ขณะนี้ส่วนที่มีความคืบหน้ามากที่สุดคือ ส่วนการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ที่ตั้งใจจะเปิดดำเนินการปี 2557 เป็นพื้นที่พิเศษสนับสนุนการลงทุนภายในไทยและเมียนมาร์
โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย ที่เมียนมาร์ ซึ่ง บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ได้เข้าไปพัฒนาพื้นที่ หลังรัฐบาลไทยและพม่าลงนามความร่วมมือแล้ว ขณะนี้โครงการคืบหน้าตามแผน โดยอนันต์ อัมระปาน ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ กล่าวว่า ขณะนี้ส่วนที่มีความคืบหน้ามากที่สุด คือ ส่วนการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดเล็กที่เกิดจากการตกลงร่วมกันของรัฐบาล 2 ประเทศ ที่ตั้งใจจะเปิดเป็นพื้นที่พิเศษสนับสนุนการลงทุนภายในไทยและเมียนมาร์จะเปิดให้อุตสาหกรรมเข้าไปดำเนินการได้ปี 2557
พื้นที่ดังกล่าว เฟส 1 และเฟส 2 ขายพื้นที่เต็มหมดแล้ว แต่ละเฟสมีขนาด 1 ตารางกิโลเมตร (625 ไร่) และอยู่ระหว่างศึกษาเปิดเฟส 3 ใหญ่กว่าเดิม 8-10 ตารางกิโลเมตรเพราะเดิมคาดว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาซื้อพื้นที่บล็อกละ 10 ไร่ แต่ส่วนใหญ่ซื้อบล็อกละ 50 ไร่ โดยเป็นชาวไทยส่วนใหญ่ อุตสาหกรรมที่ลงทุนได้แก่ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับห้องเย็นประมง เพราะประมงเริ่มได้ทันที ที่ผ่านมายังไม่มีกิจการห้องเย็น การส่งสินค้าประมงไปยังไทยจึงยาก รวมทั้งยังมีอุตสาหกรรมไม้และยางพาราพื้นที่นี้ จะมีท่าเรือขนาดเล็กให้บริการส่วนระบบสาธารณูปโภคใช้ร่วมโครงการใหญ่
นอกจากนี้ จะมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงขนาด 33 เมกะวัตต์ ให้บริการด้วย เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างได้รวดเร็ว ตามแผนจะใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิงลงทุนโดยบริษัท แอลเอ็นจี ไลน์ บริษัทลูกของอิตาเลียนไทย ที่จะดูแลกิจการไฟฟ้าทั้งหมด แต่หากโครงการขยายไปถึงจุดหนึ่ง บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งจะเข้าลงทุนต่อ
สำหรับโครงการในภาพรวมมูลค่าลงทุนเฉพาะระบบสาธารณูปโภคอยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท พื้นที่โครงการ 250 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย ถนนเชื่อมโยงทวาย-บ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี 160 กิโลเมตร เป็นถนน 4 ช่องจราจร วงเงิน 5,000 ล้านบาท โครงการท่าเรือน้ำลึก ที่ ต.นาบูเล ตอนเหนือของทวายอู่ต่อเรือขนาดใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมและระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น โรงไฟฟ้า โรงบำบัดน้ำเสีย ที่พักเป็นต้น
แผนก่อสร้างแบ่งออกเป็น 3 ระยะใน 10 ปี ระยะที่ 1 ปี 2554-2558 ครอบคลุมถนนเชื่อมโยงทวาย-ชายแดนไทย 4 ช่องจราจร ด่านพรมแดนถนนเชื่อมโยงสนามบินทวายการก่อสร้างท่าเรือจะแล้วเสร็จ 50% อ่างเก็บน้ำถนนในเขตนิคมอุตสาหกรรม ระบบระบายน้ำ โรงบำบัดน้ำประปา น้ำเสียเป็นต้น
ระยะที่ 2 ปี 2556-2561 ครอบคลุมเขตนิคมอุตสาหกรรมและระบบระบายน้ำเพิ่มเติม ถนนเชื่อมโยงขยายเป็น 8 ช่องจราจร การก่อสร้างท่าเรือแล้วเสร็จ 100% สร้างศูนย์การค้าและสถานพักผ่อน ระยะที่ 3 ปี 2559-2563 ครอบคลุมถนนในเขตนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือด้านเหนือ รถไฟ สายส่งไฟฟ้า และท่อก๊าซท่อน้ำมันเชื่อมโยงประเทศไทย
การลงทุนจะเป็นหน้าที่บริษัท ทวายดีเวล๊อปเมนต์ (ดีดีซี) โดยจะเปิดบริษัทลูกขึ้นมาดูแลการลงทุนแต่ละประเภทเช่น ท่าเรือ ถนน เพื่อให้นักลงทุนจากทั่วโลกร่วมลงทุนและเป็นเจ้าของโครงการขณะนี้อยู่ระหว่างเปิดให้บริษัทต่างๆ เข้าร่วมลงทะเบียน เมื่อบริษัทลูกได้เซ็นสัญญารัฐบาลพม่าได้ การก่อสร้างจะเริ่มต้นทันที โดยบริษัท ดีดีซี จะออกไปถือหุ้นย่อยๆ ในบริษัทลูก ตอนนี้มีนักลงทุนจากญี่ปุ่น เกาหลี จีน และยุโรป สนใจ
ด้าน ชัยวัฒน์ ลิมป์วรรณธะ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ทางจังหวัดได้เร่งสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 81 (มอเตอร์เวย์บางใหญ่กาญจนบุรี) ขยายเส้นทางคมนาคมไปสู่เขตการค้าชายแดนให้กว้างขึ้น ได้แก่ เส้นทางสายกาญจนบุรี-บ้านพุน้ำร้อน และกาญจนบุรี-สังขละบุรี พัฒนาสนามบินของกองพลทหารราบที่ 9 สู่สนามบินเชิงพาณิชย์ จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ได้แก่ บริเวณการค้าชายแดนด่านพระเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี และเปิดจุดผ่านแดนถาวรบ้านพุน้ำร้อนต.บ้านเก่า
"อีก 3 ปีข้างหน้าทุกอย่างจะพร้อมหากทวายเกิด คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจจังหวัดโตขึ้นได้ 5-7%" ชัยวัฒน์กล่าว