เน้นพัฒนาเชื้อเพลิงทดแทนดีเซล เนื่องจากดีเซลเป็นเชื้อเพลิงทดแทนดีเซล เนื่องจากดีเซลเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีการใช้กว่า 50% ภายในประเทศ
นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า เนื่องเพราะอัตราส่วนการใช้พลังงานต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น โดยภาคการผลิตไฟฟ้าใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงกว่า 71% ในขณะที่ภาคการคมนาคมขนส่งต้องพึ่งพาน้ำมันดีเซล 45.1% ของการใช้น้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมด
ภาครัฐจึงเห็นถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อลดการพึ่งพาก๊าซฯ และน้ำมัน นำมาสู่การกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทน 25% ภายในระยะ 10 ปี (2555-2564) จากปัจจุบันที่มีการใช้พลังงานทดแทนสัดส่วน 11.2% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย จึงได้ประสานงานกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และหน่วยงานต่างๆ พัฒนาพลังงานทดแทนรูปแบบใหม่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโยมีเป้าหมายร่วมกัน 2 ด้าน คือ เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และช่วยหาพลังงานใหม่ที่เหมาะสมกับประเทศไทย
โดยการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน 4 ส่วน คือ ทดแทนไฟฟ้า ความร้อน เบนซิน และดีเซล ซึ่ง 3 ส่วนแรกเน้นการขยายและต่อยอดจากเทคโนโลยี่เดิมที่ไทยพัฒนาได้เองอยู่แล้ว แต่จะต้องส่งเสริมให้มีการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศไทยให้มากขึ้น ซึ่งหากทำได้อย่างต่อเนื่องจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนได้เป็น 17-18% ใน 10 ปีข้างหน้า แต่ที่เหลืออีก 7-8% ต้องมาจากพลังงานรูปแบบใหม่ทดแทนดีเซล เพื่อมารองรับการใช้ไบโอดีเซลให้ได้ 25 ล้านลิตรต่อวัน หรือนำไบโอดีเซลมาทดแทนดีเซลจากฟอสซิลให้ได้ 40%
ซึ่งก็ได้บทสรุปออกมาเป็น 8 เทคโนโลยีที่จะเดินหน้าวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดผลในเชิงพาณิชย์ในปี 2564 ประกอบด้วย 1.สบู่ดำ 2.สาหร่ายน้ำจืด 3.สาหร่ายน้ำเค็ม 4.FAEE หรือการนำเอทานอลมาผลิตเป็นไบโอดีเซล (Fatty Acid Ethyl Ester : FAEE) 5.ED 95 (Ethanol for Fiesel 95%) หรือ การนำเอทานอล 95% มาผสมกับสารเติมแต่ง
6.ดีโซฮอล์ (Diesohol) หรือ การใช้เอทานอล 3-5% ผสมในดีเซล 7.BHD (Bio Hydrogenated Diesel) หรือ ดีเซลชีวภาพที่ได้จากการทำปฏิกิริยากับไฮโดรเจน 8.BTL (Biomass to Liquid) หรือเชื้อเพลิงของเหลวจากชีวมวล โดยแบ่งเป้าหมายการทำงานเป็น 3 ระยะ
ประกอบด้วย ระยะที่หนึ่ง กำหนดให้ต้องทราบผลการศึกษาเทคโนโลยีเกี่ยวกับดีโซฮอล์ และ ED 95 ในปี 2557 ระยะที่สอง กำหนดให้ต้องรับทราบผลการศึกษาการพัฒนา FAEE และ BHD ในปี 2558 และระยะที่สาม กำหนดให้ต้องรับทราบผลการศึกษาถึงวัตถุดิบชนิดใหม่สำหรับการผลิตไบโอดีเซล ได้แก่ สบู่ดำ สาหร่าย และ BTL ภายในช่วงปี 2559-2560
อย่างไรก็ตาม เชื้อเพลิงใหม่ดังกล่าว แม้จะยังอยู่ในห้องทดลองและนำร่องทั้งหมด แต่เชื่อมั่นใจว่า สามารถทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้ ซึ่งขณะนี้ได้มีบริษัทน้ำมัน และหน่วยงานที่ต้องการใช้เข้ามาสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาหลายโครงการ เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมพัฒนา BHD ขณะที่บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) พัฒนา ED 95 และยังมีกลุ่มมิตรผล เข้ามาร่วมด้วย ส่วนกองทัพอากาศ ร่วมมือในการพัฒนา BTL เป็นต้น
นอกจากนี้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาสบู่ดำ และสาหร่าย เพื่อหาพันธุ์ การปลูก และเพาะเลี้ยง รวมถึงกระบวนการผลิตให้ได้น้ำมันไบโอดีเซลเพิ่มเติมจากปาล์มน้ำมัน
"การที่เน้นพัฒนาเชื้อเพลิงทดแทนดีเซล เนื่องจากดีเซลเป็นเชื้อเพลิงทดแทนดีเซล เนื่องจากดีเซลเป็นเชื้อเพลิงหลักที่มีการใช้กว่า 50% ภายในประเทศ ประกอบกับไทยมีศักยภาพจากการเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีวัตถุดิบหลากหลาย ขณะเดียวกันที่ผ่านมาการใช้เชื้อเพลิงทดแทนดีเซนของทั่วโลกยังอยู่ระหว่างการวิจัย และพัฒนา ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถก้าวตามได้ทันนานประเทศและพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศ" นายทวารัฐ กล่าว
