อีกประมาณ 15 ปี ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย การผลิตไฟฟ้าจะหมดลง การนำเข้าก๊าซธรรมชาติแอลเอ็นจีมาใช้ผลิตไฟฟ้าแทน
นายพงษ์ดิษฐ พจนา รองผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษกกฟผ. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์วาล์วก๊าซบ้านอีต่อง จ.กาญจนบุรี ที่รับก๊าซจากประเทศพม่า เกิดปัญหาปิดตัวเอง เมื่อเช้ามืดของวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ไทยไม่สามารถรับก๊าซธรรมชาติจากพม่าในอัตรา 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ และส่งผลให้โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจากฝั่งตะวันตก กำลังผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ต้องหยุดเดินเครื่องชั่วคราว ทางกฟผ.ได้แก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วน ด้วยการเดินเครื่องน้ำมันเตาจากโรงไฟฟ้าราชบุรีทดแทน จึงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้าของประเทศ จนกระทั่งท่อก๊าซกลับมาเริ่มส่งก๊าซได้ตามปกติ และส่งจ่ายเข้าโรงไฟฟ้าก๊าซทั้งหมดได้ในช่วงบ่ายวันที่ 11 พ.ย.2555
นายพงษ์ดิษฐกล่าวว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ไม่สามารถจัดส่งก๊าซธรรมชาติสู่ระบบไฟฟ้าหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าการพึ่งพิงเชื้อเพลิงหนึ่งใดมากไป อาจทำให้เกิดความไม่มั่นคงในระบบไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันไทยใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าถึง 70% แม้ที่ผ่านมา กฟผ.จะแก้ไขสถานการณ์โดยนำน้ำมันเตาเดินเครื่องทดแทน แต่มีราคาแพงเพราะต้องนำเข้า
นอกจากนี้ อีกประมาณ 15 ปี ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเป็นปริมาณส่วนใหญ่ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะหมดลง การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาใช้ผลิตไฟฟ้าแทน จะทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงสูงขึ้นประมาณ 2 เท่า ส่งผล กระทบต่อค่าไฟฟ้าในอนาคตแน่นอน ทางเลือกที่เหมาะสมคือพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศ โดยแสวงหาเชื้อเพลิงทางเลือกอื่นทดแทนก๊าซธรรมชาติ ที่สำคัญควรเป็นเชื้อเพลิงที่มีความเสถียรต่อระบบไฟฟ้า และทำให้มีค่าไฟถูก