เลือกตั้งสหรัฐ 2012 กับนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจ
วันที่ชาวอเมริกันรอคอยได้มาถึงแล้ววันนี้ พวกเขาจะตัดสินใจเลือกใครให้นำพาประเทศให้รอดพ้นจากภาวะย่ำแย่ทางเศรษฐกิจ และสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ ที่ไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อชาวอเมริกัน พวกเขาจะเป็นคนตัดสินใจชี้ชะตาอนาคตของชาติด้วยตนเองในวันนี้ ติดตามจากรายงานพิเศษ
ความชัดเจนของผู้ที่จะได้เป็นประธานิบดีคนต่อไปของสหรัฐเริ่มเด่นชัดขึ้นตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งตรงกับช่วงกลางวันของวันที่ 6 พฤศจิกายนของสหรัฐ หลังชาวอเมริกันที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ต่างออกไปใช้สิทธิ์กันอย่างคึกคัก อาจจะเนื่องด้วยความต้องการที่จะเป็นผู้กำหนดอนาคตของประเทศที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของชาวอเมริกันด้วยตนเองและนโนบายที่โดดเด่น
ซึ่งชี้นำให้ชาวอเมริกันเลือกผู้นำประเทศครั้งนี้ ก็น่าจะเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่มีความสัมพันธ์กัน และส่งผลต่อความเป็นอยู่ของชาวอเมริกัน ซึ่งทั้งประธานาธิบดีบารัค โอบามา จากพรรคเดโมแครต กับนายมิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลีกัน ต่างทุ่มเทความเหน็ดเหนื่อช่วงโค้งสุดท้ายหาเสียงในรัฐที่ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร หรือสวิง สเตท อย่างเข้มข้น ด้วยการชูประเด็นเศรษฐกิจ
และผลการสำรวจคะแนนนิยมช่วงโค้งสุดท้าย หลายสำนักให้ประธานาธิบดีโอบามามีคะแนนนำเหนือนายรอมนีย์ แต่คะแนนก็ไม่ห่างกันมากนัก
อาจจะกล่าวได้ว่านโยบายด้านภาษีของนายโอบามาที่มุ่งเน้นการเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีจากคนรวย โดนใจชาวอเมริกัน ซึ่งส่วนมากเป็นชนชั้นกลางลงมา ขณะที่นายรอมนีย์ต้องการลดการจัดเก็บภาษีครัวเรือนที่มีรายได้มากกว่า 250,000 ดอลลาร์ต่อปี ไปจนถึงยกเลิกภาษีรายได้จากการลงทุน ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และต้านการเก็บภาษีมรดกและประเด็นเกี่ยวกับจีน ที่กำลังแผ่อิทธิพลด้านการผลิตข้ามทวีปไปยังภูมิภาคอื่น รวมทั้งอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐก็น่าจะมีส่วนในการตัดสินใจของชาวอเมริกันว่าจะเลือกใครในศึกชิงตำแหน่งครั้งนี้ไม่น้อย โดยทั้งประธานาธิบดีโอบามากับนายรอมนีย์ต่างมีนโยบายที่แข็งกร้าวต่อจีน แต่ดูเหมือนนโยบายของนายรอมนีย์จะดุดันกว่า ตามที่นายรอมนีย์เคยประกาศไว้ว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะประกาศใช้นโยบายคว่ำบาตรต่อจีนทันที กรณีที่จีนไม่ค้าขายกับสหรัฐอย่างเป็นธรรม
นอกจากนี้ ประเด็นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็มีความสำคัญต่อผลคะแนนที่ทั้งคู่ได้รับไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศมุสลิม อาหรับ ตะวันออกกลาง หรือประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งกลุ่มประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่ทั้งประธานาธิบดีโอบามาและนายรอมนีย์ มีเป้าหมายที่อาจจะเรียกได้ว่าเหมือนกัน แต่แนวทางปฏิบัติอาจแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ แนวทางการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศมุสลิม อาหรับ ตะวันออกกลาง รวมทั้งการสร้างสันติภาพในประเทศเหล่านี้ของประธานาธิบดีโอบามา มุ่งเน้นการใช้กระบวนการด้านการทูต และมีนโยบายที่ไม่แข็งกร้าว
