เนื้อหาวันที่ : 2012-11-21 09:15:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2284 views

สมศักดิ์ จิตติพลังศรีการทำธุรกิจ เหมือนทำสงครามแม่ทัพต้องมีวิสัยทัศน์และกลยุทธ์

ซัยโจ เด็นกิ แอร์ไทยชื่อญี่ปุ่น จนกลายเป็นผู้นำตลาดแอร์พรีเมียมมาถึงทุกวันนี้ ล้วนเกิดมาจากฝีมือ ของ สมศักดิ์ จิตติพลังศรี

ด้วยหลักคิดที่ไม่เหมือนใคร นับตั้งแต่การบุกเบิกสร้างแบรนด์ "ซัยโจ เด็นกิ" แอร์ไทยชื่อญี่ปุ่น จนกลายเป็นผู้นำตลาดแอร์พรีเมียมมาถึงทุกวันนี้ ล้วนเกิดมาจากฝีมือ ของ "สมศักดิ์ จิตติพลังศรี" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เขาย้อนอดีตถึงจุดเริ่มต้นในการก้าวสู่เส้นทางธุรกิจ โดยช่วยคุณพ่อทำงาน เมื่อปี 2518- 2519 และทำธุรกิจเต็มตัวโดยรับช่วงต่อในปี 2521 ตอนนั้นต้องบอกว่ายังใหม่มาก ยังไม่มีเครดิต การเงินยังติดขัดเหมือนติดลบ ไปซื้อวัตถุดิบมาผลิตก็ไม่มีขาย บริษัทก็ยังอยู่ในภาวะติดลบเพราะมีหนี้กองอยู่ข้างหน้าถึง 30 ล้านบาท

ตอนนั้นถึงมีเงินสดไปเปิดแอล/ซี ก็ไม่มีใครเปิดให้  นี่คือภาวะติดลบ ซึ่งมันน่ากลัวกว่าภาวะที่เป็นศูนย์ ไม่มีคนซัพพอร์ตทางการค้าแต่ผมมีสิ่งเดียวคือ ความเชื่อมั่น มี ศรัทธาต่อการมารับช่วงทำธุรกิจ และการบริหารหนี้ก้อนโตที่รอสะสางอยู่ข้างหน้าที่เขาใช้เวลาสะสางหมดภายใน 4 ปี

แม้เวลานั้นการทำการค้าขายยังแคบอยู่ โลกยังเป็นสังคมปิด และประเทศไทยก็ยังไม่มีการแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศมากมายแบบตอนนี้ และส่วนใหญ่จะแข่งกันเองระหว่างผู้ผลิตในประเทศ แต่ก็มองว่าสิ่งที่น่ากลัวมันไม่ได้อยู่ที่การแข่งขัน แต่กลับอยู่ที่ความพร้อมของตัวเราเองและทีมงานมากกว่า โดยมองว่าการแสวงหาโอกาสจากผู้อื่นจะมาจากความพร้อมจากตัวเราก่อน เพราะไม่มีเจ้าหนี้คนไหนอยากมีหนี้เพิ่ม เพราะเขาไม่ต้องการหนี้ที่เสียแล้ว ต้องมาเสียเพิ่มอีก

ซีอีโอซัยโจ เด็นกิ จึงมองว่าหลักคิดง่ายๆ คือต้องทำให้สถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้อยากจะทำธุรกิจกับเรานั่นคือเราต้องไม่ทำให้เขารู้สึกว่าถ้าปล่อยกู้ให้อีก 1 บาท แล้วหนี้เก่าก็ยังเก็บไม่ได้ เราต้องถ่ายทอดศรัทธาให้เขารับได้ ต่างคนต่างได้ประโยชน์ร่วมกัน นี่คือการสร้างศรัทธาให้เกิดจากตัวเราเองก่อน สิ่งเหล่านี้สมศักดิ์ บอกว่าคือหลักในการดำเนินธุรกิจที่ยังถือปฏิบัติอยู่จนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันแม้ว่าสถานะภาพของบริษัท ทั้งต้นทุนรวมในการผลิตที่สูงขึ้นจากค่าแรงงาน ค่าพลังงานและการแข่งขันที่มีคู่แข่งข้ามรุ่นเป็นคู่ต่อสู้ ซึ่งเทียบกับอดีตไม่ได้เลย ทำให้มองเห็นถึงความยากในการทำธุรกิจ เพราะทำแล้วกำไรลดลง จึงต้องอาศัยวอร์รูมมากขึ้น
"เดิมเราชกมวยงานวัด พอมาชกมวยสากลในเวทีโลกแล้วยังให้เราไปชกข้ามรุ่นอีก ซึ่งขนาดของไทยเล็กกว่ามาก แต่ก็ต้องสู้ให้ได้"

สมศักดิ์ เล่าว่า ด้วยความที่เขามีต้นทุนเก่าสะสมอยู่  นั่นคือการสร้างแบรนด์ "ซัยโจ เด็นกิ" ที่แข็งแกร่ง ที่มีจุดเริ่มต้นจากการจับมือกับบริษัท เด็นกิ โชจิฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการค้าเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัทซัยโจ เด็นกิฯ ขึ้นที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้เป็นสะพานเชื่อมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาสู่เมืองไทย โดยสมศักดิ์เป็นผู้ลงทุน ขณะที่ผู้บริหารที่ญี่ปุ่นทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและติดต่อกับโรงงานญี่ปุ่นที่ผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ เพื่อซื้อชิ้นส่วนต่างๆ มาประกอบเป็นเครื่องปรับอากาศในเมืองไทยอีกทอดหนึ่ง

