เนื้อหาวันที่ : 2012-11-20 11:08:59 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1544 views

สมคิด เตือนหายนะค่าแรง! หวั่น300ทั่วไทยพ่นพิษฉุดเศรษฐกิจพังพาบ

สภาพัฒน์รับหน้าเสื่อแจงปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ยันไม่กระทบธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ยอมรับเอสเอ็มอีมีหน้ามืด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้ค่าตอบแทนให้กับแรงงานไร้ฝีมือให้สูงเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิตประจำวันว่า กิจการธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก เพราะปกติจ่ายค่าแรงในอัตราที่สูงอยู่แล้ว

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอยู่แล้ว โดยก่อนหน้าได้ปรับค่าแรง 300 บาทใน 7 จังหวัด ส่วนที่เหลืออีก 70 จังหวัดนั้น ได้มีการปรับอัตราเงินค่าแรงขึ้นมาเป็น 244 บาทต่อวันมาแล้ว ในเดือน เม.ย. 55 ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทในปี 56 จึงมีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นเพียง 23.5% เท่านั้น

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าธุรกิจขนาดกลางและขยาดย่อม (เอสเอ็มอี) คงได้รับผลกระทบ ซึ่งรัฐบาลเองก็มีมาตรการช่วยเหลืออยู่แล้ว โดยเฉพาะมาตรการทางด้านการเงินและภาษี เช่นสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิตวงเงิน 20,000 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อวงเงิน 2,400 ล้านบาท โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการใหม่วงเงิน 10,000 ล้านบาท กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน วงเงิน 42,000 บาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ย 0.1% ต่อปี และสินเชื่อส่งเสริมการจ้างงาน จากกองทุนประกันสังคมอีก 10,000 ล้านบาท”

ขณะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ “หนทางพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยให้ยั่งยืน” ในงานสัมมนาทางวิชาการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ที่จัดโดยหอการค้าไทย เมื่อ 19 พ.ย.ว่า การที่รัฐบาลโหมใช้โครงการประชานิยมแม้จะส่งผลดีในระยะสั้น แต่ก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว อย่างนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ซึ่งระยะสั้นแรงงานจะได้ประโยชน์  แต่ระยะยาวจะก่อให้เกิดปัญหาต่อภาคธุรกิจจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และแข่งขันได้ยากขึ้น

การขึ้นค่าแรง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศในทุกอุตสาหกรรมก่อให้เกิดปัญหาแน่ เพราะมูลค่าของสินค้าไม่เท่ากัน เช่นอุปกรณ์มือถือกับเสื้อผ้าที่มูลค่าต่างกัน แต่ผู้ประกอบการต้องแบกรับต้นทุนค่าแรงเท่ากัน อุตสาหกรรมที่ไม่มีการใช้เทคโนโลยีและไม่มีนวัตกรรมจะประสบปัญหาไม่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าได้ ทำให้เกิดผลกระทบ เพราะไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ เนื่องจากการแข่งขันสูง” นายสมคิดกล่าว

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังพบว่า ไทยมีการใช้งบประมาณประเทศรวมกว่า 2 ล้านล้านบาทในแต่ละปี แต่งบดังกล่าวถูกใช้กันซ้ำซ้อนในแต่ละกระทรวง ไม่เกิดการบูรณาการการใช้งบเพื่อการพัฒนาร่วมกัน ทั้งๆ ที่งานแต่ละกระทรวงเกี่ยวเนื่องกัน  จึงเกิดปัญหาการใช้งบประมาณในแต่ละปีไม่เกิดประโยชน์ในการพัฒนาระยะยาว

ทางด้านสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อนำเสนอแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าแรง 300 บาทของสมาชิก ส.อ.ท.ในวันที่ 20 พ.ย.นี้ จะเป็นการเช็กคะแนนเสียงของสมาชิก ส.อ.ท.ในคณะกรรมการบริหาร (กบ.) ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. หลังจากที่สมาชิกส่วนหนึ่งเห็นว่าประธาน ส.อ.ท.เข้าข้างรัฐมากเกินไป โดย กบ.ประกอบด้วยสมาชิก 60 คน มาจากประธาน ส.อ.ท.,รองประธาน ส.อ.ท. เลขาธิการ ส.อ.ท. ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มต่างๆ รวมทั้งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด

อย่างไรก็ตามการประชุมนัดนี้ บอร์ดกบ.ไม่มีอำนาจโหวตเพื่อปลดนายพยุงศักดิ์แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการประลองกำลังเบื้องต้นเท่านั้น ว่า ทั้ง 60 คนมีกลุ่มใดบ้างเลือกนายพยุงศักดิ์เป็นประธาน ส.อ.ท.ต่อไป หรือต้องการให้พ้นจากตำแหน่งโดยต้องดูผลการเจรจาในครั้งนี้ เพราะทั้ง 60 คนดังกล่าว ก็คือตัวแทนของสมาชิก ส.อ.ท. ที่มีอำนาจลงคะแนนโหวตในขั้นตอนสุดท้าย.