"โฆษิต" ตรวจงาน ก.พลังงาน คาดปี 50 กิจการพลังงานสร้างรายได้สู่ภาครัฐไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท มั่นใจภาพรวม แผนการลงทุนในโครงการด้านพลังงาน ในอีก 4 ปีข้างหน้า ช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศ และเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน ระบุพอใจ ผลงาน 6 เดือนกระทรวงพลังงาน พร้อมเร่งสานต่องานที่เหลือโดยเร็ว
"โฆษิต" ตรวจงาน ก.พลังงาน คาดปี 50 กิจการพลังงานสร้างรายได้สู่ภาครัฐไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท มั่นใจภาพรวม แผนการลงทุนในโครงการด้านพลังงาน ในอีก 4 ปีข้างหน้า ช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศ และเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน ระบุพอใจ ผลงาน 6 เดือนกระทรวงพลังงาน พร้อมเร่งสานต่องานที่เหลือโดยเร็ว |
. |
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ นายโฆษิต ปั้มเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในโอกาสที่เดินทางมาตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายงานด้านพลังงาน ที่กระทรวงพลังงาน ว่า ได้รายงานให้ทราบถึง การจัดเก็บรายได้ทุกประเภทจากกิจการพลังงาน ในปี 2549 ที่ผ่านมา สร้างรายได้ทางตรงเข้าสู่รัฐกว่า 340,000 ล้านบาท ซึ่งมาจาก การเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครือ ค่าธรรมเนียมกิจการไฟฟ้าสัมปทาน และการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่จัดโดยกรมธุรกิจพลังงาน เงินส่งเข้าคลังจาก 3 การไฟฟ้า ภาษีและกองทุนต่างๆ จากน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น โดยคาดว่า ในปี 2550 นี้ ภาครัฐก็จะมีรายได้รวม จากกิจการพลังงานไม่ต่ำกว่า 3.5 แสนล้านบาท |
. |
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน ได้รายงานเพิ่มเติม ถึงการลงทุนโครงการด้านพลังงาน ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ระหว่างปี 2550 - 2554 โดยจะมีการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ได้แก่ การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ของบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม มูลค่าประมาณกว่า 6 แสนล้านบาท การลงทุนในกิจการด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและปิโตรเคมีของ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) มูลค่าประมาณ 5.6 แสนล้านบาท และบริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) มูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท และการลงทุนในแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP 2007 มูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท |
. |
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวเพิ่มว่า รองนายกรัฐมนตรี พอใจในภาพรวมของผลกระทรวงพลังงานในรอบ 6 เดือน และได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเร่งดำเนินงานตามนโยบายต่อไปในช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาล ทั้งด้าน การส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล และการใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ หรือเอ็นจีวีในรถยนต์ให้เพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนในช่วงภาวะราคาน้ำมันแพง และการสานต่อโครงการสำคัญ ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ การเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP) ขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เป็นต้น |