ขณะที่นโยบายของนายรอมนีย์ค่อนข้างแข็งกร้าวและมุ่งใช้กำลังด้านการทหารเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่และอิทธิพลของสหรัฐ และโดยเฉพาะกรณีอิหร่าน ที่แทบจะเรียกได้ว่า ไม่เคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐมาเป็นเวลาช้านาน นับตั้งแต่อิหร่านสิ้นยุคของพระเจ้าชาร์ ประธานาธิบดีโอบามาประกาศชัดเจนในทุกเวทีโลกว่า จะต้องทำให้อิหร่านปลอดนิวเคลียร์ และกรณีอิหร่านก็เชื่อมโยงไปถึงความสัมพันธ์กับอิสราเอล ที่สหรัฐเป็นพี่ใหญ่คอยให้การสนับสนุนและปกป้องตลอดมา และรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาก็เคยประกาศว่า จะอยู่เคียงข้างอิสราเอลหากถูกอิหร่านโจมตี และประเด็นนี้ก็ถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งประธานาธิบดีโอบามาและนายรอมนีย์ใช้ในการหาเสียง ซึ่งทั้งสองมีนโยบายที่ตรงกันคือ สนับสนุนอิสราเอลและต่อต้านโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม นางคริสตี้ เคนนี่ย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยกล่าวให้สัมภาษณ์สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยวานนี้ว่า สหรัฐตั้งตารอที่จะได้ทำงานร่วมกับจีน และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่ว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนต่อไปของสหรัฐ และนางคริสตี้ยังกล่าวอีกว่า ไม่ว่าผู้นำคนต่อไปของสหรัฐจะเป็นประธานาธิบดีโอบามาหรือนายรอมนีย์ ก็เชื่อว่า ทั้งสองคนมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสันติภาพในตะวันออกกลาง
ขณะที่ความสัมพันธ์กับภูมิภาคอื่น
โดยเฉพาะกลุ่มประชาคมอาเซียน รัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ประกาศการเจริญสัมพันธไมตรีกับอาเซียน และส่งเสริมการค้าระหว่างสหรัฐกับอาเซียน ซึ่งจะเห็นได้จากการเยือนภูมิภาคอาเซียนของนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ การเยือนหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียของนายลีออน พาเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ และการซ้อมรบร่วมระหว่างสหรัฐกับเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ ซึ่งบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ด้านการทหารที่ดีต่อกัน แม้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากทั้ง 2 พรรคจะไม่ได้หยิบยกประเด็นเหล่านี้ให้โดดเด่นระหว่างการรณรงค์หาเสียง แต่ก็เชื่อได้ว่า ชาวอเมริกันต้องการให้รัฐบาลชุดต่อไปคงความสัมพันธ์ที่ดีต่ออาเซียน เพื่อผลประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่าย
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่เข้มข้นท่ามกลางภัยพิบัติจากเฮอร์ริเคนแซนดี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ความเสียหายจากภัยพิบัติธรรมชาติยังคงอยู่ เพื่อที่รัฐบาลชุดต่อไปของสหรัฐจะได้แสดงฝีไม้ลายมือในการฟื้นฟูประเทศ ที่ไม่ใช่แค่เพียงจากภัยธรรมชาติ แต่ต้องทำให้คนทั้งประเทศสามารถเชิดศีรษะจากความยากลำบาก อันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจให้ได้ด้วย
ขอบคุณเนื้อหา : พรทิพย์ แสงมหาชัย เรียบเรียง / ที่มา : เว็บไซต์สำนักข่าวแห่งชาติ