เนื้อหาวันที่ : 2007-05-17 11:25:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5759 views

อยู่รอดปลอดภัยเมื่อใช้สารเคมี ตอนที่ 2

มาตรการป้องกันอันตรายจากสารเคมี การปฐมพยาบาล แผนรับเหตุฉุกเฉิน การกำจัดและการจัดเก็บ และเรื่องการขนส่ง ซึ่งทำให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยเมื่อใช้สารเคมีได้อย่างครบถ้วนทุกกระบวนความ โดยไม่ต้องรอให้ใครมาทำรายการ Reality Show เพื่อสาธิตวิธีการจัดการกับสารเคมีอันตรายแต่อย่างใด และงานแบบนี้ถ้าต้องรอ Reality กันละก็ เจ้าของกิจการ ผู้จัดการ หัวหน้างาน และก็เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้วยซึ่งแนวทางที่นำไปปรับใช้ให้ทั้งตัวเองและสมาชิกทุกคนในสถานประกอบการได้

ในฉบับที่แล้วเราพูดถึงเรื่องความสำคัญของการตระหนักและรับรู้ถึงชนิด คุณสมบัติต่าง ๆ ทั้งด้านกายภาพ ด้านเคมี และความเป็นอันตรายของสารเคมี ตลอดจนการอบรมให้ความรู้กับผู้ปฏิบัติงานในเรื่องวิธีการปฏิบัติงานที่ถูกต้องกันไปแล้ว ในฉบับนี้เราจะมาว่ากันต่อในเรื่องมาตรการป้องกันอันตรายจากสารเคมี การปฐมพยาบาล แผนรับเหตุฉุกเฉิน การกำจัดและการจัดเก็บ ไปจนถึงเรื่องการขนส่ง ซึ่งจะทำให้เราสามารถอยู่รอดปลอดภัยเมื่อใช้สารเคมีได้อย่างครบถ้วนทุกกระบวนความ โดยไม่ต้องรอให้ใครมาทำรายการ Reality Show เพื่อสาธิตวิธีการจัดการกับสารเคมีอันตรายแต่อย่างใด แหม่! ก็งานแบบนี้ถ้าต้องรอ Reality กันละก็ เสร็จแน่ ๆ มีหวัง (หรือหมดหวังก็ไม่รู้) โดนซิวทั้งก๊ก ตั้งกะท่านเจ้าของกิจการ ผู้จัดการ หัวหน้างาน และก็เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยด้วย ก็หวังว่าทุกท่านที่กล่าวมา จะได้ช่วย ๆ กันนำแนวทางที่ผู้เขียนได้นำเสนอมานี้ ไปปรับใช้ให้ทั้งตัวเองและสมาชิกทุกคนในสถานประกอบการได้ อยู่รอดปลอดภัยเมื่อใช้สารเคมี กันอย่างถ้วนทั่วทุกตัวคนก็แล้วกัน เอาละเรามาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า เริ่มจาก              

.
4. มาตรการในการป้องกันอันตรายจากสารเคมีอันตราย
.

4.1 การสังเกตทั่วไป ซึ่งทำได้โดย

- การเดินสำรวจสถานที่ปฏิบัติงาน สังเกตถึงกลิ่น และสิ่งผิดปกติต่าง ๆ  

- ตรวจสอบสารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้และจัดเก็บอยู่ รวมถึงกากของเสียด้วย

- สังเกตถึงปริมาณสิ่งที่เล็ดลอดหรือแพร่ออกมา เมื่อมีการใช้งานสารเหล่านั้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้ เช่น ไอ หมอกควัน ฯลฯ

- พูดคุยกับผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้ในพื้นที่ทำงานรวมถึงสิ่งที่ต้องตระหนักและระมัดระวัง

- ตรวจสอบฉลาก สัญลักษณ์ หรือถ้อยคำเตือน หรือระบุว่าเป็นสารเคมีอันตราย

- ตรวจสอบความถูกต้องและสมบูรณ์ของเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (MSDS)

.

4.2 มาตรการควบคุม

หลักการควบคุม สิ่งที่สำคัญที่สุดที่พึงตระหนักไว้เสมอก็คือ จะต้องประยุกต์ใช้หลักการควบคุมอันตรายให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของสถานที่ปฏิบัติงานแต่ละแห่ง โดยหลักการมีอยู่ 3 ประการ ดังนี้

- การควบคุมที่แหล่งกำเนิด หมายถึง การกำจัด หรือกันอันตรายออกไปจากตัวผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งวิธีนี้ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมอันตราย เช่น การใช้วิธีล้อมปิดกระบวนการ  เช่น อาจใช้ระบบอัตโนมัติในการผสมหรือพ่นสเปรย์สีแทนการใช้แรงงานคน หรือการเปลี่ยนเอาสารเคมีที่ไม่เป็นพิษ หรือเป็นพิษน้อยกว่า มาใช้ในกระบวนการแทนสารเคมีชนิดเดิม เป็นต้น

.

- การควบคุมที่ทางผ่านระหว่างแหล่งกำเนิดกับตัวผู้ปฏิบัติงาน เป็นวิธีที่จะถูกเลือกใช้ เมื่อไม่สามารถใช้การควบคุมที่แหล่งกำเนิดได้ หรืออาจใช้เป็นมาตรการเพิ่มเติมก็ได้ ซึ่งวิธีการควบคุมนี้สามารถใช้ได้หลายรูปแบบ เช่น ระบบดูดอากาศเฉพาะจุด หรือระบบระบายอากาศแบบทำให้เจือจาง การใช้เครื่องกำบัง และการใช้อุปกรณ์ควบคุมระยะไกล เป็นต้น

.

- การควบคุมที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน เป็นมาตรการสุดท้ายที่จะเลือกใช้ เพราะมีความยากลำบากในการควบคุมดูแล และภาระหนักจะตกอยู่ที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน หลักการก็คือ การป้องกันส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ปฏิบัติงาน โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เป็นต้นว่าถุงมือยาง เครื่องป้องกันระบบหายใจ ชุดคลุมป้องกันสารเคมี นอกจากนี้ยังอาจพิจารณาใช้มาตรการนี้ เมื่อมาตรการควบคุมอื่น ๆ ไม่เพียงพอ จะเห็นได้ว่าวิธีนี้จะมีความยุ่งยากและในระยะยาวแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายมากกว่าวิธีการอื่น ดังนั้นจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะถูกนำมาใช้ และยังถือว่าเป็นวิธีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับ 2 วิธีแรกอีกด้วย

.

จากหลักการข้างต้นนำมาสู่มาตรการหรือเทคนิคในการควบคุมอันตราย ดังนี้ คือ

1) การแทนที่ เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพมากมาตรการหนึ่ง โดยสารเคมีที่อันตรายมากจะถูกแทนที่ด้วยสารเคมีที่อันตรายน้อยกว่า เช่น ใช้ โทลูอีนแทนเบนซีน เป็นต้น หรืออาจเลือกใช้กรรมวิธีการผลิตที่ปลอดภัยกว่า มาทดแทนกระบวนการเก่าที่เป็นอันตราย ตลอดจนการใช้กระบวนการที่มีอันตรายน้อยลง ตัวอย่างของทางเลือกที่ปลอดภัย เช่น การใช้สารที่เป็นเกล็ดหรือเปียกแทนที่สารที่เป็นผง จะช่วยลดปริมาณฝุ่นที่เป็นอันตรายลง ซึ่งการพิจารณาเพื่อเปลี่ยนชนิดสารเคมี หรือกรรมวิธีการผลิตนั้น ควรจะทำอย่างละเอียดรอบคอบ และมีการประเมินข้อมูลต่าง ๆ ให้รอบทิศ เพื่อให้มั่นใจว่า ทางเลือกใหม่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายชนิดใหม่ ๆ ที่ไม่คาดคิดได้

.

