ธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบอย่างรุนแรงหลังจากเปิดเสรีการค้าอาเซียนนั้นมี 11 ธุรกิจ ที่น่าห่วงและควรเร่งปรับปรุงอย่างเร่งด่วน
สำหรับธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบอย่างรุนแรงหลังจากเปิดเสรีการค้าอาเซียนนั้นมี 11 ธุรกิจ ที่น่าห่วงและควรเร่งปรับปรุงอย่างเร่งด่วนคือ
1. อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน (ยกเว้นปาล์มบริสุทธิ์) ไทยเสียเปรียบมาเลเซียและอินโดนีเซีย เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูงกว่า อย่างไรก็ดี ปัจจุบันแม้ว่าอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากชาติอาเซียนจะเหลือร้อยละ 0 แต่อนุญาตให้เฉพาะองค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว
2. ผลิตภัณฑ์กาแฟ การนำเข้าเมล็ดกาแฟคั่วยังคงอัตราภาษีร้อยละ 5 แต่สำหรับผลิตภัณฑ์กาแฟอัตราภาษีร้อยละ 0 ไทยเสียเปรียบเวียดนามในส่วนเมล็ดกาแฟ และเสียเปรียบมาเลเซียในด้านกาแฟสำเร็จรูป
3. รองเท้าและชิ้นส่วน ผู้ประกอบการของไทยส่วนใหญ่เป็น SMEs เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจรุนแรง ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น และมีผลให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีค่าแรงต่ำกว่า โดยเฉพาะพม่าซึ่งมีศักยภาพสูงหลังเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ สินค้าจากประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนซึ่งได้เปรียบด้านความพร้อมของวัตถุดิบ และค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าจะเข้ามาแข่งขันในประเทศมากขึ้น
4. เครื่องใช้สำหรับเดินทาง อุตสาหกรรมเครื่องใช้สำหรับเดินทางของไทยส่วนใหญ่เป็น SMEs เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตปรับสูงขึ้น และมีผลให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีค่าแรงต่ำกว่า นอกจากนี้ สินค้าจากประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนซึ่งได้เปรียบด้านความพร้อมของวัตถุดิบ และค่าจ้างแรงงานต่ำกว่า จะเข้ามาแข่งขันในประเทศมากขึ้น
5. เสื้อผ้าสำเร็จรูป ตลาดภายในประเทศประสบปัญหาด้านการแข่งขันกับเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่จะมีการนำเข้าจากประเทศสมาชิก เช่น เวียดนาม กัมพูชา และอินโดนีเซีย ขณะที่ต้นทุนการผลิตของไทยสูงขึ้นจากค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนการผลิตอื่น ๆ ที่ปรับขึ้นตามราคาน้ำมัน ส่งผลให้ราคาขายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs จะประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีศักยภาพสูงจะปรับตัวหันไปขยายการลงทุนในประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม)
6. เคมีภัณฑ์ ที่ปัจจุบันสินค้ากลุ่มเคมีภัณฑ์ของไทยเสียเปรียบดุลการค้าประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยมีสัดส่วนการนำเข้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ซึ่งผลจากการเปิดเสรีอาเซียน คาดว่าจะทำให้มีการนำเข้าเคมีภัณฑ์เข้ามาแข่งขันมากขึ้น โดยประเทศคู่แข่งที่สำคัญ ได้แก่สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
7. เหล็กและโลหะ เหล็กของไทยส่วนใหญ่นำเข้าจากญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้ และมีการนำเข้าจากอาเซียนเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อภาษีนำเข้าระหว่าง AEC เป็น 0% ทำให้มีการนำเข้าเหล็กจากมาเลเซียและอินโดนีเซียเข้ามาแข่งขันมากขึ้น
8. โทรคมนาคม ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ และกฎระเบียบบางอย่างยังไม่ชัดเจน จึงเป็นอุปสรรคในการลงทุน กอปรกับ การเปิดเสรีอาเซียนอนุญาตให้นักลงทุนของประเทศในกลุ่มเข้ามาถือหุ้นได้เพิ่มเป็นร้อยละ 70 จากเดิม 50 ขณะที่ศักยภาพในการเข้าไปลงทุนหรือแข่งขันในประเทศต่าง ๆ เช่น พม่า กัมพูชา ยังด้อยกว่าสิงคโปร์ซึ่งมีความได้เปรียบทางด้านบุคลากรและการสนับสนุนจากภาครัฐ
9. ขนส่งสินค้าโดยรถบรรทุก ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่เป็นSMEs มีความเสียเปรียบทางด้านเงินทุน และระบบการบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งทักษะด้านภาษาเมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ ที่มีความพร้อมในด้านเงินทุนและ Knowhow รวมทั้งบุคลากรที่มีความพร้อมมากกว่า
10. ขนส่งทางอากาศ ผู้ประกอบการไทยมีความเสียเปรียบทางด้านเงินทุน เทคโนโลยีและเครือข่าย ขณะที่สิงคโปร์ มีความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหนือประเทศในกลุ่ม AEC และ11. บริการโลจิสติกส์ การเปิดเสรีการบริการโลจิสติกส์ ทำให้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในกลุ่ม AEC สามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจถือหุ้นร้อยละ 70% ในไทยได้ อาทิ สิงคโปร์ และมาเลเซียที่มีทักษะความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการและมีเครือข่ายหรือขอบเขตการให้บริการที่กว้างขวางทั่วโลก รวมถึงมีเทคโนโลยีและการให้บริการแบบครบวงจร