อาร์บีเอส ชี้ความต้องการภายในประเทศที่แข็งแกร่ง เป็นปัจจัยสนับสนุน การเติบโตของเศรษฐกิจไทย
ธนาคารเดอะรอยัลแบงก์อ๊อฟสกอตแลนด์ หรืออาร์บีเอส ระบุว่า ความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในภาวะที่ต้องเผชิญกับปัจจัยภายนอกจากทั่วโลก
ไทยมีอัตราการส่งออกต่อจีดีพี อยู่ที่ร้อยละ 70 สูงเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาค รองจากสิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย ตามลำดับ ทำให้ไทยมีโอกาสเผชิญกับภาวะวิกฤติของเศรษฐกิจโลก ดังเช่นในปี 2551 ที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดจากวิกฤติการค้าโลก
อย่างไรก็ตาม ความต้องการในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันจะทำให้ไทยสามารถรับมือกับภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจโลกได้ในอีกหลายไตรมาส อีกทั้งการลงทุนโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศยังคงมีความแข็งแกร่งสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นฟูหลังภาวะน้ำท่วม อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ คือ ความต้องการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังปัญหาทางการเมืองคลี่คลาย
การบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการการกระตุ้นโดยมาตรการทางภาษี และยังมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากจะมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำในต้นปี 2556 จากวิกฤติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซึ่งทำให้การลงทุนในภาครัฐชะลอตัวลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะมีการใช้จ่ายสาธาณะที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ภายหลังการลงทุนก่อสร้างซ่อมแซมหลังภาวะน้ำท่วมลดน้อยลง ดังนั้น อาร์บีเอสจึงคาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 5.7 ในปี 2555 และร้อยละ 5 ในปี 2556
จากการที่ภาวะเศรษฐกิจของไทยโดยรวมยังคงมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง ทำให้การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวานนี้ (17 ตุลาคม 2555) จึงเป็นเรื่องที่สร้าง ความประหลาดใจ เนื่องจากมีนโยบายที่แตกต่างจากประเทศอื่นที่มีสภาพคล้ายคลึงกัน เช่น มาเลเซียและสิงคโปร์ที่มีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีเหมือนกัน แต่มีนโยบายไม่ใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน
อาร์บีเอสคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงจะยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในแนวลบตลอดปี 2556 โดยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.2 ทั้งยังคาดว่า จะมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยอีกเพียงเล็กน้อยจนถึงกลางปี 2556 ในกรณีที่ความต้องการในประเทศลดลง
เมื่อพิจารณาระบบเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่มีเสถียรภาพเหมือนกับประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน อาร์บีเอสคาดว่า เงินบาทไทยจะยังคงแข็งค่าอยู่ในระดับที่ 30 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐจนถึงปลายปี 2555
ในระยะกลาง ภาครัฐจะต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น หากต้องการให้ประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับเดียวกับประเทศอื่นที่เป็นเสือเศรษฐกิจในเอเชีย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามมาตรฐานโลก จะพบว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักมาจากอัตราการลงทุนต่ำ
ปัจจุบันไทยมียอดหนี้สาธารณะคิดเป็นร้อยละ 44 ของจีดีพี ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ภาครัฐจะต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ไทยยังมีสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีที่ต่ำกว่ามาตรฐานโดยเฉลี่ยของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ดังนั้น การลงทุนของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้มีการการลงทุนจากภาคเอกชนสูงขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพการเติบโตต่อไป