2) การควบคุมเชิงวิศวกรรม ถ้าไม่สามารถแทนที่สารเคมีอันตรายที่ใช้งานอยู่ ได้ด้วยสารเคมีที่เป็นอันตรายน้อยกว่า ก็จะต้องทำการกันตัวผู้ปฏิบัติงานออกจากการสัมผัสสารเคมีอันตรายเหล่านั้น โดยมีวิธีการดังนี้

.

2.1) ระบบปิด เป็นการล้อมปิดกระบวนการอันตรายหรือสารเคมีอันตราย เช่น การใช้ท่อที่กันรั่วซึมในการส่งผ่านตัวทำละลายและของเหลวอื่น ๆ แทนการรับสารเหล่านั้นในสถานที่เปิด หรือไอและก๊าซที่เกิดขึ้นจากการพ่นสีหรือจากการอาบ-ชุบโลหะ ควรที่จะควบคุมโดยมีการระบายอากาศเฉพาะจุด ไม่ปล่อยให้ไอหรือก๊าซพิษไหลเข้าสู่อากาศในพื้นที่ปฏิบัติงาน เป็นต้น

.

2.2) ระบบระบายอากาศ ในทางปฏิบัติแล้ว เป็นการยากที่จะล้อมปิดบริเวณปฏิบัติการอันตรายทั้งหมดได้ ดังนั้นในหลายๆ กรณี การระบายอากาศจะเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งในการควบคุมการปนเปื้อนในอากาศ ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ระบบการระบายอากาศมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบทำให้เจือจางและแบบเฉพาะจุด ทั้ง 2 ระบบต้องถูกออกแบบอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิศวกรรม โดยทั่วไปแล้วระบบระบายอากาศแบบเฉพาะจุด มักจะถูกใช้มากกว่าระบบระบายอากาศแบบทำให้เจือจาง เพราะสามารถทำให้การปนเปื้อนลดน้อยลงในสถานที่ปฏิบัติงาน ส่วนระบบระบายอากาศแบบเจือจาง ควรที่จะถูกใช้เมื่อระบบระบายอากาศเฉพาะจุด ไม่สามารถใช้ได้ในพื้นที่นั้นๆ หรือมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป และในบางครั้งก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทั้ง 2 ระบบควบคู่กันไป

.

2.2.1) ระบบระบายอากาศเฉพาะจุดหรือดูดอากาศเฉพาะที่ ระบบดูดอากาศเฉพาะที่จะเป็นทางเลือกที่สองในการที่จะเคลื่อนย้ายการปนเปื้อน ณ แหล่งกำเนิด ระบบดูดอากาศเฉพาะที่ประกอบไปด้วยท่อดูดอากาศ ท่อลม และพัดลมระบายอากาศ โดยระบบจะจับและแยกอากาศที่ปนเปื้อนออกจากอากาศที่ดี และใช้พัดลมที่มีประสิทธิภาพที่จะสร้างแรงดูดที่เพียงพอ โดยจุดที่มีการปนเปื้อนจะเข้าสู่ระบบดูดไอเสียเฉพาะที่ที่เรียกว่าท่อดูดอากาศ  มีอยู่ 2 แบบ คือ แบบล้อมปิดและแบบภายนอก แบบล้อมปิดจะมีระบบท่อดูดอากาศแบบปิดทั้งหมดหรือปิดบางส่วนของกระบวนการหรือแหล่งปนเปื้อน ส่วนแบบภายนอกนั้น ท่อดูดอากาศจะถูกติดตั้งใกล้ ๆ กับแหล่งปนเปื้อนแต่จะไม่ล้อมปิด ระบบท่อดูดอากาศแบบปิดจะมีประสิทธิภาพและนิยมใช้กันมากกว่า

.

- ควรที่จะมีการพิจารณาจุดติดตั้งท่อดูดอากาศให้ใกล้กับแหล่งปล่อยการปนเปื้อนให้มากที่สุด ไม่ควรติดตั้งติดหรือใกล้พื้นห้องเพราะคิดว่าอากาศที่ปนเปื้อนหนักกว่าอากาศ

.

- อากาศที่ปนเปื้อนควรที่จะอยู่ห่างจากผู้ปฏิบัติงานมากกว่าไหลผ่านพื้นที่หายใจของผู้ปฏิบัติงาน

.

- เพื่อประสิทธิภาพในการเคลื่อนย้ายการปนเปื้อน การไหลเวียนของอากาศ ควรจะมีอัตราสูงเพียงพอ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย รวมถึงความเร็วของการปนเปื้อนที่ถูกปล่อยออกมา หรือสมบัติทางกายภาพของสารเคมี และการเคลื่อนไหวของอากาศโดยรอบ โดยปกติแล้วการไหลเวียนอากาศที่ใช้จะเหมือนกับที่ใช้ในห้องทดลอง คือ ประมาณ 80-120 ฟุต/นาที และสำหรับการป้องกันไฟไหม้ที่จะเกิดขึ้น กำหนดให้อัตราของไอเสียอย่างน้อย 18 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง/ตารางเมตรของพื้นที่ห้อง และน้อยสุด 250 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ส่วนการป้องกันการสัมผัสกับการเป็นพิษกำหนดให้สูงกว่าอัตราการไหลเวียนของอากาศ นั่นคืออัตราการระบายอากาศต้องสูงเพียงพอที่จะลดการสัมผัสลงประมาณ 50 % ของขีดจำกัดการสัมผัสในงานที่ทำ (Occupational Exposure Limits: OEL) สำหรับสารเคมีชนิดนั้น ๆ

.

- ระบบระบายอากาศ ควรที่จะทำด้วยโครงสร้างของวัสดุที่เข้ากันได้กับสารเคมีที่ใช้

.

- กระแสอากาศที่ไหลแรงขัดกัน อาจทำให้การเคลื่อนไหวของอากาศที่จะเข้าสู่ท่อดูดอากาศหยุดชะงักได้ ดังนั้นควรที่จะมีการกำจัดหรือลดลง โดยแหล่งกระแสอากาศที่ไหลขัดกันอาจมาจากพัดลมตั้งพื้น หรือประตูหน้าต่างที่เปิด และท่อจ่ายอากาศที่มีการติดตั้งไม่ดี

.

- ต้องมั่นใจว่าระบบระบายอากาศอยู่ในสภาพพร้อมที่จะทำงานก่อนที่จะทำการเปิดใช้งานในแต่ละครั้ง

.

