จะขอย้อนกลับไปเล่าถึงรายละเอียดรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าตั้งแต่ปี 1962 ว่าภายใต้การนำของนายพล เน วิน นั้นพม่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างในการพัฒนาประเทศ
เปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
พม่าเปิดเมือง (ตอนที่ 2)
สุทธิ สุนทรานุรักษ์
นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
ก่อนอื่นต้องขอโทษท่านผู้อ่านด้วยนะครับที่หายหน้าไปหนึ่งเดือนหลังจากที่เขียนเรื่อง “พม่าเปิดเมือง” ค้างไว้เมื่อตอนก่อน ช่วงนี้ดูเหมือนว่าเหตุการณ์บ้านเมืองเราจะมีประเด็นร้อนเกี่ยวกับ “โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล” ที่นักวิชาการโดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์เกรงว่าการดำเนินโครงการนี้จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศโดยเฉพาะเรื่องของการแทรกแซงกลไกตลาดที่อาจทำให้ระบบการค้าข้าวทั้งระบบพังลงไป นักวิชาการบางท่านออกมาแสดงความเห็นในทำนองว่าเป็นนโยบายที่ “แย่ที่สุด” เท่าที่เคยมีมาเลยทีเดียว
โดยส่วนตัวของผู้เขียนแล้วคิดว่าเป็นเรื่อง “นานาจิตตัง” นะครับ เหตุผลที่เหล่านักวิชาการให้มุมมองนั้นก็น่าคิดและน่ากังวลอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะหากเราใช้ฐานคิดของนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในกลไกตลาดหรือเหล่าเสรีนิยมที่เชื่อว่ารัฐไม่ควรแทรกแซงกลไกตลาดเพราะจะทำให้การจัดสรรทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพ
ดังนั้นประเด็นเรื่องการกำหนดราคารับจำนำสูงจนเกินไปหรือไม่จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะเอาเข้าจริงแล้วเราได้เป็นผู้กำหนดราคาข้าวคนเดียวในตลาดโลกหรือที่ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Price Maker หากเราเป็น Price Taker ต่างหากในตลาดโลก ขณะที่รัฐทำตัวเป็นผู้ “ตั้งโต๊ะรับซื้อข้าว” จากชาวนาเสียเองแล้ว คำถามต่อมาก็คือภาระในการสต็อกข้าวที่เพิ่มขึ้นปริมาณมหาศาล หรือการระบายข้าวของรัฐนั้นจะทำอย่างไร ไม่นับรวมเรื่องปัญหาการสวมสิทธิ์ การประมูลข้าว การทุจริตในกระบวนการรับจำนำรวมไปถึงการไม่ได้คัดเกรดคุณภาพข้าว สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้รัฐบาลเตรียมการรับมือไว้หรือไม่ เป็นคำถามที่น่าคิดดีนะครับ
อย่างไรก็ดีหากมองเหตุผลทางฝ่ายรัฐที่ต้องการให้ “ชาวนา” ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากนโยบายการรับจำนำข้าวในราคาที่สูงขึ้นแล้วนั้นก็น่าดีใจไม่น้อยนะครับ เพราะแม้ว่าเราจะรู้ว่ามันเป็นรูปแบบหนึ่งของนโยบายประชานิยมก็ตาม แต่อย่างที่ทราบกันดีนะครับว่าอาชีพชาวนาหรือเกษตรกร คือ “กระดูกสันหลังของชาติ” บางทีการเป็นคนเมืองหรือมีจริตแบบชาวเมืองอย่างเรา ๆ นั้นอาจจะไม่เข้าใจความทุกข์ยากของเกษตรกรว่าถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไร ไม่เข้าใจว่าความยากจนการกดขี่ข่มเหงอันเนื่องมาจากกลไกของทุนนิยมโลกมันเป็นอย่างไร หรือหากพิจารณาบนฐานความคิดที่ว่าการเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกแล้วชาวนาไทยยังยากจนอยู่นั้น มันจะมีประโยชน์อะไร ประเด็นนี้ก็น่าคิดเช่นเดียวกันนะครับ
กลับมาเรื่องพม่าหรือเมียนม่าร์เพื่อนบ้านของเราต่อดีกว่าครับ “พม่าเปิดเมือง” ตอนนี้ ผู้เขียนจะขอย้อนกลับไปเล่าถึงรายละเอียดรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าตั้งแต่ปี 1962 ว่าภายใต้การนำของนายพล “เน วิน” นั้นพม่าได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างในการพัฒนาประเทศ ต่อมาภายหลังอาณาจักรของท่านนายพลเน วิน ต้องถูกสั่นคลอนหลังจากมีการลุกขึ้นสู้ของชาวพม่าทั่วประเทศในเดือนสิงหาคม ปี 1988 หรือที่รู้จักกันในชื่อ 8888 Uprising
