ค่าจ้าง 300 บาทเขย่าเก้าอี้ประธาน ส.อ.ท. สมาชิกต่างจังหวัดไม่ปลื้ม ชี้ข้อเสนอต่อรองภาครัฐไร้การผลักดันช่วยลดผลกระทบให้ภาคธุรกิจ เตรียมซักฟอกในการประชุมบอร์ด ส.อ.ท วันที่ 26 พฤศจิกายนนี้
ค่าจ้าง 300 บาทเขย่าเก้าอี้ประธาน ส.อ.ท. สมาชิกต่างจังหวัดไม่ปลื้ม ชี้ข้อเสนอต่อรองภาครัฐไร้การผลักดันช่วยลดผลกระทบให้ภาคธุรกิจ เตรียมซักฟอกในการประชุมบอร์ด ส.อ.ท วันที่ 26 พฤศจิกายนนี้
ประเด็นการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2556 กำลังกลายเป็นประเด็นที่อาจทำให้นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ถูกกดดันให้พ้นจากตำแหน่งได้ หากไม่สามารถชี้แจงต่อสมาชิกได้ชัดเจนถึงการผลักดันข้อเสนอของสมาชิกที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างดังกล่าว
นายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก รองประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ส.อ.ท. วันที่ 26 พฤศจิกายนนี้ คาดว่าที่ประชุมจะมีการสอบถามความคืบหน้าจากนายพยุงศักดิ์เกี่ยวกับการผลักดันข้อเสนอของสมรชิกต่อรัฐบาลเรื่องผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ แต่หากนายพยุงศักดิ์ชี้แจงความคืบหน้าก่อนการประชุมคณะกรรมการ ส.อ.ท.ก็อาจไม่มีการซักถามเรื่องนี้ในที่ประชุม
แหล่งข่าวจาก ส.อ.ท. กล่าวว่า ที่ผ่านมาสายงานแรงงานและสายงานต่างจังหวัดของ ส.อ.ท. ผลักดันให้ภาครัฐชะลอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมาตลอด เพราะส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอี ในต่างจังหวัดมาก โดยสมาชิกบางส่วนเห็นว่าหากนายพยุงศักดิ์ไม่สามารถชี้แจงบทบาทของประธาน ส.อ.ท.ต่อเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ได้จะเสนอที่ประชุมให้นายพยุงศักดิ์ลาออกหรือขึ้นกับมติที่ประชุมว่าต้องการใหันายพยุงศักดิ์รับผิดชอบอย่างไร ซึ่งสมาชิกเห็นว่าคณะกรรมการ ส.อ.ท. เป็นผู้เลือกนายพยุงศักดิ์ ขึ้นมาเป็นประธานก็สามารถให้นายพยุงศักดิ์ ทบทวนบทบาทของตัวเองได้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในต่างจังหวัดไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท. ชุดนี้ เนื่องจากไม่สามารถเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการปรับค่าจ้างขั้นต่ำออกไปได้ โดยผู้ประกอบการในต่างจังหวัดได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำมากและต้องการให้ ส.อ.ท.ออกมาแสดงบทบาทในการดูแลผลกระทบของสมาชิก แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหาร ส.อ.ท.ไม่ได้ทำตามข้เสนอของสมาชิกทั้งหมด
"ตอนนี้เหลือเวลาประมาณ 1 เดือนเศษ ก่อนจะถึงวันปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทั่วประเทศ และอาจทำให้ข้อเสนอของภาคเอกชนที่มีไปถึงรัฐบาลหลังจากนี้ไม่ทันกาล" แหล่งข่าวกล่าวและว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดทยอยปรับขึ้นค่าจ้างไปแล้วเฉลี่ย 39.5% ส่งผลให้หลายโรงงานได้ปิดกิจการ หรือประสบปัญหาขาดทุนมากยิ่งขึ้น