2.2.2) ระบบระบายอากาศแบบทำให้เจือจาง จะมีหลักการทำงาน โดยจ่ายอากาศข้างนอกมาผสมกับอากาศที่ปนเปื้อนภายใน เพื่อเป็นการเจือจางการปนเปื้อนลงให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย

- ท่อรับไอเสียควรที่อยู่ใกล้จุดที่มีการปนเปื้อนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

- ระบบจ่ายอากาศและไอเสีย ควรที่จะถูกติดตั้งเพื่อที่อากาศจะได้ไหลจากแหล่งจ่ายอากาศผ่านตัวผู้ปฏิบัติงานผ่านพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนไปสู่ไอเสีย จุดประสงค์เพื่อลดจำนวนของสารเคมีที่จะเข้าสู่โซนหายใจของผู้ปฏิบัติงาน

- ท่อปล่อยไอเสีย ควรอยู่ห่างจากอากาศภายนอกที่จะเข้ามา โดยไอเสียควรที่จะถูกปล่อยให้สูงกว่าหลังคาและระมัดระวังการไหลย้อนกลับ

- พิจารณาอัตราการไหลเวียนของอากาศให้เพียงพอสำหรับการระบายอากาศ

.
การวัดค่าการปนเปื้อนในอากาศ

จุดประสงค์เบื้องต้นของระบบระบายอากาศ คือ การทำให้ความเข้มข้นของการปนเปื้อนในอากาศลดลงอยู่ในสภาวะปลอดภัยหรือระดับที่ยอมรับได้ ที่อาจเรียกได้หลายแบบ เช่น ขีดจำกัดการสัมผัสในงานที่ทำ (Occupational Exposure Limits: OEL) ส่วนในสหรัฐอเมริการู้จักกัน คือ ขีดจำกัดที่สามารถสัมผัสได้ (Permissible Exposure Limits: PEL) ซึ่งถูกกำหนดโดย Occupational Safety & Health Administration (OSHA) ในขณะที่แคนาดาจะอ้างอิงถึง Threshold Limit Values (TLVs) ซึ่งกำหนดโดย American Conference of Governmental Industrial Hygienists (ACGIH) ซึ่งแสดงถึงความเข้มข้นของการปนเปื้อนในอากาศที่ผู้ปฏิบัติงานอาจจะสัมผัสวันต่อวันโดยปราศจากผลกระทบต่อสุขภาพ โดย TLVs ที่มักใช้กันมีอยู่ 5 แบบ คือ

.

(1) Time Weighed Average (TWA) เป็นค่าความเข้มข้นการปนเปื้อนในอากาศโดยเฉลี่ยที่ผู้ปฏิบัติงานอาจจะสัมผัสเกิน 8 ชั่วโมง/วัน และ 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ โดยที่จะไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

.

(2) Short Term Exposure Limits (STEL) เป็นการวัดค่า 15 นาทีของ TWA สูงสุด (ถึงแม้ว่าค่าเฉลี่ยการสัมผัสใน 8 ชั่งโมงจะอยู่ใน TWA ก็ตาม) โดยผู้ปฏิบัติงานไม่ควรสัมผัสในระดับที่เกิน TWA จนถึง STEL นานเกิน 15 นาที และไม่ควรเกิน 4 ครั้ง/วัน

.

(3) Ceiling Limit (C) เป็นค่าความเข้มข้นมากสุด สำหรับสารที่ไม่อยู่ในรายการของ STEL จะใช้การประมาณดังนี้ คือ

(4) 3 Times Excursion คือระดับการสัมผัสของผู้ปฏิบัติงานอาจเกิน 3 เท่าของ TWA แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 30 นาที/วัน

(5) 5 Times Excursion คือระดับการสัมผัสของผู้ปฏิบัติงานไม่ควรเกิน 5 เท่าของ TWA

.

ค่าต่าง ๆ เหล่านี้ เรามักจะพบในเอกสารข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี (MSDS) ซึ่งจะแนะนำว่า สถานที่ซึ่งผู้ปฏิบัติงานอาจจะต้องสัมผัสการปนเปื้อนนั้น การปนเปื้อนควรที่จะถูกควบคุมให้ต่ำกว่าค่าเหล่านี้ตลอดเวลาเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ปฏิบัติงาน

.

สัญญาณของการปนเปื้อน มีหลายเทคนิคสำหรับการค้นหาค่าความเข้มข้นของการปนเปื้อนที่แท้จริง ซึ่งควรกระทำเมื่อมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่า ระดับของการปนเปื้อนอาจจะสูงเกินไป บางทีการใช้ประสาทสัมผัสของเราอาจจะเป็นสิ่งแรกที่ใช้ในการตรวจจับการสัมผัสกับสารเคมี รวมถึงการปรากฏของไอ ความชื้นของผิวหนัง ปฏิกิริยาบนร่างกาย เช่น การระคายเคืองผิวหนังและดวงตา คลื่นเหียน วิงเวียน และปวดหัว ส่วนกลิ่นก็สามารถที่จะบ่งบอกถึงการปนเปื้อนในอากาศได้เช่นกัน และควรที่จะมีการตรวจสอบโดยทันที และควรที่จะมีการระบุไว้ว่าสารเคมีแต่ละตัวมีสัญญาณการปนเปื้อนอย่างไรบ้าง บางครั้งอาจต้องใช้เครื่องตรวจจับเพราะสารบางตัวไม่ปรากฏสัญญาณที่เราจะสังเกตได้ เช่น คาร์บอนมอนนอกไซด์ เป็นต้น

.

3) การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล  เป็นทางเลือกสุดท้ายของการควบคุมอันตราย ซึ่งเป็นการป้องกันเฉพาะเจาะจงไปที่ตัวผู้ปฏิบัติงาน โดยควรพิจารณาชนิดของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE) ให้มีความเหมาะสมกับลักษณะงานที่ทำ ชนิดและความเข้มข้นของสารเคมีที่สัมผัส เช่น แผ่นกรองอากาศของเครื่องป้องกันระบบหายใจที่ใช้ป้องกันไอกรด จะไม่สามารถป้องกันไอของแอมโมเนียได้ หรือถุงมือยางธรรมชาติจะทนต่อตัวทำละลายบางชนิดได้น้อย เป็นต้น ดังนั้นควรพิจารณาจาก MSDS ของสารแต่ละชนิด ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความจำเป็นของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ต้องใช้ เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องตระหนักเสมอว่าอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาใช้ทดแทนมาตรการควบคุมเชิงวิศวกรรม แต่สามารถที่จะใช้ร่วมกันได้ ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับความรู้และทักษะ รวมถึงรับทราบถึงความจำเป็นในการใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล และควรกำหนดให้มีการสวมใส่ทุกครั้งในงานที่จำเป็นต้องใช้ รวมถึงวิธีการทำความสะอาด การบำรุงรักษา การตรวจสอบสภาพก่อนและหลังการใช้งานด้วย

.

อุปกรณ์โดยทั่วไปที่อาจจำเป็นต้องใช้

3.1) เครื่องแต่งกายตามปกติ แม้ว่าจะใช้อุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ แต่เสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่ต้องคลุมทั่วร่างกาย ซึ่งจะต้องเป็นเสื้อแขนยาวคลุมถึงข้อมือ กางเกงขายาวคลุมถึงข้อเท้า ชุดแต่งกายอื่น ๆ กระโปรง หรือ เสื้อ กางเกงที่หลวมไม่พอดีตัวไม่ควรที่จะสวมใส่ รองเท้าควรคลุมทั้งเท้าและผมที่ยาวต้องมัดเก็บให้เรียบร้อย ห้ามใส่เครื่องประดับต่าง ๆ เช่น แหวน นาฬิกา ต่างหู รวมถึงไม่ควรใช้เครื่องสำอาง หรือเครื่องประเทืองผิวต่าง ๆ

.