อย่างไรก็ดีเหตุการณ์นองเลือดครั้งนั้นไม่ได้เป็นชัยชนะของประชาชนชาวพม่าอย่างแท้จริงหรอกนะครับ หากแต่เป็นการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากนายพล เน วิน ไปสู่กลุ่มนายทหารรุ่นใหม่ที่สถาปนาตัวเองในชื่อ “สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ” หรือ SLORC ซึ่งสภาแห่งนี้ได้สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 และยังทำให้กองทัพพม่านั้นยังคงมีบทบาทในฐานะผู้คุมเกมการเมืองโดยมีการส่งไม้ต่อกันในกองทัพจากนายพลอาวุโส ซอ หม่อง นายพลอาวุโส ตาน ฉ่วย นายพล ขิ่น ยุ่นต์ นายพล โซ วิน มาจนถึงนายพล เต็ง เส่ง ที่ว่ากันว่าเป็น “กอร์บาชอฟแห่งเนปิดอว์”
ห้าขุนทหารพม่าที่กุมอำนาจพม่ามาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 (จากซ้าย) นายพลอาวุโส ซอ หม่อง ผู้ให้กำเนิด SLORC /
นายพลอาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดและยังอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจทางการเมืองพม่า/
นายพล ขิ่น ยุ่นต์/ นายพลโซ วิน/ และนายพล เต็ง เส่ง
และที่จะต้องกล่าวถึงในประวัติศาสตร์การเมืองเศรษฐกิจพม่ายุคใหม่ คือ นางอองซาน ซูจี บุตรีของ นายพลอู อองซาน วีรบุรุษตลอดกาลของชาวพม่า ผู้นำในการปลดปล่อยเอกราชของพม่าจากอังกฤษ การต่อสู้ของนางซู จี ได้รับการยกย่องจากคนทั่วโลกว่าเป็นการต่อสู้ด้วยความ “อหิงสา” ตามแนวทาง “สัตยานุเคราะห์” ของท่านมหาตมะคานธี นางซูจี มีความอดทนสูงมากนะครับ โดน “กักบริเวณ” หลายครั้งแต่ก็เธอยังยืนหยัดต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวและเป็น “สัญลักษณ์”ของการเปิดประเทศพม่ายุคใหม่
สองพ่อลูกที่กลายเป็น “ตำนาน” ของการต่อสู้
นายพลอู อองซาน วีรบุรุษตลอดกาลของชาวพม่า และนางอองซาน ซูจี วีรสตรีของชาวพม่ายุคใหม่
เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้แล้วคำว่า “พม่าใหม่” หรือ ที่ผู้เขียนใช้คำว่าพม่าเปิดเมืองนั้นดูจะเป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งนะครับเพราะก้าวต่อไปของประเทศพม่านั้นน่าจับตาเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่โครงการหนึ่งซึ่งว่ากันว่าจะทำให้ทั้งพม่าและไทยรวมไปถึงประเทศต่าง ๆ ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นได้รับอานิสงค์จากโครงการขนาดใหญ่นี้ โครงการที่ว่านี้ คือ โครงการก่อสร้างและพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายหรือ “Dawei Project” ครับ โครงการท่าเรือน้ำลึกทวายนี้กำลังจะกลายเป็นแรงดึงดูดใหม่ให้นักลงทุนจากทั่วโลกมุ่งหน้ามาเยือนดินแดนแห่งอุษาคเนย์นี้ครับ
พม่าในยุครัฐบาลเผด็จการทหารเนวิน
หากย้อนกลับไปดูภูมิหลังของพม่าหลังจากได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว เราจะพบว่าพม่านั้นเริ่มค่อย ๆ ตั้งหลักเพื่อเข้าสู้เส้นทางการพัฒนาประเทศเหมือนหลายประเทศที่บอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่สองหรือได้รับเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคม
อย่างไรก็ดีพม่าเองดูเหมือนจะมีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยที่แม้ว่า “สนธิสัญญาปางโหลง” นั้นได้ให้คำมั่นสัญญากับชนกลุ่มน้อยในพม่าว่าสามารถแยกตัวเป็นอิสระออกจากพม่าได้ แต่ท้ายที่สุดข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่บรรลุผลสำเร็จและเป็นชนวนที่ทำให้มีการลอบสังหารนายพลอู อองซาน วีรบุรุษของชาวพม่า
