ในไตรมาส 3 ปี 2555 เศรษฐกิจแต่ละประเทศยังคงชะลอตัว ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวยังคงกดดันให้การส่งออกของแต่ละประเทศขยายตัวลดลง อัตราการว่างงานของยุโรปยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 3 ปี 2555 อยู่ที่ 106.14 USD/Barrel ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2554 อยู่ที่ 106.90 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม(ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2555) อยู่ที่ 88.71 USD/Barrel ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นผลมาจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และความกังวลต่ออุปทานน้ำมันในสหรัฐฯ ที่โรงกลั่นยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติจากผลกระทบของเฮอร์ริเคนแซนดี้ ทำให้ไม่สามารถขนส่งน้ำมันดิบไปโรงกลั่นได้ รวมทั้งสต๊อกน้ำมันดิบลดลง
ส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 4.2 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 คือ อุปสงค์ในประเทศโดยรวมเริ่มดีขึ้นประกอบด้วยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนขยายตัวขึ้น เป็นผลมาจากการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะยานยนต์ที่เร่งตัวขึ้นตามยอดจำหน่ายรถยนต์ การลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐขยายตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลสำหรับการส่งออกสินค้าและบริการกลับมาขยายตัว ในขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ดุลการค้าและบริการขาดดุล
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 2.7ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 ที่หดตัวร้อยละ 4.3 และขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 ที่หดตัวร้อยละ 0.1 โดยเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา การใช้กำลังการผลิตกลับสู่ภาวะปกติ มีการเร่งผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและคำสั่งซื้อที่ยังตกค้างจากในช่วงอุทกภัยที่ผ่านมาโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรม Hard Disk Drive และสิ่งทอ การผลิตยังคงลดลง เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกลดลง
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะขยายตัวร้อยละ 5.5-6.0 ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.1
สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 การส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2555 แต่เริ่มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก โดยในไตรมาสที่ 3การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 121,780.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 60,083.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 61,697.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 นั้นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.27 และมูลค่าการนำเข้าลดลงร้อยละ 1.72 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ดุลการค้าขาดดุล 1,614.2ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.76 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นลดลงร้อยละ 1.70
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมีมูลค่ารวม 56,926.92 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่า 24,075.35 ล้านบาท สำหรับเดือนสิงหาคมมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 32,851.57 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือน ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 10,723.98 ล้านบาท และในเดือนสิงหาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 14,588.78 ล้านบาท โดยการลงทุนในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 630 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 321 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 3 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 362,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากในปีก่อนเกิดเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ โดยโครงการลงทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 238 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 89,200 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 197 โครงการ เป็นเงินลงทุน 191,700 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 195 โครงการ เป็นเงินลงทุน 81,200 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 129,000 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 89,600 ล้านบาท และหมวดเคมี กระดาษ และพลาสติกมีเงินลงทุน 72,700 ล้านบาท
สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 242 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 142,615 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 35 โครงการมีเงินลงทุน 6,871 ล้านบาท ประเทศฮ่องกงมีจำนวน 10 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 4,884 ล้านบาท และประเทศสหรัฐอเมริกามีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 10 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 3,774 ล้านบาท
ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา
เหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2555มีประมาณ 1,637,057 เมตริกตัน ( ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ ) ลดลง ร้อยละ 12.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาในรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้คือ ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป ลดลง ร้อยละ 30.85 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 18.38เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.43 ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.87 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 35.12 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 19.35
สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในช่วง 3 เดือนหลังของปี 2555 ในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการเร่งการผลิตเพื่อให้เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น เครื่องจักรกล บรรจุภัณฑ์ ที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอยู่ แต่สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์คาดการณ์ว่ายังคงทรงตัว แต่ยังคงมีปัญหาที่ต่อเนื่อง คือ การขยายตัวของการนำเข้าเหล็กประเภทกลุ่มที่เป็นเหล็กกล้าเจือ (Alloyed product) ที่มีลักษณะของการนำไปใช้งานที่เหมือนกับกลุ่มเหล็กกล้าคาร์บอน แต่ผู้นำเข้าระบุว่าเป็นกลุ่มเหล็กกล้าเจือจึงไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า จากที่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 5% ซึ่งช่วงนี้มีแนวโน้มการนำเข้าเหล็กประเภทนี้มากขึ้นทั้งในกลุ่มเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กลวดซึ่งส่งผลให้อุตสาหกรรมในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับเหล็กที่นำเข้าได้และส่งผลให้การผลิตในประเทศลดลงด้วย ขณะเดียวกันในภาคอสังหาริมทรัพย์พบว่าโครงการต่างๆของภาครัฐและเอกชนยังคงทรงตัวอยู่จึงมีผลทำให้แนวโน้มสถานการณ์การผลิตและความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กในกลุ่มทรงยาวทรงตัวด้วย
ยานยนต์ เมื่อพิจารณาในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2555 (ก.ค.-ก.ย.) มีปริมาณการผลิตรถยนต์648,751 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 474,628 คัน ร้อยละ 36.68 โดยเป็น การผลิตรถยนต์นั่ง 267,619 คัน รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน 370,988 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 10,144 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.69 , 26.76 และ 82.47 เนื่องจากโรงงานประกอบรถยนต์เร่งการผลิตรถยนต์เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าที่มีมากขึ้น สำหรับปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในไตรมาสที่สามของปี 2555 แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก 278,385 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 43.00 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด โดยเป็นรถยนต์นั่ง 74,554 คัน คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 26.78 และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน (รวมรถยนต์ PPV) 180,887 คัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.11 หากพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2555เปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.90 โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.40 รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.92 และ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.92 ตามลำดับ
สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่สี่ของปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ส่งผลให้ปริมาณการผลิต การจำหน่าย และการส่งออกรถยนต์ของไตรมาสที่สี่ของปี 2554 อยู่ในระดับต่ำ โดยข้อมูลจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการรถยนต์ ประมาณการว่า ในไตรมาสที่สี่ปี 2555 คาดว่าการผลิตรถยนต์ประมาณ 6.5 แสนคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ประมาณร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 45-50 เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์มีการเร่งการผลิตรถยนต์เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าภายในประเทศเป็นหลัก ประกอบกับจะสิ้นสุดระยะเวลาการจองและยื่นเอกสารการขอใช้สิทธิ์สำหรับนโยบายรถยนต์คันแรก อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากผลกระทบสภาวะเศรษฐกิจยุโรปและความผันผวนของราคาพลังงาน
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2555 อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลง ร้อยละ 12.04 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวลดลงร้อยละ 32.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงค่อนข้างสูง ในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลง ร้อยละ13.42 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และ ปรับตัวลดลงเช่นกัน ร้อยละ 1.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจาก สินค้าที่ผลิตเพื่อการส่งออกมีการปรับตัวลดลง ได้แก่ กระติกน้ำร้อนเครื่องปรับอากาศ และโทรทัศน์สี เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และ ปรับตัวลดลงร้อยละ 36.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้มีการฟื้นตัวแต่ยังไม่เต็มที่ ได้แก่ HDD และ Monolithic IC เป็นต้น
ประมาณการอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 4/2555ประมาณการว่า อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากไตรมาส 4 เป็นช่วง High Season ของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว มีฐานต่ำมากเนื่องจากผู้ผลิตประสบอุทกภัยปลายปี2554 ทำให้ตัวเลขไตรมาส 4 ปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน)
เคมีภัณฑ์ ไตรมาส 3 ปี 2555 การส่งออกเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่าลดลงร้อยละ 10.06 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และลดลงร้อยละ 12.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 1.49 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42.90เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 7.75 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสีมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.16 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.27 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.30 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แม้ว่าวิกฤติในยุโรปแม้ไม่ได้กระทบกับภาคการส่งออกของไทยโดยตรงมากนักเนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังยุโรปเพียงร้อยละ 9.5 ของการส่งออกทั้งหมด แต่หลังจากยุโรปรัดเข็มขัดและใช้จ่ายน้อยลงมาก ได้ส่งผลต่อการผลิตของคู่ค้าหลักของไทยทั้ง 6 ประเทศได้แก่ จีน ฮ่องกง สหรัฐ ญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรปและการค้าในอาเซียน ซึ่งทั้งหมดเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยโดยรวมสัดส่วนการส่งออกของทั้ง 6 กลุ่มประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 73 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย การผลิตของทุกประเทศที่ส่งสินค้าไปยังยุโรปเริ่มชะลอตัวลง ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าลดลง และส่งผลกระทบให้เห็นชัดเจนในบางรายสินค้าแล้ว เช่น ยางพารา ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องประดับ เป็นต้น ทั้งนี้การเผชิญปัญหาต่างๆ ของภาคเอกชนทำให้ใน 6 เดือนแรกของปีนี้มีโรงงานที่ต้องปิดตัวไปแล้วกว่าร้อยละ 6 ถ้าหากยืดเยื้อต่อไป อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออกต่ออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ซึ่งเป็นวัตถุดิบในกาผลิตของอุตสาหกรรมหลักภายในประเทศก็เป็นได้