แต่สมศักดิ์ก็ไม่ยอมปล่อยให้เวลาในการร่วมมือกับพันธมิตรญี่ปุ่นหมดไปกับการนำเข้าชิ้นส่วน เขามองไกลไปกว่านั้นโดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องโดยใช้งบด้านนี้ต่อปีเป็นเม็ดเงินมูลค่าหลายล้านบาทมายาวนาน ทำให้วันนี้ชิ้นส่วนมากกว่า 80% ในการผลิตเครื่องปรับอากาศของซัยโจ เด็นกิ ล้วนเกิดจากการผลิต การคิดค้นขึ้นมาเพื่อผลิตใช้เองทั้งสิ้น

 ซัยโจ เด็นกิ ต้องสะสมโนว์ฮาว สะสมความรู้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนามาค่อนข้างมากและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยผลิตเครื่องปรับอากาศได้ 1 หมื่นชุด/ปี เพิ่มเป็น 3 แสนชุด/ปี ผลิตตั้งแต่ขนาด 9 พันบีทียูไปถึง 6 หมื่นบีทียู กระจายอยู่ตามบ้าน โรงแรม อาคารสำนักงาน

เขาเปรียบว่าการทำธุรกิจเหมือนการทำสงคราม แม่ทัพจะต้องมีวิสัยทัศน์ มีกลยุทธ์ โดยประเมินสถานการณ์ให้สอดคล้องกับปัจจัยภายนอก จะต้องมีวิสัยทัศน์ก่อนแล้วประเมินสถานการณ์ให้ถูกทาง และต้องสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นกับตัวเราเองก่อน และจะต้องเป็นการสร้างศรัทธาที่มีคุณธรรมด้วย

"เหมือนวันนํ้ซัยโจ เด็นกิ พัฒนาเครื่องปรับอากาศที่ประหยัดไฟเพราะรู้ว่าผลเสีย ของผู้ซื้อคือต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง เราต้องพัฒนาเทคโนโลยีที่ประหยัดไฟออกมา ซึ่งเราได้รับรางวัลชนะเลิศ "อาเซียน เอ็นเนอร์ยี่ อวอร์ด 2554" จากการแข่งขัน 10 ประเทศ ชนะที่ 1 แต่จะไม่หยุดแค่นั้น เพราะตั้งเป้าว่าจะชนะในนามบริษัทต่างชาติให้ได้นํ่คือเป้าหมายต่อไปในอนาคต"

ดังนั้นกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ ซัยโจ เด็นกิ จะยึดเสมอว่าการสร้างแบรนด์เหมือนการสร้างชีวิต แบรนด์ต้องมีจิตใจมีความรู้สึก และการวางกลยุทธ์ในแต่ละช่วงก็ไม่เหมือนกัน จะเห็นว่าช่วงเริ่มต้นในการสร้างแบรนด์จะโนเนมมาก สร้างแบรนด์แบบหยิ่งๆ ไม่ให้รู้ว่าขายเครื่องปรับอากาศ ไม่มีรูปแอร์ มีแต่ยี่ห้อ "ซัยโจ เด็นกิ" พอเครื่องปรับอากาศเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เติบโตแข็งแรง การสร้างแบรนด์ก็ต้องรู้จักฟูมฟักคนอื่น เช่น น้ำท่วมเราก็ต้องเดินสายแจกถุงทรายซึ่งตอนนั้นราคาพุ่งสูงถึง 50-60 บาท/ถุง ดังนั้นในปี 2557 คุณอาจจะได้ใช้แอร์ที่ดีที่สุดในโลกโดยการสร้างแบรนด์ให้เป็นสิ่งมีชีวิต

 ส่วนกุญแจดอกสำคัญในการไปสู่ความสำเร็จของชีวิตนั้น เขาบอกว่าจะต้องเริ่มต้นจากการเป็นคนดีก่อนทั้งกับครอบครัวและกับประเทศชาติ รวมถึงการสร้างทายาทที่สามารถสืบทอดเจตนารมณ์และธุรกิจได้ และการสร้างชื่อเสียง ภาพลักษณ์ให้กับประเทศชาติ โดยทั้งหมดนี้จะต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างสมดุลระหว่างงานกับครอบครัวให้ได้ด้วย โดยให้เวลากับครอบครัวอย่างชาญฉลาด มักจะพาครอบครัวไปทำบุญ ไปโรงทาน เพื่อจะได้ซึมซับตั้งแต่เด็ก ตระหนักได้ในความคิด ดำรงชีวิตแบบไม่ ประมาท และในทุกเย็นวันเสาร์จะทานข้าวกับครอบครัวอย่างพร้อมหน้า นอกจากนั้นในเวลาที่ว่างจะนั่งอ่านหนังสือพระ และไปวัดเพื่อสวดมนต์ นั่งสมาธิ

ทั้งหมดนี้สมศักดิ์บอกว่ามันสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเหมา เจ๋อ ตุง ที่เขาชื่นชอบมากด้วย โดยเฉพาะประโยคทองที่ว่า  "เรื่องส่วนตัวใหญ่แค่ไหน ก็เป็นเรื่องเล็ก เรื่องส่วนรวมเล็กแค่ไหน ก็เป็นเรื่องใหญ่" เมื่อยึดปรัชญานี้ได้การดำเนินชีวิตทั้งครอบครัว และการบริหารธุรกิจก็จะยิ่งราบรื่นไปด้วย "สิ่งที่น่ากลัวมันไม่ได้อยู่ที่การแข่งขัน  แต่กลับอยู่ที่ความพร้อมของตัวเราเองและทีมงานมากกว่า"