ส่วนการพัฒนาพลังงานทดแทนในภาคความร้อนและไฟฟ้า จะเน้นไปที่การส่งเสริมให้มีการผลิตอุปกรณ์ในประเทศไทยให้ได้มากที่สุด และพัฒนาระบบกักเก็บไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ทั้งในส่วนของแสงอาทิตย์และพลังงานลม ขณะเดียวกันในส่วนของพลังงานลมนั้น จะต้องสนับสนุนให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีกังหันลมที่ผลิตได้ในภาวะที่ลมไม่แรงเช่นประเทศไทย ซึ่งขณะนี้เริ่มมีการผลิตแล้วจากผู้ประกอบการ 2 ราย
ด้านเชื้อเพลิงชีวภาพนั้นจะสนับสนุนให้มีการผลิตอุปกรณ์ในประเทศให้ได้ 100% และส่งเสริมให้มีการนำวัตถุดิบต่างๆ มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงที่หลากหลายมากขึ้นซึ่งภาครัฐต้องการเน้นให้เป็นระบบขนาดเล็ก และกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น โดยมีเกษตรกร หรือชุมชนร่วมเป็นเจ้าของสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น มากกว่าที่จะส่งเสริมให้เป็นโครงการขนาดใหญ่ของนักลงทุน ที่ทำให้เกิดแรงต่อต้านในพื้นที่
สำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งเป็นการนำของเสียมาผลิตพลังงานทดแทนนั้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการเร่งพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อให้ผลิตเป็นพลังงานทดแทนแล้ว แต่เนื่องจากมาตรฐานของเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตยังมีข้อจำกัดและขาดการต่อยอด โดยเฉพาะการนำก๊าซไบโอมีเทนที่ผลิตได้ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ทดแทนน้ำมัน ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ที่เรียกว่า เทคโนโลยี CBG (Compressed Biogas) ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีอนาคตมาก เพราะนอกจากจะช่วยลดการพึ่งพาปิโตรเลียม แล้วยังสามารถผลิตเป็นเอ็นจีวีรองรับการใช้ในพื้นที่ห่างไกลแนวท่อก๊าซธรรมชาติได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ภาครัฐจะต้องวางรูปแบบการสนับสนุนในเชิงพาณิชย์ให้ชัดเจนต่อไป เนื่องจากในกระบวนการผลิตเป็นก๊าซชีวภาพนั้น ผู้ประกอบการที่มีวัตถุดิบ เช่น ฟาร์มปศุสัตว์ โรงงานแป้งมัน หรือโรงงานผลิตปาล์มน้ำมัน สามารถนำไปผลิตได้ทั้งไฟฟ้าและใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ ดังนั้นจึงต้องหาข้อมูลต้นทุนให้ชัดเจนก่อนที่จะวางกรอบการสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรับซื้อ และนำไปใช้อย่างครบวงจร
นอกเหนือจากนี้ ยังมองไปถึงการพัฒนาพลังงานรูปแบบใหม่ๆ อื่นด้วย อาทิ พลังงานจากทะเล พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานไฮโดรเจน ระบบสะสมพลังงาน เซลล์เชื้อเพลิงและยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น แต่จะต้องศึกษาศักยภาพ และความเหมาะสมเพิ่มเติม เพื่อรองรับการผลิตและการใช้ในระยะยาว ก็เพื่อรองรับแนวโน้มการพัฒนาพลังงานของโลก ที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่โดยเฉพาะ ไฮโดรเจน เนื่องจากเป็นพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และผลิตได้จากหลายแหล่ง
ขณะที่พลังความร้อนใต้พิภพ นั้น ได้เคยมีการศึกษาในอดีตพบว่า ไทยมีแหล่งที่มีศักยภาพกว่า 100 จุด กระจายในทุกภาคของประเทศ แต่ยังขาดการวางแผนพัฒนาและนำไปใช้ ทำให้ปัจจุบันมีการผลิตขนาดเล็กเพียง 2 จุด ที่แหล่งน้ำพุร้อนฝาง จ.เชียงใหม่ สำหรับใช้อบแห้งและห้องเย็น สำหรับเก็บรักษาพืชผลทางการเกษตร
ส่วนพลังงานจากทะเล ได้เคยมีการศึกษาในอดีตเช่นกัน และพบว่า ทะเลบริเวณอ่าวไทยตั้งแต่เกาะสมุย ลงไป บริเวณใกล้ชายฝั่งจะมีความสูงของคลื่น 0.1-0.7 เมตร และคาบคลื่น 2-4 วินาที อย่างไรก็ตามแหล่งพลังงานเหล่านี้ แม้ไทยจะมีศักยภาพไม่มากนัก แต่จำเป็นต้องมีการศึกษา ติดตามศักยภาพ และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
นายทวารัฐ กล่าวต่อว่า หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนระยะ 10 ปี เชื่อว่าจะทำให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ 134,361 ล้านบาท และสามารถลดการนำเข้าน้ำมันได้เป็นมูลค่า 574,000 ล้านบาท รวมถึงลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 76 ล้านตันภายในปี 2564
ขณะเดียวกันยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชนด้วย โดยประเมินว่าเงินลงทุน 5,768 ล้านบาทใน 196 โครงการที่จะดำเนินการระหว่างปี 2555-2559 ของภาครัฐนั้น จะช่วยเพิ่มเงินลงทุนในภาคเอกชนได้ถึง 4 เท่า คิดเป็นเงิน 23,071 ล้านบาท หรือ 0.16% ของจีดีพี ในปี 2559 และ นอกจากนี้ยังจะช่วยส่งเสริมบุคลากรด้านการวิจัย และสนับสนุนให้มีการนำงานวิจัยมาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ในอนาคตอีกด้วย