สำนักโลจิสติกส์ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ก.อุตสาหกรรม สรุปโครงการ Backhauling ใช้ระบบไอทีสร้างเครือข่ายภาคเหนือ-อีสาน
นายเสน่ห์ นิยมไทย อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมการใช้และเชื่อมโยงระบบ Backhauling ของภาครัฐและเอกชนเพื่อลดสัดส่วนการวิ่งรถเที่ยวเปล่า เป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โดยการลดจำนวนการวิ่งรถเที่ยวเปล่า โดยนำระบบไอทีมาใช้บริหารจัดการ ผ่านการสร้างเครือข่าย เพื่อรับมือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี
ทั้งนี้ ผลสรุปการดำเนินโครงการในปีแรก มีผู้ประกอบการลงนามเอ็มโอยูเข้าร่วม 35 ราย จากภาคเหนือและภาคอีสาน นำระบบ Backhaul และระบบทีเอ็มเอส (Transport Management System) มาใช้งาน ซึ่งระบบได้ทำงานอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา โดยพบว่าเพียงเดือนแรก มีผู้ประกอบการขนส่งกว่า 70 รายเข้าร่วม เบื้องต้นมีการลงประกาศรถเที่ยวเปล่า 18 คัน และมีสินค้ามาประกาศหารถขนส่ง 10 คัน และเกิดการจับคู่ได้สำเร็จ 8 คู่ คิดเป็นระยะทางลดจำนวนรถวิ่งเที่ยวเปล่า 5,292 กิโลเมตร และเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการขนส่ง 114,000 บาท
“ผลสรุปดังกล่าว เกิดจากการใช้ระบบเพียงเดือนเดียว และมีผู้ร่วมจำนวนจำกัดเท่านั้น แต่สามารถเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการได้ 114,000 บาท ถ้าดำเนินโครงการเป็นเวลา 1 ปีมีผู้ประกอบการเข้าร่วมมากขึ้น จะเพิ่มรายได้เป็นหลักล้านบาทแน่นอน” นายเสน่ห์ กล่าว
ปัจจุบัน ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของไทยคิดเป็นประมาณ 15.2% ของ GDP โดยในต้นทุนดังกล่าว การขนส่งสินค้าทางถนน คิดเป็น 88.6% ของการขนส่งทั้งหมด ซึ่งการลดจำนวนรถเที่ยวเปล่า จะมีส่วนช่วยลดต้นทุนลงได้ ทั้งเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ การจัดการสินค้าคงคลัง การขยายโกดัง สินค้าไปถึงที่หมายเร็วขึ้น ลดระยะเวลาในการดำเนินการ
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ กล่าวว่า ต้นทุนที่สูงจากการขนส่ง ทำให้ไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขัน ดังนั้นการสร้างกลไกเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ จึงเป็นเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยผู้ประกอบการขนส่งของไทย ต้องมีมาตรฐานบริการ และการใช้เทคโนโลยีระดับสูง ต้องมีการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ
ในปีงบประมาณ 56 สำนักโลจิสติกส์ได้เตรียมเดินหน้าโครงการ backhauling ต่อเป็นปีที่ 2 โดยเตรียมงบประมาณเบื้องต้น 4 ล้านบาท สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งเชื่อมโยงข้อมูลรถขนส่งเที่ยวเปล่า ผ่านระบบ Backhauling เปิดเส้นทางภูมิภาคใหม่ เช่น ภาคตะวันออก และ ภาคใต้ สร้างเครือข่ายโลจิสติกส์อย่างน้อย 2 กลุ่ม กลุ่มละไม่น้อยกว่า 15 ราย โดยในเครือข่าย ต้องมีการใช้ระบบบริหารจัดการขนส่ง และระบบบริหารจัดการรถขนส่งเที่ยวเปล่า ซึ่งเป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และจัดฝึกอบรมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการรายเดิมและรายใหม่ที่เข้าร่วม นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายใน 3 ปีนี้ จะต้องเพิ่มผู้ใช้ระบบให้ได้ 300 ราย
“หลักการของระบบเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน ผู้ประกอบการขนส่งลงประกาศรถเที่ยวเปล่าทางเว็บไซต์ ผู้ค้าลงประกาศสินค้าที่ต้องการขนส่ง ระบบจะทำการจับคู่ที่เหมาะสมและคัดเลือกมาให้ จากนั้นสามารถติดต่อระหว่างกัน หากตัดสินใจใช้บริการ รถเที่ยวเปล่าก็ลดลง สินค้าก็จัดส่งได้” นางอนงค์ กล่าว
สำหรับการทำงานของระบบมีการทำงานผ่านระบบเว็บเบส โดยผู้ประกอบการลงทะเบียนและเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ www.thaibackhaul.org ทำให้สามารถทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว แค่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้งานได้แล้ว โดยรายละเอียดของระบบ backhaul ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลและแสดงผลให้ผู้ประกอบการ ซึ่งระบบได้พัฒนาเสร็จเรียบร้อย พร้อมเปิดรับสมัครผู้ประกอบการใหม่เข้าร่วมใช้บริการ
ระบบ backhaul เป็นการใช้งานเว็บเซอร์วิส ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตได้จากทุกแห่ง แต่ผู้ประกอบการขนส่งจะต้องมีการติดตั้งระบบบริหารจัดการขนส่ง หรือ ทีเอ็มเอส (Transport Management System) ช่วยในการจัดการระบบงาน และเก็บข้อมูลต่างๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การรับสินค้าจากลูกค้า รายละเอียดผู้ส่ง-ผู้รับ การคุมรถและพนักงานประจำรถช่วยสร้างการทำงานที่เป็นระบบ และความน่าเชื่อถือให้กับผู้ประกอบการ
โครงการในปี 55 ที่ผ่านมา ได้คัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งใน 2 เส้นทางหลัก คือ เส้นทางภาคอีสานและภาคเหนือ เนื่องจากทั้ง 2 เส้นทางนี้มีการจัดตั้งสมาคมของผู้ประกอบการขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการและดูแลกันเองในระดับที่ดี มีเครือข่ายที่เชื่อมข้อมูลถึงกันในระดับหนึ่งแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะนำระบบไอทีเข้าไปเสริมประสิทธิภาพ
สำหรับในภาคอีสาน ประกอบด้วยผู้ประกอบการ 12 ราย คือ หจก.พนาวันขนส่ง, บริษัท อินโดจีนอินเตอร์กรุ๊ป จำกัด, หจก.หิรัญทรานสปอร์ต, บริษัท มีโชคขนส่ง จำกัด, บจก.โคราชส่องแสง เอ็นเตอร์ไพรส์, หจก. ลิ้มไทเฮงขนส่ง, บริษัทร้านพระราม ลอจิสติกส์, บริษัทสิงห์ทองทรัคทรานสปอร์ต, หจก. บุญรักษาขนส่ง, หจก.ยรรยงขนส่ง, บริษัท แชมป์เปี้ยนขนส่ง จำกัด และ บจก.สหมิตรเดินรถจันทบุรี
ส่วนผู้ประกอบการในภาคเหนือและกรุงเทพ มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 23 ราย คือ บจก.แอปป้า ฟอร์เวิดเดอร์, หจก.พี.เอ.เอส. โลจิสติกส์, หจก.ส.สังวาล ทรานสปอร์ต, บจก.เจเอสเอสอาร์ อ๊อกชั่น, หจก.พิพัฒน์ เจริญยนต์, บจก.ศรีทรัพย์ ขนส่ง, บจก.ก. เกียรติชัยพัฒนาขนส่ง, หจก.กู้เกียรติขนส่ง, บจก.นายไล้ ทรานสปอร์ต (1995), บจก.ออนเนอร์ โลจิสติกส์, บจก ตะวันออกโปลีเมอร์ อุตสาหกรรม, หจก อุดรรุ่งเจริญ, บริษัท เคอรี่ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, หจก.โชคไพบูลย์, บริษัท 96 ชิปปิ้ง ขนส่ง จำกัด, บจก.ตลาดเครื่องจักรเก่า, หจก.สหกิจ นอร์เทิร์น, บจก.ทีปต์ศิริกรุ๊ป, บจก.88 ทรานสปอร์ต, บจก.รวมสี่ธนาชัยทรานสปอร์ต, หจก.เค.ที.พี่ เซอร์วิส, บจก.เพอร์เฟคเทรลเลอร์ และบจก.บี.ที.เซอร์วิส