รัฐบาลต่อมาในสมัยของนายอู นุ (U Nu) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำรัฐบาลที่มีความเคร่งครัดในพุทธศาสนาเป็นอย่างมากนั้น รัฐบาลของอูนุจึงนำเอาศาสนามาเป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศโดยถึงขนาดประกาศให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแต่เรื่องนี้ได้รับการต่อต้านจากชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่นโดยเฉพาะในรัฐคะฉิ่นที่มีผู้คนส่วนใหญ่เป็นคริสตสากนิกชน
การดำเนินนโยบายแบบสุดโต่งของอูนุนี้เอง ทำให้การดำเนินนโยบายหลายอย่างมีปัญหาและเกิดความแตกแยกกันภายในพรรคการเมือง AFPEL หรือ Anti Fascist People’s People League ซึ่งเดิมเป็นองค์กรที่มีบทบาทในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชพม่าจากอังกฤษสมัยที่ยังตกเป็นอาณานิคม
หลังจากประกาศเอกราชไปได้เพียงสามเดือนรัฐบาลของนายอูนุยังต้องเผชิญ “สงครามกลางเมือง” ที่ทำให้สถานการณ์ภายในประเทศเกิดความวุ่นวายเข้าไปอีกจนนายอูนุต้องตัดสินใจดึงเอากองทัพที่มีนายพล เน วิน (Ne Win) ซึ่งกุมอำนาจอยู่ในขณะนั้นเข้ามาควบคุมสถานการณ์
นายพลเน วิน เป็นหนึ่งในคณะผู้ปลดแอกพม่าจากลัทธิล่าอาณานิคม หรือที่เรียกว่า Thirty Comrades หรือที่ภาษาพม่าเรียกว่า “ตะขิ่น” ผู้กล้าเหล่านี้เป็นคนหนุ่มที่มีอุดมการณ์ที่อยากเห็นพม่าได้รับเอกราชซึ่งเหล่า Thirty Comrades ทั้งหลายล้วนแล้วแต่มีบทบาททางการเมืองพม่ายุคหลังได้รับเอกราชแล้ว ตะขิ่นคนสำคัญ คือ นายอู อองซาน วีรบุรุษตลอดกาลของชาวพม่า นายอูนุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของชาวพม่า และนายพลเน วิน ผู้นำเผด็จการทหารของพม่า
นายอูนุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่า ชายผู้มีศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม
(ภาพจาก www.wikipedia.org)
การที่นายอูนุดึงกองทัพเข้ามาควบคุมสถานการณ์สงครามกลางเมืองเมื่อปี 1949 นั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ “เปิดช่อง” ให้กองทัพพม่าแทรกตัวเข้ามาในกลไกการเมืองของพม่านับแต่นั้นเป็นต้นมา
แม้ว่ารัฐบาลประชาธิปไตยของนายอู นุ นั้นจะเผชิญปัญหาต่าง ๆ นานา อย่างไรก็แล้วแต่ หากมองในแง่ของหลักการแล้วพรรค AFPEL ของนายอู นุ ก็ได้รับการเลือกตั้งมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนซึ่งเป็น “ฉันทามติ” ในระบอบการปกครองที่เคารพเสียงข้างมากเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ดีปัญหาหนักอกอีกข้อที่รัฐบาลอู นุ ต้องเผชิญ คือ ปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องชดใช้ค่าปฏิมากรสงครามให้กับอังกฤษอีก
ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อสุกงอมเต็มที่แล้วจึงทำให้นายพลเน วิน ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจรัฐบาลอูนุเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1962 และเริ่มต้นปกครองพม่าแบบเผด็จการโดยคณะทหารอย่างเต็มรูปแบบ
ในฐานะที่ผู้เขียนเองสนใจประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการเมือง ผู้เขียนอดเปรียบเทียบไม่ได้นะครับกับพัฒนาการทางการเมืองระหว่างไทยกับพม่า หากมองกลุ่ม “คณะราษฎร์” เหมือนกลุ่มผู้รักชาติ “ตะขิ่น” ของชาวพม่าแล้วก็ดูเหมือนจะคล้ายคลึงกัน เพียงแต่คณะราษฎรทำการ “อภิวัตน์” เปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1932 หรือที่เรารู้จักกันดีใน “เหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475” คณะราษฎรประกอบไปด้วยหัวหน้าคณะ คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา มีมือขวาฝ่ายบุ๋นอย่าง “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” หรือ ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และมือซ้ายฝ่ายบู๊อย่าง “หลวงพิบูลสงคราม” ซึ่งภายหลังก็ คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นั่นเอง
บุคคลระดับแกนนำของคณะราษฎรได้กลายมามีบทบาทต่อการเมืองไทยในเวลาต่อมา พระยาพหลฯ ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ส่วนนายปรีดี หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นนายกรัฐมนตรีที่พยายามผลักดันประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นจริงในสยามก่อนโดน “ภัยการเมือง” จนไม่สามารถกลับมาประเทศไทยได้จนกระทั่งเสียชีวิตที่ปารีส สำหรับจอมพล ป.พิบูลสงครามแล้ว ท่านถูกขนานนามว่าเป็นผู้ที่เชื่อในลัทธิผู้นำทางทหาร เป็น Dictator อีกคนที่ประวัติศาสตร์โลกได้จารึกไว้
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนอยากเปรียบเทียบภาพของ “การแย่งชิงอำนาจ” ของผู้คนในแต่ละยุคแต่ละสมัย แต่ละสังคม เช่นเดียวกันกับพม่าในยุคที่เป็นอาณานิคมอยู่นั้นเหล่าคนหนุ่มผู้เป็นตะขิ่นต่างก็มีความฝันอยากปลดแอกชาวพม่าออกจากการถูกกดขี่ข่มเหงของเจ้าอาณานิคม แต่เมื่อได้อำนาจมาแล้วก็แย่งชิงกัน แต่ละคนประสบชะตากรรมที่แตกต่างกันไป นายพลอองซาน ถูกลอบสังหารเสียชีวิต นายอูนุ ขึ้นมาก็ต้องเผชิญปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยและความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลอีก จนกระทั่งนายพล เน วิน เพื่อนจากกลุ่มตะขิ่น ด้วยกันก็ใช้กำลังทหารยึดอำนาจและปกครองพม่ายาวนานจนได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้พม่านั้น “ถอยหลังลงคลอง”
หลังการรัฐประหารเมื่อปี 1962 นายพล เน วิน ได้ปรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศพม่ามาเป็นสังคมนิยมโดยใช้ชื่อว่า “สังคมนิยมวิถีพม่า” หรือ The Burmese Way to Socialism แนวนโยบายดังกล่าวนั้นรัฐบาลได้เข้าแทรกแซงกิจการของภาคเอกชนตั้งแต่ยึดกิจการสำคัญ ๆ ของภาคเอกชนมาเป็นของรัฐ นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 1947 ยกเลิกสิทธิพิเศษของบรรดาเจ้าฟ้าผู้ปกครองชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ นายพล เน วิน ได้จัดระเบียบการปกครองใหม่ทั้งหมด พูดง่าย ๆ ว่าทำการรื้อโครงสร้างหลาย ๆ ส่วนที่กองทัพเห็นว่าเป็นภัยคุกคามความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
การบริหารงานต่าง ๆ นั้นมีศูนย์อำนาจอยู่ที่รัฐบาลกลางเท่านั้น นายพล เน วิน ได้จัดตั้งสภาแห่งรัฐขึ้น และแน่นอนที่สุดว่ากองทัพพม่าไม่ยอมให้ชนกลุ่มน้อยทั้งหลายแยกตัวเป็นรัฐอิสระออกไป ซึ่งหากเกิดการขบถหรือสร้างความวุ่นวายก็จะใช้กำลังทหารเข้าจัดการสถานเดียว
นายพล เน วิน (General Ne Win) ในสมัยที่เรืองอำนาจ
และเป็นผู้ทำให้กองทัพพม่ากลับเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองอีกครั้ง
(ภาพจาก AFP และ http://www.chinaexpat.com/2012/04/11/the-chinese-abroad-myanmar.html/ne-win-4/)
กล่าวกันว่านโยบายรวมชาติของนายพล เน วิน นั้นทำให้เกิดความไม่สงบขึ้นทั่วประเทศ อย่างไรก็ดีการปกครองที่แข็งกร้าวและรุนแรงนั้นทำให้พม่าต้องเสริมสร้างกองทัพและแสนยานุภาพให้เข้มแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ ในบทความเกี่ยวกับเรื่องพม่าของท่านอาจารย์พรพิมล ตรีโชติ นั้น ได้กล่าวถึงการขยายตัวของกองทัพพม่าไว้น่าสนใจนะครับว่า กองทัพพม่าเติบโตขึ้นมากโดยในช่วงปี 1972 โดยจำนวนทหารนั้นเพิ่มขึ้นจากหลักพันไปสู่หลักแสนภายในระยะเวลาไม่ถึง 25 ปี จนอาจกล่าวได้ว่าการที่กองทัพพม่าต้องพัฒนาแสนยานุภาพให้เข้มแข็งนั้นปัจจัยสำคัญก็มาจากการใช้ปราบปรามชนกลุ่มน้อยทั้งหลายนั่นเอง
แสนยานุภาพของกองทัพพม่าที่เข้มแข็งในปัจจุบัน
มีรากฐานและแนวคิดมาจากอดีตโดยเฉพาะความเชื่อที่ว่ากองทัพต้องเป็นผู้ปกครองประเทศ
ซึ่งอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ในกรุงเนปิดอว์เป็นประจักษ์พยานที่บ่งบอกว่า
กองทัพพม่านั้นเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดของประเทศ
(ภาพจาก http://asiasociety.org)
อย่างไรก็ดีตลอดระยะเวลาการครองอำนาจของนายพล เน วิน นั้นได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจของชาวพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพม่านั้นเคยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก เคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยไปด้วยทรัพยากร แต่เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารเข้ามาปกครองทำให้พม่ากลายเป็นประเทศที่ยากจนติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ซึ่งมีรายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัวหรือ GDP per capita เพียง 200 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีเท่านั้น
การบริหารประเทศที่ผิดพลาดของรัฐบาลเผด็จการทหารทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศยากจนลง เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนมากขึ้น ซึ่งประเทศที่มีโครงสร้างการปกครองแบบนี้ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นย่อมเป็นเรื่องปกติ ปัญหาการใช้อำนาจเอื้ออำนวยให้กับกลุ่มธุรกิจบางประเภทย่อมเป็นเรื่องธรรมดา และการที่รัฐจะหันมาสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันในภาคเอกชนได้กลายเป็นเรื่องยาก
ดังนั้น วิถีการพัฒนาประเทศพม่าจึงจมอยู่กับการพัฒนาแสนยานุภาพของกองทัพเป็นหลักขณะที่รัฐบาลพรรค BSPP (Burmese Socialist Program Party) ของนายพลเน วิน ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมาตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีก็นำพม่าไปได้เชื่องช้าแทบจะหยุดนิ่งจนกระทั่งกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ ในช่วงทศวรรษที่ 80
นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนายพลเน วิน ที่ทำให้ชาวพม่าลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน คือ การประกาศยกเลิกธนบัตรราคา 100 75 25 35 และ 45 จั๊ตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนบัตรดังกล่าวเป็นเพียงแค่เศษกระดาษและความกดดันเหล่านี้ได้กลายเป็นชนวนให้ชาวพม่าลุกขึ้นประท้วงโดยถือฤกษ์ดีในปี 1988
การชุมนุมประท้วงกดดันรัฐบาลของนายพล เน วิน เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 1988
แกนนำการประท้วงครั้งนั้นนำโดยนักศึกษาพม่า พระสงฆ์ (ซึ่งมีบทบาทในการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าทุกครั้ง) รวมไปถึงประชาชนที่ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลได้ลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าของนายพล เน วิน ที่ปกครองพม่ามาต่อเนื่องยาวนานถึง 26 ปี
การลุกขึ้นสู้ครั้งนั้นทำให้รัฐบาลนายพล เน วิน ยอมถอยและลาออกจากทุกตำแหน่ง ก่อนจะส่งไม้ต่อให้กับ นายพล เส่ง ลวิน (Sein Lwin) ซึ่งเป็นมีชื่อเสียงในเรื่องการปราบปรามประชาชน กล่าวกันว่านายพลเส่ง ลวิน คนนี้ได้รับฉายาว่าเป็น The Butcher of Rangoon เขาได้สั่งให้ทหารล้อมปราบฆ่าประชาชนไปมากกว่า 3,000 คน ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน ก่อนที่ผู้นำนักศึกษาและประชาชนจะประท้วงและล้มรัฐบาลเส่งลวินลงในที่สุด
นายพล เส่ง ลวิน หรือ The Butcher of Rangoon
ผู้สั่งให้ทหารล้อมปราบประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่มาเรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 8888 Uprising
(ภาพจาก http://www2.irrawaddy.org)
การต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวพม่า
ช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 1988 หรือที่รู้จักกันในชื่อ 8888 Uprising
(ภาพจาก http://democracyforburma.wordpress.com)
ความวุ่นวายของพม่ายังไม่จบลงเท่านี้นะครับ หลังจากที่รัฐบาลเส่ง ลวินลงจากอำนาจแล้ว นายพล เน วินได้ส่งนาย “หม่องหม่อง” หุ่นเชิดที่เป็นนักกฎหมายในเครือข่ายของตนขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับและไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายได้ จนกระทั่งนายทหารพม่ากลุ่มหนึ่งนำโดย นายพล ซอ หม่อง (Saw Muang) อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมลุกขึ้นมาทำรัฐประหารซ้ำอีกรอบซึ่งท่านอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าเป็นการสร้าง “รัฐอาชญากรรม” หรือ State Crime โดยการระงับเหตุด้วยการรัฐประหารนี้เองที่ทำให้อำนาจการปกครองถูกผ่องถ่ายไปยังทหารกลุ่มใหม่กลุ่มนี้ที่ต่อมาได้สถาปนาตัวเองเป็น “สภาฟื้นฟูระเบียบและกฎหมายแห่งรัฐ” หรือ SLORC (State Law and Order Restoration Council)
นายพล เน วิน ในช่วงขาลงจากอำนาจ หลังเหตุการณ์ Uprising ในปี 1988
มีอมตวาทะของอดีตเผด็จการทหารคนนี้ในช่วงล้อมปราบประชาชนว่า
“If the army shoots, it has no tradition of shooting into the air. It shoots straight to kill.”
ซึ่งถ้าเป็นไทยก็คือ ถ้ากองทัพใช้อาวุธแล้ว ไม่มีธรรมเนียมที่ยิงปืนขึ้นฟ้าแต่จะยิงเพื่อฆ่าอย่างเดียว!!
หลังลงจากอำนาจแล้วนายพล เน วิน ถูกกักบริเวณในบ้านพักและเสียชีวิตในปี 2002
ด้วยวัย 92 ปี กล่าวกันว่าการตายของจอมเผด็จการผู้นี้ทางรัฐบาลเผด็จการทหารรุ่นน้องอย่าง
SLORC เองก็ไม่กล้าจะจัดพิธีศพให้สมเกียรติ มีการแจ้งข่าวการตายในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาษาพม่า
และมีคนมาเคารพศพเพียง 30 คนเท่านั้น…ปิดฉากจุดจบเผด็จการทหารคนแรกของชาวพม่า
(ข้อมูลจาก www.wikipedia.org และ http://english.people.com.cn/200212/05/eng20021205_107999.shtml
เห็นทีเรื่อง “พม่าเปิดเมือง” จะไม่จบกันแค่ตอนที่ 2 แล้วสิครับ คงต้องร่ายยาวไปต่อฉบับหน้าเพราะผู้เขียนยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้พูดถึงพม่ายุคใหม่ โดยเฉพาะบทบาทของ SLORC และการต่อสู้ของวีรสตรีชาวพม่า นางอองซาน ซูจี นอกจากนี้การกลับหลังหันของรัฐบาลเผด็จการทหารในยุคของนายพล เต็ง เส่ง นั้นก็เป็นเรื่องที่น่าติดตาม และที่ดูเหมือนจะเป็นไฮไลต์ของพม่าในวันนี้ คือ โครงการท่าเรือน้ำลึกที่ทวาย ครับ
…..แล้วพบกันใหม่ตอนหน้านะครับ…..