3.2) ถุงมือ เป็นสิ่งจำเป็นเมื่อต้องใช้มือสัมผัสกับวัตถุอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีที่เป็นพิษและกัดกร่อน ควรที่จะมีการระบุว่าถุงมือชนิดใดเหมาะสมกับสารเคมีประเภทใดบ้าง เพราะมีความเหมาะสมในการใช้งานแตกต่างกัน บางกรณีอาจต้องใช้ถุงมือหลายชั้น แต่ควรระมัดระวังที่ถุงมือบางชนิดอาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานบางคนเกิดอาการแพ้ได้ เช่น ถุงมือยาง อาจต้องมีการเปลี่ยนถ้าจำเป็น ถุงมือทุกชนิดมีระยะเวลาในการทนต่อสารเคมีแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ 2-3 นาทีจนถึงเป็นชั่วโมง ดังนั้นต้องมั่นใจในเรื่องระยะเวลาการใช้งานถุงมือ บางครั้งก็มีความจำเป็นที่ต้องปรึกษาผู้ขายสารเคมีชนิดนั้น ว่าควรเลือกใช้ถุงมือประเภทใดจึงจะเหมาะสม รวมถึงคำแนะนำถึงความถี่ในการที่ต้องเปลี่ยนถุงมือคู่ใหม่ด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนในการสำรองถุงมือไว้ให้เพียงพอสำหรับการเปลี่ยนใหม่ด้วย ถุงมือที่ใช้ควรจะมีขนาดพอดีและเหมาะสมกับลักษณะงานที่ทำ และต้องมีความยาวเพียงพอ เพื่อที่จะไม่ให้มีช่องว่างในการสัมผัสผิวหนังระหว่างถุงมือและแขนเสื้อ ควรตรวจสอบถุงมือว่าฉีกขาด เสียหายหรือไม่ทั้งก่อนและหลังการใช้ นอกจากนี้ยังต้องมีการทำความสะอาดหลังการใช้ด้วย ก่อนที่จะเก็บไว้ในที่ที่เหมาะสม 

.

3.3) เครื่องป้องกันส่วนตาและใบหน้า ไม่ควรมีการใส่แว่นสายตาและคอนแทคเลนส์เพราะไม่ได้ป้องกันดวงตาเลย โดยเฉพาะคอนแทคเลนส์จะอันตรายมากเมื่อสารเคมีกระเด็นเข้าดวงตา ควรที่จะใส่แว่นตานิรภัย ครอบแว่นสายตาและคอนแทคเลนส์จะดีกว่า กระบังครอบส่วนใบหน้าไม่เพียงพอต่อการป้องกันควรใส่แว่นตานิรภัยร่วมด้วย บางกรณีหมวกคลุมคอและศีรษะ ก็เป็นสิ่งจำเป็น เช่นกัน แว่นตานิรภัยควรที่จะกระชับ สะอาด และไม่มีรอยขีดข่วน ในสถานที่ปฏิบัติงานที่มีสารพิษกัดกร่อน วัตถุออกไซด์จำเป็นที่จะต้องมีที่ชำระล้างดวงตา  

.

3.4) เครื่องป้องกันระบบหายใจ ในที่ ๆ ระบบระบายอากาศไม่เพียงพอ เครื่องป้องกันระบบหายใจก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ชนิดของเครื่องป้องกันระบบหายใจที่ใช้ขึ้นอยู่กับการปนเปื้อนของสารแต่ละชนิด ขนาดก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะอากาศที่ปนเปื้อนมักเล็ดลอดเข้าทางช่องว่างของหน้ากาก การทดสอบความกระชับเป็นสิ่งที่จำเป็นเมื่อเริ่มทดลองใช้และตรวจสอบสภาพของเครื่องป้องกันระบบหายใจทั้งก่อนและหลังใช้เสมอ รวมถึงทำความสะอาดและเก็บไว้ในที่ปราศจากการปนเปื้อน   

.

3.5) อุปกรณ์อื่น ๆ ในบางกรณีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้สารเคมีในปริมาณมาก ๆ ชุดคลุมป้องกันที่คลุมทั้งร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น ผ้ากันเปื้อน รองเท้าบูต และหมวกคลุมผมอาจจำเป็นต้องใช้ โดยอุปกรณ์ที่ใช้ทุกชิ้นต้องเข้ากันได้กับสารเคมี  

.

นอกจากนี้แล้ว การควบคุมอันตรายยังรวมถึงมาตรการควบคุมเชิงบริหารจัดการด้วย  เช่น การรณรงค์ให้ผู้ปฏิบัติงานรักษาสุขอนามัยให้ดี (การห้ามกิน ดื่มหรือสูบบุหรี่ในพื้นที่ปฏิบัติงาน) การหมุนเวียนงาน หรือการฝึกอบรมในกระบวนการต่าง ๆ  ในการควบคุมหรือป้องกันอันตราย เป็นต้น ซึ่งสามารถใช้ร่วมไปกับการควบคุมเชิงวิศวกรรมได้

.

5.การปฐมพยาบาล ดังที่ทราบแล้วว่าสารอันตรายสามารถที่จะเข้าสู่ร่างกายได้ 4 วิธี คือ กิน สูดดม สัมผัสผิวหนังหรือดวงตา และการฉีด ดังนั้นบุคคลผู้ซึ่งจะทำหน้าที่ปฐมพยาบาล ควรเป็นผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี และสามารถดำเนินการอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับลักษณะอาการของผู้ประสบเหตุ โดยมีหลักการทั่วไป ดังนี้

.

- ควรมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลไว้ และพร้อมสำหรับการใช้งาน โดยในกรณีที่อุปกรณ์ใดอุปกรณ์หนึ่งใช้หมดไปแล้ว ก็ควรจัดหามาใส่ทดแทนให้เต็มตลอดเวลาด้วย

- เบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินควรติดไว้ ไม่ว่าจะเป็นรถพยาบาล หน่วยจัดการสารเคมี ฯลฯ

- มั่นใจว่าที่ชำระล้างดวงตาและฝักบัวฉุกเฉิน ถูกติดตั้งอยู่ใกล้  (สามารถเข้าถึงได้ภายใน 10 วินาที) และไม่มีสิ่งกีดขวาง ตรวจสอบสภาพความพร้อมในการใช้งานทั้งในเรื่องความแรงและความต่อเนื่องของน้ำด้วย

- ผู้ปฏิบัติงานควรได้รับการฝึกทักษะพื้นฐานสำหรับการปฐมพยาบาล การทำให้หัวใจและปอดฟื้น (เป่าปาก-นวดหัวใจ: Cardiopulmonary Resuscitation: CPR)

- ศึกษาและทำความเข้าใจ MSDS ในมาตรการช่วยเหลือปฐมพยาบาลสำหรับสารเคมีแต่ละชนิด

.

เมื่อเกิดเหตุ

- ตั้งสติให้ดี

- ถ้าจำเป็นต้องมีการติดต่อเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินภายนอก ควรจัดเตรียมการให้ข้อมูล เช่น สถานที่ที่ผู้ป่วยประสบเหตุ ชนิดของสารเคมีที่สัมผัส ลักษณะและขอบเขตของการสัมผัส และอยู่กับผู้ป่วยจนกว่ารถพยาบาลจะมา

.