พลาสติก ไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกเท่ากับ 156.02 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 8.89 เนื่องจากผลิตตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมเข้าสู่เทศกาลในช่วงปลายปี เช่น เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ที่จะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ประกอบกับความพยายามของภาครัฐเกี่ยวกับแผนบริหารจัดการน้ำ ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าดัชนีผลผลิตปรับลดลงร้อยละ 8.89 เนื่องจากเปรียบเทียบกับฐานที่ค่อนข้างสูงในปี 2554 ซึ่งมีการผลิตกระสอบพลาสติกออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เตรียมรับมือกับอุทกภัยในช่วงเดือนสิงหาคม
อุตสาหกรรมพลาสติกปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัว ตามสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับในปี 2554 มีฐานค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามการขยายตัวอาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ช่วงต้นปี เนื่องจากภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และส่งผลให้การส่งออกหดตัวลง ทั้งนี้ 9 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 เพียงร้อยละ 2.93 และธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดประมาณการ GDP จากร้อยละ 6 เป็นร้อยละ 5.7
ปิโตรเคมี การส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำมีมูลค่ารวม 72,831.51 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวโดยรวมลดลงร้อยละ 24.85 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.18 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ปี 2555 โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลายส่งออกลดลงร้อยละ 33.44 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2554 ทั้งนี้เนื่องจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยโดยเฉพาะจีนและสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการขยายตัวในระดับต่ำ ซึ่งมีสาเหตุหนึ่งจากปัญหาวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อในสหภาพยุโรป ประกอบกับการที่ประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทย เช่น ประเทศจีนและเวียดนามมีแผนการขยายกำลังการผลิตเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2556-2560 และบางแห่งเริ่มทยอยเดินเครื่องการผลิต ส่งผลให้ตลาดมีความตึงตัวและลดการพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากไทย
แนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยทั้งปี 2555 คาดว่าอัตราการขยายตัวจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554 ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และประเทศที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่นมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลง รวมถึงปัญหาหนี้ในสหภาพยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อ จึงส่งผลให้การส่งออกและนำเข้าของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไทยมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำตามไปด้วย
เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวมในไตรมาส 3 ปี 2555 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยกระดาษพิมพ์เขียนในประเทศมีแนวโน้มการเติบโตชะลอตัว เนื่องจากสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก เข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะกระดาษที่นำไปผลิตเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ วารสารต่างๆ มีความต้องการใช้ลดลง แต่ในขณะเดียวกันกระดาษลูกฟูกสำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้า มีแนวโน้มขยายตัวตามภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าโภคภัณฑ์ เครื่องสำอางค์ และยา เป็นต้น
สำหรับภาคการส่งออกในไตรมาสนี้ส่วนใหญ่ยังติดลบ เนื่องจากการผลิตยังไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำเข้าหนังสือและสิ่งพิมพ์รายใหญ่จากไทย ชะลอการนำเข้า
แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาส 4 ปี 2555คาดว่าการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษโดยรวมจะเพิ่มขึ้น ทั้งเยื่อกระดาษ และกระดาษ สำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งมีกระแสการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นฮับด้านการพิมพ์ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มวางแผนขยายธุรกิจ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติรวมถึง ผู้ประกอบการไทยยังมีความพยายามที่จะรุกเข้าไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ซึ่งตลาดสิ่งพิมพ์ยังไม่ใหญ่เท่าเมืองไทย สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษ และสิ่งพิมพ์ ประเภทภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และอื่นๆ คาดว่าจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น
เซรามิก การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2555 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ ลดลง เนื่องจาก เป็นช่วงฤดูฝนทำให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างลดลง ในขณะเดียวกันต้องแข่งขันอย่างรุนแรงกับสินค้านำเข้าจากจีนและเวียดนาม สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกไตรมาส 3 ปี 2555 ลดลง เนื่องจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ลูกถ้วยไฟฟ้าไม่ได้ก้าวกระโดดเหมือนในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 3 ปี 2555 ลดลงไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดในประเทศ
การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2555 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลขาย สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี 2555 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของตลาดอาเซียนเป็นสำคัญ ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาส 4 ปี2555 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามทิศทางตลาดในประเทศ โดยการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง จากจีน และเวียดนาม และอิฐทนไฟ จากจีนและเยอรมนี เป็นสำคัญ
ปูนซีเมนต์ ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนยังคงขยายตัวได้ และหากพิจารณาในภาพรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี2555 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้เพื่อการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายจากอุทกภัย และเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีก อีกทั้งความต้องการใช้เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมออกสู่ชานเมือง และนโยบายบ้านหลังแรก ทำให้เกิดการลงทุนในธุรกิจบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมตามเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนส่งผลให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน
แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 4 ปี 2555 คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ตามวัฏจักรของการก่อสร้าง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนรองรับเส้นทางรถไฟฟ้า และโครงข่ายคมนาคมสู่ชานเมือง
สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 การผลิตและการจำหน่ายของเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ และผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งและโครเชท์เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นด้านการส่งออกในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 3.88 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 16.19 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.86 ผ้าผืนและด้ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 เคหะสิ่งทอเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.11 เส้นใยประดิษฐ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.85
สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกในไตรมาส 4 ปี 2555 พิจารณาจากปัจจัยลบได้แก่ ราคาฝ้ายในตลาดล่วงหน้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงของการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากภาวะเศรษฐกิจในตลาดส่งออกหลักอย่างสหภาพยุโรปที่ยังไม่มีความชัดเจนในแก้ไขปัญหา และการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ปัจจัยบวก การจับจ่ายสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในช่วงปลายปีที่เป็นช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น จากปัจจัยลบและปัจจัยบวกที่กล่าวมา คาดว่าปัจจัยลบและปัจจัยบวกจะส่งผลพอๆ กัน ดังนั้นจึงคาดว่าการส่งออกในไตรมาสที่ 4 จะทรงตัว
ไม้และเครื่องเรือน การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 3 ปี 2555 อยู่ในภาวะทรงตัว ในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 3 ปี 2555 สามารถขยายตัวได้ในกลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วน และกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส3 ปี 2555 ลดลง
การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ ไตรมาส 4 ปี 2555 มีแนวโน้มลดลง จากความต้องการของตลาดในประเทศที่อยู่ในภาวะทรงตัว และการผลิตเพื่อการส่งออกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้การผลิตและจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ไม่สามารถเติบโตได้การส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2555 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจาก ตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป มีความต้องการไม้และเครื่องเรือนของไทย ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การหาตลาดใหม่ในแถบเอเชียที่มีกำลังซื้อสูง เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดียสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศในกลุ่มอาเซียน เพื่อทดแทนตลาดเดิม อาจทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ สำหรับการนำเข้าไม้และเครื่องเรือน ไตรมาส 4 ปี 2555 มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการผลิตและการส่งออกไม้และเครื่องเรือน
ยา ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 การผลิตยาในประเทศมีปริมาณ 7,124.15 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 10.90 และ 12.26 ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักเนื่องจากผู้ผลิตยาน้ำที่มีสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ซึ่งเคยได้รับคำสั่งซื้อสูง และทำการผลิตปริมาณมาก ถูกควบคุมการจำหน่ายอย่างเข้มงวด สำหรับมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในแถบอินโดจีน ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ผลิตไทยได้แสวงหาพันธมิตรทำหน้าที่เป็นตัวแทนการจำหน่ายเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่วนมูลค่าการนำเข้ายังคงขยายตัวต่อเนื่องเช่นที่ผ่านมา ทั้งยาต้นตำรับ และยาสามัญ
ไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศ รวมถึงมูลค่าการนำเข้าและส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค จะชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากผู้ผลิต รวมถึงผู้สั่งซื้อ จะบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือในปริมาณที่สูงมากในช่วงปลายปี ตลอดจนสถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลัก ได้เร่งการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในช่วงปลายปีงบประมาณ ประกอบกับผู้ซื้อยังมีสินค้าเก่าคงเหลืออยู่ โดยคาดว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นประมาณช่วงไตรมาสที่ 2 ตามวัฏจักรธุรกิจ
ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2555 การผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรม ยางและผลิตภัณฑ์ยาง เริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางล้อ ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ อย่างไรก็ตาม การส่งออกชะลอตัวลง เนื่องจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ส่งผลให้ความต้องการใช้ยางพาราเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในภาพรวมช่วงครึ่ง 9 เดือนแรก อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางยังขยายตัวได้เนื่องจากยังมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก รวมทั้งตลาดในแถบอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางในภาพรวมมากนัก
อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อ ตามการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ สำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ ถึงแม้ว่าตลาดหลักที่สำคัญ เช่น สหภาพยุโรปจะชะลอตัวลง แต่ตลาดในอาเซียนได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัว ทดแทนการนำเข้าที่ลดลงได้ รวมทั้งประเทศที่อุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม และบราซิล ยังมีความต้องการใช้ยางพาราอยู่มาก ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่จะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมมากเกินไป นอกจากนี้ กรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย แต่ประเด็นที่ต้องระวังคือ ผลของกรอบ FTA นอกจากจะช่วยผลักดันการส่งออกแล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ดัชนีผลผลิตของผลิตผลิตภัณฑ์ของรองเท้าและเครื่องหนัง ไตรมาส 3 ปี 2555 เทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 เพิ่มขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การฟอกและตกแต่งหนังฟอก เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.67 และการผลิตรองเท้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.26 เนื่องจากการส่งออกรองเท้าในช่วงปลายปีเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าจากยุโรปกลับคืนมา แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงในทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ที่ส่งผลให้คำสั่งซื้อลดลง
แนวโน้มการส่งออกรองเท้าใน ปี 2555 ทั้งปีมีแนวโน้มชะลอตัวลดลง เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว เพราะผู้ส่งออกรองเท้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและสหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ชะลอตัวและยังไม่ฟื้นตัว จึงทำให้การส่งออกรองเท้าปีนี้มีแนวโน้มลดลง ซึ่งผู้ส่งออกบางรายได้รับผลกระทบจากการที่ผู้นำเข้าอียูมีข้ออ้างในการยกเลิกคำสั่งซื้อเพราะมีสินค้าค้างในสต็อกมาก แต่สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องหนัง หากผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยช่วงปลายปี 2554 สามารถฟื้นตัวและกลับมาผลิตได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก รวมทั้งการฟื้นฟูบ้านหลังจากประสบอุทกภัยน้ำท่วม ที่ต้องใช้สินค้าต่อเนื่องจากผลิตภัณฑ์หนัง เช่น เบาะรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ในภาพรวมคาดว่าทั้งอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังจะชะลอตัวลดลง
อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 3 ปี2555 ด้านการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.25 และการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.29 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการส่งออกมีการขยายตัวสอดคล้องตามการผลิตที่เพิ่มขึ้น คือ เพิ่มขึ้นร้อยละ105.38 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการส่งออกอัญมณี เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.27เครื่องประดับแท้เพิ่มขึ้น 18.64 รวมถึงการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 242.87 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักต่อการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกในไตรมาสนี้
แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2555 ปัจจัยด้านลบ คือ วิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างชัดเจน ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปัจจัยบวก แนวโน้มราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จะส่งผลต่อการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น จากปัจจัยบวกและปัจจัยลบดังที่กล่าวมานั้น ปัจจัยบวกและปัจจัยลบจะส่งผลใกล้เคียงกัน ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าแนวโน้มการส่งออกภาพรวมในไตรมาสที่ 4 ปี2555 จะทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
อาหาร การผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 3 ปี 2555 มีปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 18.63 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบลดลง ประกอบกับต้นทุนสินค้าอาหารโดยรวม ได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบนำเข้าจากตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน แม้ว่าค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกแต่จากสถานการณ์หนี้สาธารณะของหลายประเทศในสหภาพยุโรป เริ่มส่งผลต่อเนื่องทำให้ภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซาลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารไทยโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อการส่งออกกลับชะลอตัวลง
การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 คาดว่าทิศทางการผลิต และการส่งออกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกได้ปรับเพิ่มขึ้นภายหลังเกิดภัยแล้งในสหรัฐอเมริกา ที่ผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้เพิ่มขึ้นประกอบกับการประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 3 และการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้การส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างไรก็ตาม การลดลงของวัตถุดิบในพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ และจากปัจจัยลบ เช่น ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าที่ชะลอตัว จากวิกฤตหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปที่เริ่มส่งผลกระทบไปยังตลาดอื่น ๆ ตลอดจนมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ เช่นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มมีผลบังคับใช้ โดยเฉพาะการทำฉลากระบุร่องรอยคาร์บอนที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป อาจทำให้การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยในภาพรวมปรับตัวได้ไม่มากนัก
---สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ---