กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งปรับลดมลพิษในและนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง คุมเข้มโรงงานทั้งจังหวัดระยอง ชูแผนงานพัฒนาระบบจัดการสิ่งแวดล้อมมาตรฐานสูง เพิ่มขีดความสามารถการกำกับและตรวจสอบ เพื่อให้การระบายมลพิษและกากของเสียจากกระบวนการผลิตลดลง คาดปลายปี 2550 เห็นผล
กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งปรับลดมลพิษในและนอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง คณะอนุกรรมการด้านเทคนิคฯ คุมเข้มโรงงานทั้งจังหวัดระยอง ชูแผนงานพัฒนาระบบจัดการสิ่งแวดล้อมมาตรฐานสูง เพิ่มขีดความสามารถการกำกับและตรวจสอบ เพื่อให้การระบายมลพิษและกากของเสียจากกระบวนการผลิตให้ลดลง คาดหวังปลายปี 2550 เห็นผล |
. |
นายดำริ สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในฐานะประธานอนุกรรมการด้านเทคนิคเพื่อกำกับดูแลและตรวจสอบการแก้ไขปัญหามลพิษของอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง ภายใต้การแต่งตั้งของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งได้พิจารณาแนวการดำเนินงานในการประชุมนัดแรกว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการด้านเทคนิคฯ ได้มอบหมายหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งปฏิบัติการตามแผนลดมลพิษของโรงงานทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ในขณะที่กระทรวงพลังงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะต้องผนวกแผนปฏิบัติการลดมลพิษของจังหวัดระยองเข้าด้วยกัน เพื่อลดความซับซ้อนและสร้างระบบการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น |
. |
พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลด้านการปรับลดมลพิษของแต่ละอุตสาหกรรมเชิงเปรียบเทียบ [Benchmark] เพื่อนำมาประเมินความเหมาะสมของการลดมลพิษในแต่ละโรงงาน เพื่อวิเคราะห์ถึงประสิทธิภาพความสามารถในการจำกัดการปล่อยมลพิษในระยะยาว โดยในเบื้องต้นจะมีการสรุปผลการจัดเตรียมข้อมูลและความชัดเจนด้านต่างๆอีกครั้งช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2550 นี้ |
. |
ทั้งนี้ ขอบข่ายการดำเนินงานคณะอนุกรรมการด้านเทคนิคฯรับหน้าที่ในการติดตามประเมินผลการปรับลดมลพิษทั้งระบบ พร้อมนำข้อสรุปรายงานต่อคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษและกำหนดการพัฒนาพื้นที่จังหวัดระยองเป็นประจำทุก 3 เดือน ซึ่งเชื่อมั่นว่าการทำงานอย่างมีแบบแผนเช่นนี้ จะทำให้แผนการปรับลดมลพิษจากผู้ประกอบการในพื้นที่ในระยะสั้นเป็นไปตามเป้าหมาย ในสาระสำคัญต่าง ๆ ดังนี้ |
. |
1.การแก้ไขปัญหาการรั่วซึมของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย(VOCs) กนอ.ได้ร่วมกับผู้ประกอบการจัดทำแผนการปรับลด VOCs โดยในปี 2550 จะปรับปรุงการรั่วซึม VOCs จากโรงงาน 13 โรง ที่มีแหล่งรั่วซึมที่มีนัยสำคัญ จำนวน 100 จุด ปัจจุบันดำเนินการแก้ไขแล้ว 55 จุด |
. |
2.การปรับลดการระบายสารมลพิษทางอากาศไนโตรเจนไดออกไซด์ [NOx] และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ [SO2] โดยจะดำเนินการปรับลดปริมาณระบายสารมลพิษ SO2 และ NOx โดยเฉลี่ย 10-20% ในภาพรวมของพื้นที่ (มี.ค.2550-มี.ค.2551) คิดจากปริมาณสูงสุดที่ระบายจริงของปีฐาน 2549 |
. |
3.การปรับลดการระบายและควบคุมคุณภาพน้ำเสียอุตสาหกรรม โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าโรงงานในพื้นที่มีการระบายสารมลพิษเป็นไปตามมาตรฐาน ร้อยละ 100 ภายใน 1 ปี (มี.ค.2550-มี.ค.2551) และลดปริมาณการใช้น้ำในภาคอุตสาหกรรม โดยระยะสั้น จะลดปริมาณการใช้น้ำ ปริมาณการระบายน้ำเสียในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 700,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และภายใน 1 ปี และระยะยาวอีก 600,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี จนถึงในปี 2554 ซึ่งล่าสุดกนอ.กับผู้ประกอบการในพื้นที่มาบตาพุดลดปริมาณการระบายน้ำเสียได้ 737,902 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนด |
. |
4. การปรับลดปริมาณขยะ ในส่วนนี้ไม่มีการกำหนดเป้าหมายในเชิงปริมาณ แต่จากการสำรวจ พบว่า ขณะนี้กนอ.ได้ร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม กำหนดลดปริมาณขยะประมาณ 460,716 ตัน ภายในเดือนมีนาคม 2551 โดยปัจจุบันลดได้ 89,525 ตัน |
. |
"การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านเทคนิคฯ เป็นอีกแนวทางในการทำงานเชิงรุก ที่ทุกหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมพร้อมที่จะร่วมมือกัน ติดตาม ตรวจสอบ และกำกับดูแลการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโรงงานอุตสาหกรรมทั้งภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และโรงงานที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง อย่างไรก็ตามการดำเนินงานจะประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายได้ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมใน จ.ระยอง ที่จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและระบบควบคุมมลพิษที่ได้มาตรฐาน ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ โดยหากโรงงานรายใดต้องการที่จะนำเข้าเครื่องจักรเพื่อใช้ในการปรับลดมลพิษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีทั้งการยกเว้นภาษีอากรนำเข้า และยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเป็นเวลา 3 ปี" นายดำริกล่าว |