- ก่อนที่ทำการปฐมพยาบาล ต้องมั่นใจว่าสถานที่ตรงนั้นปลอดภัย (เช่น ไม่มีความเสี่ยงจากไฟไหม้ การระเบิด หรืออันตรายอื่น ๆ จากสารเคมีที่จะมาสัมผัสกับผู้ป่วยและคนอื่น ๆ สวมชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลถ้าจำเป็น)

.

- ดำเนินการปฐมพยาบาลถ้าจำเป็น อาจต้องช่วยเป่าปาก-นวดหัวใจ หรือ CPR แต่วิธีนี้ควรจะกระทำโดยผู้ที่ได้รับการฝึกมาแล้วเท่านั้น

.

- กรณีกินเข้าไป เรียกรถพยาบาลและควรมี MDSD ไว้ในมือ อย่าพยายามจัดการโดยพลการ โดยการให้กินสารอื่น ๆ เข้าไปเพื่อทำให้เป็นกลางเพราะอาจเกิดปฏิกิริยาที่ไม่คาดคิดภายในร่างกายรวมถึงความร้อน ให้ล้างปากด้วยน้ำ อย่ากระตุ้นให้อาเจียนเพราะเสี่ยงต่อการทำให้น้ำท่วมปอด ให้ดื่มน้ำปริมาณมาก ๆ อาจต้องพลิกผู้ป่วยที่ไม่ได้สติให้นอนตะแคงเพื่อหลีกเลี่ยงการสำลักในระหว่างการอาเจียน และให้ปฏิบัติตาม MSDS ที่ระบุไว้

.

- กรณีที่สูดดม ย้ายผู้ป่วยไปยังสถานที่มีอากาศบริสุทธิ์โดยด่วน แต่อย่าเสี่ยงเข้าไปช่วยผู้ป่วยโดยไม่ได้ใส่เครื่องป้องกันระบบหายใจ ให้ตรวจสอบการหายใจของผู้ป่วย ถ้ายังหายใจอยู่ให้ขยายเสื้อผ้าให้หลวม ถ้าไม่หายใจหรือหายใจติดขัดอาจต้องช่วยผายปอดหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ

.

- กรณีสัมผัสดวงตา ล้างตาด้วยน้ำจำนวนมากเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที (โดยใช้ที่ชำระล้างดวงตา แต่ถ้าไม่มีให้ผู้ป่วยนอนกับพื้นและรินน้ำล้างตา) ถ้าสารเคมีกัดเนื้อเยื่อบางทีต้องใช้การล้างตามากกว่า 1 ชั่วโมง ช่วยผู้ป่วยเปิดเปลือกตา กรอกลูกตาไปรอบ ๆ อย่าพยายามเติมสารอื่น ๆ เพื่อทำให้เป็นกลาง ถ้าผู้ป่วยใส่คอนแทรกเลนส์อย่าเสียเวลาในการเอาออก ให้ใช้น้ำชำระล้างตาเลยอย่างน้อย 15 นาที

.

- กรณีสัมผัสผิวหนัง ถ้าสารเคมีเป็นของแข็งแห้งให้ใช้แปรงปัดออกให้มากที่สุดก่อนล้าง และให้ล้างด้วยน้ำโดยเร็วเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที โดยใช้ฝักบัวฉุกเฉิน ที่ชำระล้างดวงตา หรืออ่างล้างมือ ขณะที่ชำระล้างให้ถอดชุดที่ปนเปื้อนออกรวมถึงเครื่องประดับ รองเท้า และอุปกรณ์ต่าง ๆ ข้อพึงระวังอย่าทำตัวเป็นอินเทรน อย่างไม่ถูกกาละเทศะ เช่น ใส่นาฬิกา แหวน เข็มขัด และเครื่องประดับต่าง ๆ ถ้าใส่อยู่ต้องเอาออกให้หมดก่อนที่จะทำให้เป็นแผลบวม แม้ว่าตาจะได้รับผลกระทบด้วยห้ามถอดแว่นตานิรภัยที่สวมอยู่จนกว่าสารเคมีจะถูกล้างออกจากหน้าและผมแล้ว อย่าพยายามที่ทำให้เป็นกลางโดยการเติมสารเคมีอื่น ๆ ห้ามใช้โลชั่นหรือน้ำมันทาบริเวณที่สัมผัส

.
- ทำให้ผู้ป่วยอบอุ่นและอยู่นิ่ง ๆ

- ส่งผู้ป่วยให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วที่สุด ถ้าใครมีความรู้เกี่ยวกับสารเคมีหรืออยู่ในเหตุการณ์แต่ไม่เป็นอะไรให้นำเอา MSDS ของสารเคมีนั้นไปด้วย

- การวินิจฉัยถึงความรุนแรงของการสัมผัสสารเคมี ควรจะกระทำหรือวินิจฉัยโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์เท่านั้น

.

6. มาตรการรับเหตุฉุกเฉิน ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสารอันตรายที่ได้จัดเก็บไว้สามารถที่จะใช้ในการวางแผนป้องกันอัคคีภัยและกระบวนการฉุกเฉินต่าง ๆ ได้ ดังนี้

 .

6.1 การป้องกันเพลิงไหม้

- ผู้ปฏิบัติงานทุกคนควรได้รับการฝึกถึงวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องยามเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น รวมถึงวิธีการในการติดต่อหน่วยดับเพลิงและวิธีในการใช้เครื่องดับเพลิง

- การอพยพ ควรเกิดขึ้นทันทีหลังจากได้ยินสัญญาณเตือนภัย ควรที่จะมีการเขียนแผนและทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติงานทุกคนและติดไว้ให้เห็นได้ชัด ๆ ทุกชั้นของสถานที่ปฏิบัติงาน

- มีแผนภาพแสดงถึงตำแหน่ง ชนิด และการปฏิบัติการของระบบป้องกันเพลิงไหม้

- ควรมีการกำหนดตัวบุคคลที่จะทำการควบคุมดูแลยามเกิดเหตุเพลิงไหม้โดยได้รับการฝึกฝนมาอย่างเพียงพอ

- มีการจัดผู้ที่จะให้การช่วยเหลือผู้พิการด้วย

- มีการฝึกปฏิบัติการอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง

- ระบบป้องกันเพลิงไหม้ที่เหมาะสม ควรถูกติดตั้ง เช่น สปริงเกิล เครื่องดับเพลิง หรือระบบระงับเพลิงไหม้อื่นๆ และควรที่จะคำนึงถึงสารดับเพลิงด้วย ว่าเข้ากันได้กับสารเคมีที่ใช้หรือจัดเก็บในสถานที่ปฏิบัติงานหรือไม่ เช่น ระบบสปริงเกิลแบบใช้น้ำ ไม่ควรใช้ในพื้นที่ที่มีการใช้งานหรือจัดเก็บสารเคมีที่ทำปฏิกิริยากับน้ำ เป็นต้น

- ระบบสปริงเกิลอัตโนมัติ หรือเครื่องดับเพลิง และระบบท่อน้ำสำหรับใช้ดับไฟ ควรถูกตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอโดยผู้ชำนาญการ

- หัวฉีดนิรภัยฉุกเฉินควรที่จะเข้าถึงโดยง่ายภายใน 10 วินาที และสามารถใช้งานได้จริง

- มั่นใจว่าหน่วยดับเพลิงท้องที่ ได้เข้ามาทำความคุ้นเคยกับสถานที่ปฏิบัติงานและรับทราบถึงตำแหน่งและชนิดของสารเคมีที่ใช้และจัดเก็บ รวมถึงมีแผนภาพแสดงให้เห็นด้วย

- แผนงานป้องกันไฟควรมีการทบทวนประจำทุกปี

- สารเคมีควรถูกจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบถูกต้องทั้งจำนวน ชนิด กลุ่ม ขนาดของภาชนะบรรจุ รวมถึงอยู่ในสภาพดีไม่รั่วไหล และมีฉลากและสัญลักษณ์เตือนให้เห็นด้วย

.

