เนื้อหาวันที่ : 2007-05-23 09:07:01 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1353 views

"โฆสิต" ไม่ปลื้มสั่งทบทวนกรอบขาดดุลงบปี 51 ใหม่

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ สั่งกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณทบทวนกรอบวงเงินงบประมาณปี 2551 ใหม่ หลังสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ตัวเลขรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า

โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ สั่งกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณทบทวนกรอบวงเงินงบประมาณปี 2551 ใหม่ โดยคาดการขาดดุลงบประมาณที่เคยกำหนดไว้ 120,000 ล้านบาท อาจต้องเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ตัวเลขรายได้ไม่เป็นไปตามเป้า ขณะที่กรมสรรพากรเตรียมขอลดเป้าหมายจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2551 ลงเช่นกัน

.

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ไปทบทวนกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 ใหม่ และให้นำมาหารือกับนายโฆสิตอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 28 พฤษภาคมนี้ เนื่องจากกรอบวงเงินเดิมที่กำหนดการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 120,000 ล้านบาท อาจมากขึ้นกว่าเดิม จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การจัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น  ส่วนจะขาดดุลเท่าใดยังไม่สามารถระบุได้ เพราะต้องหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนก่อน

.

ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2551 ไว้ที่ 1.635 ล้านล้านบาท โดยมีรายรับสุทธิที่ 1.515 ล้านล้านบาท ขาดดุล 120,000 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 1.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยประมาณการเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ระดับร้อยละ 5

.

นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรจะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อลดเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2551 ลงอีก จากเดิมที่กำหนดไว้ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท เนื่องจากกรมสรรพากรต้องสูญเสียรายได้อีกประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาท จากการเพิ่มวงเงินดอกเบี้ยเงินกู้ผ่อนบ้านจาก 50,000 บาท เป็น 100,000 บาท รวมถึงปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 3 และอาจต้องปรับลดเหลือร้อยละ 1.5 ซึ่งทำให้การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะตามปกติผู้ประกอบการธุรกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลรวมกันประมาณปีละ 25,000 ล้านบาท และในสถานการณ์ปัจจุบันที่ธุรกิจไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเสียภาษีได้ เพราะมีปัญหาขาดทุน นอกจากนี้ จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงการใช้เกณฑ์การกันสำรองหนี้ตามมาตรฐานบัญชีใหม่ ฉบับที่ 39 หรือไอเอเอส 39 จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้นิติบุคคลในเดือนพฤษภาคมต่ำกว่าเป้าหมาย 15,000 ล้านบาท และหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้อีกต่อไปก็จะทำให้ทั้งปีงบประมาณ 2550 กรมสรรพากรจะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 30,000 ล้านบาท

.

นายศานิต กล่าวด้วยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สรรพากรทั่วประเทศไปตรวจสอบในทางลับพร้อมสุ่มตรวจการใช้ใบกำกับภาษีปลอมของบริษัท ห้างร้านต่าง ๆ หลังจากพบว่ามีการใช้ใบกำกับภาษีปลอมกันมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมทั้งคนที่ต้องการโกงภาษีอยู่แล้ว รวมทั้งกรมสรรพากรได้ประสานงานไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อให้เข้ามาร่วมตรวจสอบในการโกงภาษีในรูปแบบต่าง ๆ ที่พบว่ามีการพัฒนามากขึ้น.

.

ที่มา : สำนักข่าวไทย