเคราะห์บทบาทสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทยสู่ภาคการผลิตระดับโลก ในฐานะที่ประเทศไทยถือว่าเป็นฐานการผลิตและสนับสนุนรายใหญ่ของโลก ในด้านภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ และสัมมนาเมทัลเลอร์จี ฟอรั่ม (Metallurgy Forum) ในหัวข้อ “Steel’s Reliability in Construction Applications” สัมมนาเชิงวิเคราะห์บทบาทสำคัญและปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้งานผลิตภัณฑ์เหล็กก่อสร้าง เพื่อให้สามารถแข่งขันและเตรียมพร้อมต่อการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
"การจัดสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในเชิงวิชาการ โดยการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ และภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมสู่เวทีโลกต่อไป" นายชัยณรงค์ กล่าวเพิ่มเติม
งานเมทัลเล็กซ์ 2012 มหกรรมเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีโลหะการระดับอาเซียน จัดแสดงขึ้นในวันที่ 21- 24 พฤศจิกายน 2555 นี้ ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค กรุงเทพฯ คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 66,000 ราย เงินสะพัดจากมูลค่าการซื้อขายต่อเนื่องถึงกว่า 6 พันล้านบาท