6.2 การหกของสารเคมี วิธีการทำความสะอาดกรณีที่สารเคมีหกจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับชนิดและอันตรายของสารเคมีที่หก สำหรับสถานที่ปฏิบัติงาน ควรมีการเขียนแผนงานฉุกเฉินสำหรับกรณีสารเคมีหก ทุกชนิดที่ใช้งานและจัดเก็บอยู่ โดยมีแผนงานสำหรับกระบวนการในการทำความสะอาด และฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการลดการสัมผัสทั้งตัวผู้ปฏิบัติงานและทรัพย์สิน สารเคมีที่หกนั้นจำเป็นต้องจัดการอย่างรวดเร็วแต่ไม่ลนลาน ขั้นตอนในการทำความสะอาดสำหรับแต่ละชนิดของสารเคมี ควรมีการวางแผนล่วงหน้าอย่างรอบคอบ รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้จัดการกับสารเคมีที่หกนั้น ต้องถูกทำความสะอาดด้วยเช่นกัน การหกของสารเคมีจำนวนมากหรือมีแนวโน้มที่จะมีอันตรายอย่างมาก ควรได้รับการจัดการจากทีมงานที่ได้รับการฝึกฝนและมอบหมายไว้ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีความรู้ในอันตรายของสารเคมีที่หกนั้นรวมถึงกระทำการด้วยความระมัดระวัง

.

การตอบสนองต่อกรณีการหกของสารเคมี

1) พิจารณาดูว่าผู้ปฏิบัติงานหรือทีมงานสามารถจัดการได้หรือไม่ ถ้าไม่ต้องติดต่อผู้ชำนาญการเหตุฉุกเฉินอุบัติเหตุสารเคมี ให้มาจัดการหรือขอคำแนะนำ

2) กรณีมีการหกของสารเคมีจำนวนมาก หรือคาดว่าจะมีอันตรายให้ปฏิบัติดังนี้ คือ

- ปิดประตูและหน้าต่าง อพยพออกจากพื้นที่ ให้สัญญาณเตือนภัย
- เมื่ออยู่ในที่สถานที่ที่ปลอดภัย ให้ติดต่อหน่วยดับเพลิงและทีมงานจัดการสารเคมี และแจ้งให้ทราบถึงตำแหน่งและชนิดของสารเคมีที่หก

- ถ้ามีความจำเป็นในกรณีเกินความสามารถที่จะจัดการได้ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่จากหน่วยฉุกเฉินอุบัติภัยสารเคมี กรมควบคุมมลพิษ สายด่วน 1650

- ห้ามกลับเข้าไปในพื้นที่จนกว่าหน่วยดับเพลิงหรือผู้มีอำนาจในการจัดการได้พิจารณาแล้วว่าปลอดภัย จึงจะเข้าไปได้

.

3) กรณีที่มีการหกของสารเคมีจำนวนเล็กน้อยและสามารถจัดการได้เองอย่างปลอดภัย

- ดำเนินการตามขั้นตอนที่เขียนไว้ในแผนงานสำหรับการหกของสารเคมีชนิดนั้น ๆ

- แจ้งผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ใกล้เคียงให้ทราบโดยด่วน วางสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าเป็นเขตอันตราย

- ใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสม รวมถึงเครื่องป้องกันระบบหายใจ

- ถ้าเป็นการหกของสารไวไฟ ให้ย้ายแหล่งที่จะจุดติดไฟได้ออกไปจากพื้นที่นั้นโดยเร็ว

- มั่นใจว่าระบบระบายอากาศในห้องได้แยกจากห้องพักของตัวอาคาร และทำการเพิ่มอัตราการระบายอากาศเฉพาะจุดเพื่อจับหรือเข้าตรงสู่การไหลเวียนของไอ รวมถึงการเปิดประตู หน้าต่าง แต่ต้องมั่นใจว่าไม่ไปทำให้พื้นที่บริเวณอื่น ๆ มีการปนเปื้อนไปด้วย

- ย้ายวัสดุ อุปกรณ์ หรือภาชนะต่าง ๆ ที่อยู่ในทางไหลของสารเคมีที่หก

- ปิดกั้นทางที่จะไหลไปสู่ท่อระบายสิ่งโสโครกเพราะอาจไหลไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกได้

.

วิธีที่ใช้ในการจัดการกับสารเคมีที่หก

a) การดูดซับ (Absorption) โรยสารหรือวัตถุที่เข้ากันได้ไปยังสารเคมีที่หกนั้น เพื่อไปดูดซับหรือสกัดกั้นการไหลของสารเคมีที่หก เช่น ขี้เลื่อยไม่ควรใช้ดูดซับวัตถุออกซิไดซ์ เพราะจะทำปฏิกิริยาอย่างรุนแรงได้เพราะขี้เลื่อยเป็นวัตถุอินทรีย์

- มีการจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับใช้ดูดซับสารเคมีที่หก

.

b) การเจือจาง (Dilution) เติมสารหรือวัตถุที่เข้ากันได้ (บางครั้งอาจเป็นน้ำ) ไปยังสารเคมีที่หก การเจือจางจะช่วยลดปฏิกิริยาของสารเคมีที่หก อย่างไรก็ตามก็มีความเหมาะสมสำหรับสารเคมีบางชนิดเท่านั้น

.

c) การทำให้เป็นกลาง (Neutralization) เช่น เติมเบสใส่กรด หรือตัวรีดิวซ์ไปยังตัวออกซิไดซ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมั่นใจในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เมื่อจะใช้วิธีนี้ ต้องเริ่มจากวงนอกก่อนแล้วค่อยเข้าสู่ศูนย์กลาง อาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสี ใส่สารลงไปอย่างระมัดระวังด้วยจำนวนน้อย ๆ ถ้าใส่เป็นจำนวนมากอาจเกิดความร้อนแล้วปล่อยไอพิษและก๊าซไวไฟออกมาได้

- เมื่อจะใช้อุปกรณ์สำหรับดูดซับหรือทำให้เป็นกลาง ควรหลีกเลี่ยงอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะเพราะอาจเกิดการจุดติดไฟได้

.

d) การใช้ลมดูด (Vacuuming) เป็นวิธีที่นิยมใช้ทำความสะอาดของแข็งที่เป็นพิษ เช่น ตะกั่ว เพื่อหลีกเลี่ยงฝุ่นที่จะเข้าร่างกายผ่านการสูดดม แต่ต้องระมัดระวังเครื่องดูดไฟฟ้าอาจจะเป็นแหล่งการจุดติดไฟของวัตถุไวไฟได้

- สารเคมีหรือวัตถุที่หกต้องถูกกำจัดเสมือนกับกากของเสียที่เป็นอันตราย

.

