เนื้อหาวันที่ : 2012-11-05 14:42:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2823 views

ไทยเร่งพัฒนาไบโอดีเซลปี 2557 เล็งขายเชิงพาณิชย์

ปัจจุบันพลังงานกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่นับวันจะมีผลกระทบรุนแรงมากขึ้นทุกที

ปัจจุบันพลังงานกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่นับวันจะมีผลกระทบรุนแรงมากขึ้นทุกที เพราะนอกจากประโยชน์ที่ได้จากการใช้พลังงานแล้ว ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน พลังงานทดแทนจึงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ มีการศึกษา ค้นคว้า สำรวจ ทดลองในการนำพลังงานชีวภาพในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้แทนพลังงานที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิล

และประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งที่ได้มีการศึกษา ค้นคว้า ทดลองพลังงานทดแทนในหลายรูปแบบ ซึ่งล่าสุด โครงการนวัตกรรมไบโอดีเซลทางเลือกใหม่จากพืชที่ไม่ใช่อาหารจากเมล็ดสบู่ดำ ก็ได้กลายเป็นทางเลือกที่มีศักยภาพสูงในการใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ เมื่อทีมวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทค โนโลยีแห่งประเทศไทย และกระทรวงพลังงาน ได้มีความร่วมมือทางวิชาการ   กับสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ เอไอเอสที ประสบผลสำเร็จในการผลิตไบโอดีเซลจากสบู่ดำ ด้วยเทคโนโลยี “Partial Hydrogenation”

โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอน Pilot Plan คือ การนำน้ำมันไบโอดีเซลคุณภาพสูงที่ได้จากสบู่ดำมาใช้ทดสอบกับรถยนต์ระยะทาง 5 หมื่นกิโลเมตร ซึ่งได้รับการสนับสนุนน้ำมันดีเซลที่จะนำมาผสมจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เบื้องต้น 1 หมื่นลิตร และได้รถปิกอัพ อีซูซุดีแมคซ์ สเปซแค็บ และเครื่องยนต์อีซูซุซูเปอร์คอมมอนเรล 2500 ดีดีไอ จากบริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด มาใช้ทดสอบประสิทธิภาพของไบโอดีเซลทางเลือกใหม่

นายปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผู้อำนวยการโครงการนวัตกรรมไบโอดีเซลทางเลือกใหม่จากพืชที่ไม่ใช่อาหาร กล่าวว่า จะใช้เวลาทดสอบ 3 เดือน ซึ่งไทยจะเป็นประเทศแรกในโลกที่มีรถวิ่งทดสอบน้ำมันไบโอดีเซลจากสบู่ดำในขณะนี้  โดยจะนำไบโอดีเซลจากสบู่ดำนำมาผสมน้ำมันดีเซลได้ในสัดส่วนมากกว่า 5%(บี 5) และภายหลังการทดสอบประสิทธิภาพแล้ว ก็จะมีการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ประมาณปลายปี 2557

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากสบู่ดำยังมีข้อจำกัดเรื่องของห่วงโซ่การผลิต (supply chain) และข้อมูลยานยนต์โดยเฉพาะส่วนของซัพพลายเชน จะต้องต่อยอดพัฒนาสายพันธุ์สบู่ดำที่เหมาะสมให้สามารถมีผลสุกและเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน เนื่องจากปัจจุบันสบู่ดำมีปัญหาผลสุกไม่พร้อมกัน จึงต้องเก็บเกี่ยวหลายรอบ มีผลให้ต้นทุนการเก็บเกี่ยวเพิ่มสูงขึ้น

ฉะนั้นยังต้องทำการปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อให้ได้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน ขณะเดียวกันก็ควรจะมีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนบ้านจัดหาพื้นที่ปลูกพืชสบู่ดำมากขึ้น เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ละ 500 กิโลกรัมยังค่อนข้างต่ำ ซึ่งพื้นที่ที่เหมาะสมในกาเพาะปลูก เช่น ลาว พม่า กัมพูชา