บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) ที่ AA-/Stable
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตลอดจนกระแสเงินสดที่แน่นอนจากสัญญาขายน้ำขั้นต่ำระยะยาว และความสม่ำเสมอของความต้องการน้ำประปา โดยที่ธุรกิจน้ำประปามีความเสี่ยงในการดำเนินงานในระดับต่ำและมีอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทมีภาระหนี้จำนวนมากและความเสี่ยงจากการมีการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เป็นลูกค้าหลักเพียงรายเดียว ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะผู้นำในการเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนและคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเอาไว้ได้ โดยที่การลงทุนในอนาคตควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบซึ่งจะต้องไม่มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและสภาพคล่องของบริษัท ทั้งนี้ การให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทแม่ที่มีฐานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่าจะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัท
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทน้ำประปาไทยก่อตั้งในปี 2543 ภายใต้การร่วมทุนระหว่าง บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เธมส์ วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อทำการประมูลสัมปทานการให้บริการน้ำประปาในพื้นที่เขตจังหวัดนครปฐมและสมุทรสาคร ปัจจุบันบริษัท ช. การช่างเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 30% ในขณะที่ บริษัท มิตซุย วอเตอร์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือ 26% บริษัทเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยกำลังการผลิตทั้งสิ้น 876,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน และให้บริการบำบัดน้ำเสียซึ่งมีกำลังการบำบัด 18,000 ลบ.ม./วัน นอกจากนี้ บริษัทยังถือหุ้นในสัดส่วน 30% ใน บริษัท ซี.เค. พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 54.8% ใน บริษัท เซาท์อีส เอเซีย เอนเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ด้วยกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 615 เมกะวัตต์
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทน้ำประปาไทยประกอบกิจการโรงผลิตน้ำประปา 3 โรง และเป็นผู้ให้บริการน้ำประปาในพื้นที่ 3 เขต คือเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาคร เขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน บริษัทให้บริการน้ำประปาแก่ กปภ. ภายใต้สัญญาซื้อขายน้ำประปาอายุ 25 ปีซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2566 และอายุ 30 ปีซึ่งจะหมดสัญญาในปี 2577 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 กปภ. มีพันธะในการรับซื้อน้ำประปาจากบริษัทในปริมาณขั้นต่ำจำนวน 648,000 ลบ.ม./วัน ทั้งนี้ สูตรการคำนวณอัตราค่าน้ำจะเป็นไปตามดัชนีราคาผู้บริโภค นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับสิทธิในการดำเนินการผลิต จำหน่าย และให้บริการน้ำประปา รวมทั้งให้บริการบำบัดน้ำเสียในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินระยะเวลา 30 ปีด้วย โดยสิทธิดังกล่าวจะหมดอายุในปี 2582 บริษัทยังคงมีความเสี่ยงจากการมี กปภ. เป็นลูกค้ารายใหญ่เพียงรายเดียวซึ่งสร้างสัดส่วนรายได้ให้แก่บริษัทถึง 97% ของรายได้รวมในปี 2554 กระนั้น สถานะความน่าเชื่อถือของ กปภ. ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจก็อยู่ในระดับที่รับได้
บริษัทน้ำประปาไทยได้ประโยชน์จากการมีความเสี่ยงจากการดำเนินงานที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหน่วยงานสาธารณูปโภคอื่น ๆ เนื่องจากการผลิตน้ำประปาใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจผลิตน้ำประปาจะใช้เงินลงทุนสูงในกรณีที่ต้องสร้างโครงข่ายระบบส่งและจ่ายน้ำประปา บริษัทยังเป็นเจ้าของท่อน้ำประธานและท่อจ่ายน้ำในพื้นที่ให้บริการบางส่วนซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้ต้องการเข้ามาเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว แหล่งน้ำที่มีเพียงพอและคุณภาพน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตน้ำประปา ทั้งนี้ แหล่งน้ำที่สำคัญในการผลิตน้ำประปาของบริษัทมาจากแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่มีปริมาณน้ำเพียงพอ แม้แหล่งน้ำแต่ละแห่งจะมีคุณภาพน้ำที่แตกต่างกัน แต่บริษัทก็สามารถนำน้ำไปผลิตเป็นน้ำประปาคุณภาพสูงได้เช่นเดียวกัน
ในปี 2554 ยอดขายน้ำประปาของบริษัทน้ำประปาไทยเพิ่มขึ้นเพียง 1.2% เมื่อเทียบกับ 10.2% ในปี 2553 ยอดการเติบโตในปี 2554 ที่ลดลงเนื่องมาจากพื้นที่ให้บริการของบริษัทถูกน้ำท่วม และโรงกรองน้ำในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินต้องปิดตัวลงในช่วงเดือนตุลาคมและเดือนพฤศจิกายน 2554 จากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ในปลายปี 2554 ประกอบกับการที่โรงกรองน้ำแห่งใหม่ของ กปภ. เริ่มจ่ายน้ำให้แก่เขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาครในเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งมีพื้นที่บางส่วนทับซ้อนกัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ยอดขายน้ำของบริษัทเพิ่มขึ้น 6.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเนื่องความต้องการใช้น้ำประปาในเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาครเพิ่มขึ้นอย่างมาก
บริษัทน้ำประปาไทยมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเนื่องจากการมีโครงสร้างสัญญาซื้อขายน้ำที่ดีกับ กปภ. อีกทั้งยังมีความต้องการน้ำที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นจาก 4,395 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 4,546 ล้านบาทในปี 2554 เนื่องจากการปรับราคาน้ำประปาตามดัชนีผู้บริโภค สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2555 บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 7.5% เป็น 2,412 ล้านบาทเนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความต้องการน้ำและราคาน้ำประปา โดยรายได้จากเขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม-สมุทรสาครมีสัดส่วน 64% ของรายได้ทั้งหมด ส่วนรายได้ที่เหลือส่วนใหญ่มาจากเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี (33%) ในขณะที่พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินมีสัดส่วนเพียง 3% ของรายได้ทั้งหมด แม้ว่าเหตุการณ์อุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 จะส่งผลให้โรงกรองน้ำที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินต้องปิดตัวลง แต่ผลกระทบก็มีไม่มากนักเนื่องจากรายได้จากโรงกรองน้ำที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินมีสัดส่วนต่ำ นอกจากนี้ ทรัพย์สินของโรงกรองน้ำดังกล่าวก็ไม่มีความเสียหาย ในขณะที่โรงกรองน้ำที่จังหวัดนครปฐมและปทุมธานีก็ยังคงสามารถดำเนินการและจ่ายน้ำได้ตามปกติในช่วงน้ำท่วม
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทน้ำประปาไทยมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 79%-81% เงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับประมาณ 2,990 ล้านบาทในปี 2553 และ 2554 และอยู่ที่ระดับ 1,700 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 เงินกู้รวมลดลงเล็กน้อยจากระดับ 11,368 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 เป็น 11,136 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 อย่างไรก็ตามเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 13,655 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 เนื่องจากการลงทุนในบริษัท ซี.เค. พาวเวอร์ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 26.1% ในปี 2553 เป็น 26.9% ในปี 2554 และอยู่ที่ระดับ 12.4% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 โดยที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจากระดับ 54.5% ณ สิ้นปี 2553 เป็น 52.2% ณ สิ้นปี 2554 และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 56.7% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 บริษัทยังคงมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจพลังงานสะอาด การใช้เงินกู้จำนวนมากในการลงทุนและการมีอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องอาจมีผลกดดันต่ออันดับเครดิตของบริษัท ทริสเรทติ้งกล่าว