ถ้าเป็นการหกของสารเคมีภายนอกอาคาร ก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่ต้องป้องกันการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ ดิน และระบบระบายสิ่งโสโครก

.

7. การกำจัด (Disposal) ดำเนินการตามกฎระเบียบของทางราชการที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำหรือฝังไว้ใกล้กับแหล่งชุมชนเพราะจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ภาชนะที่ใช้บรรจุของเสียควรมีฉลากเขียนอย่างชัดเจนว่าเป็นอะไร และเป็นสารอันตรายหรือสารพิษ

.

8. การจัดเก็บ เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบบริหารจัดการคลังสารเคมี จัดว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งจะมีหลายตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ลักษณะพื้นที่ที่ใช้จัดเก็บ อุณหภูมิ ความชื้น ความดันของอากาศ แสง การจัดวาง ปริมาณ ภาชนะบรรจุ ฉลาก ชนิดของสารที่จัดเก็บ ระบบระบายอากาศ ผู้ควบคุมดูแล ฯลฯ ดังนั้นควรพิจารณาอย่างรอบคอบในการจัดเก็บสารอันตรายต่าง ๆ รวมถึงวิธีการเคลื่อนย้ายสารออกและเข้าจากพื้นที่จัดเก็บด้วย

.

- ต้องมีการให้ข้อมูลที่ถูกต้องของสภาวะที่ปลอดภัยสำหรับการจัดเก็บสารอันตรายในแต่ละชนิด เช่น วัสดุหรือสารที่เข้ากันไม่ได้ไม่ควรเก็บไว้รวมหรือใกล้กัน อุณหภูมิที่เหมาะสมในการจัดเก็บ ผลกระทบจากความชื้นและแสงแดด ฯลฯ

.

- ให้ความใส่ใจสำหรับการออกแบบในลักษณะพิเศษสำหรับห้องจัดเก็บหรือภาชนะบรรจุ อุปกรณ์ไฟฟ้าและมีการป้องกันไฟฟ้าสถิต

- ห้องที่ใช้ในการจัดเก็บควรเป็นห้องที่แยกเป็นสัดเป็นส่วนจากตัวอาคาร โดยทั่วไปแล้ว ต้องเป็นห้องที่สามารถทนไฟได้อย่างน้อย 1 ชั่วโมง และอยู่ห่างจากแหล่งที่อาจจะก่อให้เกิดประกายไฟ และสามารถที่จะทนไฟได้อย่างน้อย 2 ชั่วโมงถ้าเป็นสารออกซิไดซ์ ไวไฟ หรือทำปฏิกิริยารุนแรง และภายในห้องควรติดตั้งระบบป้องกันเพลิงไหม้ และมีหลังคาที่กันแสงได้

.

- กรณีที่ใช้ชั้นวางในการจัดเก็บต้องพิจารณาถึงความแข็งแรงว่าเพียงพอกับน้ำหนักของสารที่จัดเก็บหรือไม่ รวมถึงพิจารณาเพดานและผนังประกอบด้วย ชั้นวางควรทำด้วยวัสดุที่ทนต่อสารเคมี มีลักษณะที่ตื้นและมีขอบเพื่อป้องกันการลื่นไหล ประตูอาจจะเป็นกระจกหรือโลหะ ชั้นวางไม่ควรใช้ไม้ที่ยังไม่ได้ขัดเงา มั่นใจว่าชั้นวางมีพื้นที่เพียงพอและง่ายต่อการเข้าถึงและผู้ปฏิบัติงานสามารถที่จะเคลื่อนที่หรือหมุนตัวได้ในพื้นที่จัดเก็บ

.

- พิจารณาถึงความจำเป็นสำหรับจำนวนที่จำกัดสำหรับการจัดเก็บ โดยเปรียบเทียบรายการของสารเคมีกับความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดอันตรายหลัก ๆ และจำนวนขีดจำกัดที่ระบุไว้ในการจัดเก็บอย่างปลอดภัย

.

- สถานที่ใช้ในการจัดเก็บต้องมีความสะอาด มีระบบระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพ มีการจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบ ทางเดินและทางออกต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง

- ตรวจสอบเป็นระยะ ๆ ถึงความผิดปกติต่าง ๆ เช่น กลิ่น ไอ หรือหมอกควันที่เกิดขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นผิดปกติ การบวมหรือเสียหายของภาชนะบรรจุ สีที่เปลี่ยนไป ฯลฯ

- ก่อนที่จะรับหรือจ่ายสารอันตรายจากพื้นที่จัดเก็บ ควรตรวจสอบความถูกต้องและความสมบูรณ์ทั้งฉลาก จำนวน ภาชนะบรรจุ ถ้ามีความสงสัยควรตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อน โดยเฉพาะ MSDS ของสารเคมีที่จัดเก็บต้องสามารถหยิบนำมาใช้ได้ทันทีเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้

.

- ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายและการจัดเก็บสารอันตราย ต้องได้รับการฝึกอบรมถึงวิธีการที่ถูกต้อง รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ และสามารถที่จะป้องกันตัวเองจากการสัมผัสที่อาจจะเป็นอันตรายได้

.

9. การขนส่ง การขนส่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสินค้าที่จะไปถึงมือผู้บริโภค และวัตถุดิบที่จะไปยังสถานที่ผลิต ไม่ว่าจะเป็นทางเรือ รถไฟหรือทางถนนก็แล้วแต่ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างการขนส่งสินค้าหรือสารอันตรายสามารถที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์แห่งความวิบัติได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการระเบิด ไฟไหม้ การหกรั่วไหล อันตรายต่อสุขภาพและทำความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นต้องมีความระมัดระวังอย่างสูงในการขนส่งสารเคมีอันตราย และปฏิบัติตามกฏระเบียบที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

.

สถานการณ์อันตราย  มักมีการหกรั่วไหลเสมอเวลาขนส่งสินค้าหรือสารอันตราย เมื่อสารที่เข้ากันไม่ได้ผสมกับสารอื่นก็จะมีโอกาสเกิดปฏิกิริยาเคมี ซึ่งสามารถให้ความร้อนที่เพียงพอในการเกิดไฟไหม้หรือการระเบิด รวมถึงปลดปล่อยก๊าซพิษออกมา การหกรั่วไหลสามารถเกิดขึ้นได้ถ้ามีเหตุดังนี้ คือ

- สินค้าบรรจุไม่ถูกต้อง

- การเคลื่อนย้ายทำไม่ถูกต้อง ปราศจากการอ้างอิงสิ่งที่บรรจุ (บางทีเป็นเพราะฉลากหายไปหรือไม่สมบูรณ์หรือขาดความเข้าใจ)

- เกิดจากสินค้าหรือยานพาหนะที่ขนส่งลุกไหม้
- อุบัติเหตุบนท้องถนน

- ความบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ของการปิดวาล์วหรือจุดเชื่อมต่อ

.

