การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าจ้างให้พนักงานเพิ่มอีกเฉลี่ย ปีละ 60,000 ล้านบาท หรือจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในภาพรวมเพิ่ม 3-6%
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า ไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจมุมมองสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันและปี 2556 ของสมาชิกสภาหอการค้าไทย จำนวน 450 ตัวอย่าง ในการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 30 ที่ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ว่า ภาคธุรกิจมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2556 จะเติบโตต่อเนื่อง และคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปีหน้าจะขยายตัวได้ประมาณ 4.1-4.5% โดยมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองค่อนข้างมาก รองลงมา คือ ปัญหาเศรษฐกิจโลกและภัยธรรมชาติ
นางเสาวณีย์ กล่าวว่า ในส่วนนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในวันที่ 1 ม.ค.2556 ผลสำรวจระบุว่าจะส่งผล กระทบต่อภาคธุรกิจในส่วนของต้นทุนที่จะปรับเพิ่มขึ้น ทำให้มีผลประกอบการขาดทุน และอาจต้องปิดโรงงาน มีการจ้างงานลดลง และปลดคนงานเพิ่มมากขึ้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และรอบใหม่ในวันที่ 1 ม.ค.2556 จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1.2-1.5 แสนล้านบาท แต่ยอมรับว่าในช่วงที่มีการขึ้นค่าแรง โดยเฉพาะปีหน้าใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ อาจทำให้มีการชะลอการจ้างงานในช่วงสั้นๆ ของผู้ประกอบการบางราย ทำให้มีแรงงานหายไปจากระบบประมาณ 1-2 แสนคน และการใช้จ่ายหายไปประมาณ 3-5 หมื่นล้านบาท กระทบต่อจีดีพีประมาณ 0.2-0.3%
นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้า ไทย กล่าวว่า ในวันที่ 19 พ.ย.2555 สภาหอการค้าฯ จะหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการเพิ่มเติมอีกครั้ง
นายฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวสรุปผลการสัมมนาว่า ได้จัดทำสรุปที่เป็นสมุดปกขาว ส่งมอบให้กับรัฐบาลเพื่อประกอบการจัดทำนโยบายต่อไป
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานส.อ.ท. เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งอยู่ระหว่างพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแก่แรงงานที่เป็นคนไทยอีก 50-80 บาท/วัน หรือเป็น 350-380 บาท/วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 เพื่อให้เกิดช่องห่างรายได้แรงงานที่เป็นคนไทยกับต่างด้าว เพื่อรักษาแรงงานไทยให้ทำงานต่อไปไม่เช่นนั้นจะถูกผู้ประกอบการรายใหญ่แย่งพนักงานโดยจูงใจให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่า ขณะเดียวกันเตรียมปรับค่าจ้างแรงงานตั้งแต่ระดับหัวหน้างานจนถึงผู้จัดการอีก 15-20% หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นให้รายละ 2,400-2,500 บาท/เดือน เพื่อให้ห่างจากค่าจ้างขั้นต่ำ
รายงานข่าวจากส.อ.ท.เปิดเผยว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าจ้างให้พนักงานเพิ่มอีกเฉลี่ย ปีละ 60,000 ล้านบาท หรือจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในภาพรวมเพิ่ม 3-6% ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตสินค้าในบางประเภทจำเป็นต้องปรับราคาเพิ่มอีก 3-6% เช่นกัน