ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือหวั่น ชาวบ้านรอบท่าเรือนครหลวงเตรียมโวย หลังใช้ท่าเรือขนส่งถ่านหิน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือหวั่น ชาวบ้านรอบท่าเรือนครหลวงเตรียมโวย หลังใช้ท่าเรือขนส่งถ่านหิน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อ้อนรัฐเป็นกาวใจลงพื้นที่ ทำความเข้าใจ เกรงขนส่งถ่านหิน 26 ล้านตัน/ปีสะดุด แถมปัญหาลำน้ำตื้นเขินพ่วงมาอีก แนะให้ขุดลอกแม่น้ำขยายเส้นทางเพิ่ม
นายปรีชา ประสพผล เลขาธิการสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ เปิดเผยกับ หลังศาลปกครองมีคำสั่งห้ามขนย้ายถ่านหินในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร หลังจากประชาชนในพื้นที่ต่อต้านเกิดปัญหามลพิษจากฝุ่นถ่านหิน ล่าสุดถ่านหินที่ถูกนำเข้าประเทศส่วนใหญ่ต้องย้ายมาขึ้นที่ท่าเรือนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนปัจจุบันค่อนข้างมีปัญหาจากความหนาแน่นของเรือลำเลียงถ่านหินที่จะเข้ามาเทียบท่า จากปริมาณถ่านหินที่มีมากกว่า 26 ล้านตัน/ปี
ความแออัดของท่าเรือขนส่งถ่านหิน ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการลำเลียงนานมากและยังต้องใช้เวลาเดินเรือมากขึ้น ที่สำคัญต้องเพิ่ม ระยะทางการขนส่งถ่านหินต่อด้วย รถบรรทุกไปยังจุดหรือโรงงานที่ใช้ถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิงด้วย ทำผลให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 10
นอกเหนือจากนี้ยังมีกระแสข่าวเข้ามาว่า ประชาชนในพื้นที่บริเวณรอบท่าเรือนครหลวง เตรียมที่จะร้องเรียนและต่อต้าน การขนส่งถ่านหินผ่านท่าเรือดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ากิจกรรมขนส่งถ่านหินส่ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างมาก และหากต้องระงับการขนส่งจริง ผู้ประกอบการก็จะไม่มีท่าเรือสำหรับขนส่งถ่านหิน ฉะนั้นต้องการให้หน่วยงานของภาครัฐเข้ามาช่วยประสานงานกับชุมชน ในการทำความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการขนส่งถ่านหินที่ผ่านมา ผู้ประกอบการดูแลตามที่กฎหมายกำหนด และหากประชาชนต้องการให้ดำเนินการในรายละเอียดเพิ่มเติม ผู้ประกอบการก็พร้อมที่จะดำเนินการทันที
"วันนี้ท่าเรือนครหลวงเป็นแห่งเดียวที่ขนส่งถ่านหินได้ หากถูกสั่งห้ามอีก เราก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร โดยผู้ใช้ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มโรงงานปูนซีเมนต์ โรงไฟฟ้า และโรงงานอื่น ๆ ที่ต้องใช้พลังงานค่อนข้างสูง กระจายอยู่ใน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ราชบุรี ซึ่งในบางพื้นที่อาจจะสามารถใช้ท่าเรืออื่นได้เพื่อ ลดต้นทุนขนส่ง เราจึงอยากให้ภาครัฐ เข้ามาช่วยดูแลเรื่องนี้ให้มากขึ้น"
นายปรีชากล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากปัญหาการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังมีปัญหาลำน้ำ "ตื้นเขิน" ที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ควรขุดลอกปากร่องน้ำที่เชื่อมต่อทะเล แต่ที่มีการร้องเรียนจากสมาชิกมากก็คือ บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ถัดมาคือบริเวณร่องน้ำแม่น้ำป่าสัก ช่วงที่เชื่อมจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าไปใน อ.นครหลวง กับ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา และช่วง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง
สำหรับแม่น้ำป่าสักควรมีโครงการขุดลอกร่องน้ำ ขยายเส้นทางเดินเรือ ต่อเนื่องไปจนถึง อ.เสาไห้ จ.สระบุรีได้อีก นอกจากนี้ที่ได้รับการร้องเรียนเข้ามาก็คือ สะพานนวลฉวี กับสะพานกรุงธนบุรี (ซังฮี้) ที่ต้องการให้ยกระดับสะพานขึ้น และที่สำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขคือ กฎหมายของกรมเจ้าท่า ที่ควรแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันให้มากขึ้น รวมถึงควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินมากขึ้น จะต้องมีธนาคารที่สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพราะในปัจจุบันต้นทุนการสร้างเรือเพิ่มขึ้นมาก รวมกับราคาเหล็ก เรือลำเลียงที่สร้างออกมาแต่ละลำ เมื่อคิดค่าขนส่งต่อเดือนไม่คุ้มทุน