ความเสี่ยงจะถูกแสดงออกมาเมื่อ

- ยานพาหนะที่บรรทุกสินค้าหรือสารอันตรายถูกทิ้งไว้โดยไม่ใส่ใจ

- ยานพาหนะหรือภาชนะบรรจุเคลื่อนหลุดเพราะเชื่อมต่อไม่ถูกวิธีหรือไม่ปลอดภัย

- ของที่บรรทุกได้โยกย้าย เคลื่อนไหวเมื่อขณะยานพาหนะวิ่งอยู่

- การหกรั่วไหลไม่ได้ถูกชำระล้างทันทีทั้งที่ตัวยานพาหนะและภาชนะบรรจุ

- การหกรั่วไหลไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างถูกวิธี

.

นอกจากนี้แล้ว สารเคมีอันตรายอาจจะก่ออันตรายขึ้นได้เมื่อสัมผัสกับสารอื่น ๆ รวมถึงอากาศ น้ำ หรือความชื้น เช่น เมื่อ Calcium carbide สัมผัสน้ำจะปล่อยก๊าซไวไฟอย่างมากของ Acetylene ออกมาซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายจากการระเบิดขึ้นได้ ดังนั้นการระมัดระวังในการเคลื่อนย้ายเป็นสิ่งสำคัญเพราะขนาดและขอบเขตที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยง ไม่สามารถสังเกตได้เสมอไป ไม่จำเป็นที่สารเคมีชนิดเดียวกัน 10 กิโลกรัมจะก่อให้เกิดอันตราย 10 เท่า อาจจะเหมือนกันหรือมากกว่าสาร 1 กิโลกรัมก็ได้ นอกจากนั้นความดันภายในหีบห่อที่ปิดผนึกอาจก่อให้เกิดความร้อนขึ้นได้โดยแสงแดด และนำไปสู่ปฏิกิริยาที่ควบคุมไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอาจจะมีผลกระทบถึงคุณภาพของสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ดังนั้นต้องมีการพิจารณาและปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับขนาดของบรรจุภัณฑ์เช่นเดียวกับขนาดของสินค้า

.

การส่งมอบสินค้าหรือสารอันตราย ควรตรวจสอบสินค้าหรือสารอันตรายที่บรรทุกว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวและไม่มีการรั่วไหลในระหว่างการขนส่ง ปฏิบัติตามคำแนะนำในการทำความสะอาดกรณีสารรั่วไหล สินค้าหรือสารอันตรายควรถูกส่งมอบโดยบุคคลที่ได้รับอนุญาตและไม่ควรทิ้งไว้โดยไม่ดูแล สินค้าอันตรายบางประเภทต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลตลอดเวลา เช่น วัตถุระเบิดและสารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์ บางชนิดจำเป็นต้องจำกัดการควบคุมดูแลขณะที่ลอดในพื้นที่อับ หรือสถานที่แยกออกไปถ้าจำนวนเกินที่ระบุไว้  ควรมีการตรวจสอบชื่อของสินค้าและจำนวนที่ถูกต้องตรงตามเอกสาร ในกรณีของเหลวที่ถูกขนส่งในถังต้องตรวจสอบจุดเชื่อมต่อและท่อว่าไม่มีการรั่วไหล ให้ความใส่ใจในการขนถ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงการไหลล้นของสารอันตราย คุณสมบัติความเป็นอันตรายของสินค้าหรือสารอันตรายควรที่จะมีการระบุอย่างชัดเจนเพื่อที่ทุก ๆ คนที่อยู่ในช่วงวงจรของการขนส่งจะได้รับทราบและมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

.

ความรับผิดชอบ

a) ผู้ส่งสินค้า

- สินค้าถูกแบ่งประเภทถูกต้องตามระเบียบของทางราชการ

- ปฏิบัติตามข้อจำกัดของการขนส่งสินค้า

- สินค้าต้องถูกบรรจุและทำเครื่องหมายอย่างถูกต้อง

- เอกสารที่แนบไปกับตัวสินค้าต้องถูกต้องและสมบูรณ์

.

b) ผู้ขนส่งสินค้า

- จัดเตรียมยานพาหนะให้ถูกต้องตรงตามกฎระเบียบของทางราชการ

- ผู้ปฏิบัติงานและคนขับต้องได้รับการฝึกอบรมในการขนส่งสินค้าอันตราย

- วางแผนในการขนส่ง เช่น เลือกเส้นทางที่หลีกเลี่ยงพื้นที่อยู่อาศัยที่แออัด และควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดระหว่างการจอดพัก

.

c) คนขับยานพาหนะ

- เอกสารที่จำเป็นสำหรับการขนส่ง

- ตรวจสอบและยอมรับการขนส่งเฉพาะสินค้าที่ไม่เสียหาย และมีการทำเครื่องหมายหรือฉลากบนหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ที่สมบูรณ์

- ต้องรับทราบรายละเอียดต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการขนส่ง

- ปฏิบัติตามข้อแนะนำที่ได้รับ เช่น การใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล และไม่ปฏิบัติการใด ๆ โดยปราศจากความไม่แน่ใจในผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

- ไม่ควรทิ้งยานพาหนะที่บรรทุกสินค้าอันตรายโดยไม่มีการควบคุมดูแล

- ไม่รับผู้โดยสาร

- ห้ามสูบบุหรี่ระหว่างการดำเนินการบรรทุก หรือใกล้กับยานพาหนะระหว่างรอการขนถ่ายหรืออยู่ในยานพาหนะ

- สังเกตว่าตัวสินค้าต้องไม่เคลื่อนย้ายระหว่างการขนส่ง (ผูกมัดอย่างดี ไม่มีน้ำมันบนพื้นซึ่งจะทำให้สินค้าลื่นไถล)

- สังเกตว่ามีอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการบรรทุก ขนถ่ายและขนส่ง ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ (เช่น สายดิน อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล)

- ไม่ควรเปิดหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ใด ๆ ที่บรรจุสินค้าหรือสารอันตรายระหว่างการขนส่ง

- มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อบุคคลหรือผู้ที่เกี่ยวข้องยามเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีข้อสงสัย

.

d) ผู้รับสินค้า

- ตรวจสอบถึงความถูกต้องทั้งจำนวนและชนิด ว่าตรงตามเอกสารที่แนบมาหรือไม่

- ตรวจสอบฉลากว่าถูกต้องและสมบูรณ์หรือไม่

- ตรวจสอบหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ว่ามีความเสียหายหรือไม่

- จัดเก็บในสถานที่เหมาะสมทันทีไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจจะเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้นได้

.

สรุปแล้ว กระบวนการต่าง ๆ ในหัวข้อที่ได้กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนถึงหัวข้อสุดท้ายนี้ มีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในยามที่ต้องเกี่ยวข้องกับสารเคมีหรือวัตถุอันตรายทั้งสิ้น ต้องมีการวางแผนในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นด้วยความรอบคอบและตระหนักถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา อย่างน้อยถ้ายามเกิดเหตุอันตรายขึ้นมาจริง ๆ อย่างสุดวิสัย ความรุนแรงหรือความเสียหายก็จะได้ลดน้อยลง

.

เอกสารอ้างอิง 

- A Guideline on Chemical Handling & Storage by Canada Labour, safety       
- The plan for controlling chemical & biological hazard in the workplace by Manitoba     

- Hazard Determination & Hazard Communication Standard (HCS) by U.S.Department of Labour,Occupational Safety & Health Administration(OSHA)