ซีเอ็มโอ ประกาศตัว ผงาดเข้าสู่ตลาดบริหารและออกแบบพิพิธภัณฑ์ ตั้งเป้าปี 56 เติบโตก้าวกระโดด 120 ล้านบาท หลังแนวโน้มธุรกิจสดใส
ซีเอ็มโอ ประกาศตัว ผงาดเข้าสู่ตลาดบริหารและออกแบบพิพิธภัณฑ์ ตั้งเป้าปี 56 เติบโตก้าวกระโดด 120 ล้านบาท หลังแนวโน้มธุรกิจสดใส ด้าน “ผู้บริหาร” เผย หน่วยงานทั้งภาครัฐ-เอกชน ต่างให้ความสำคัญสร้างพิพิธภัณฑ์ เผยแพร่ความรู้ พร้อมเปิดแผนลุยเต็มสูบ ทั้งใน-ต่างประเทศ เต็มพิกัด รองรับ AEC
นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) หรือ CMO ผู้นำธุรกิจอีเว้นท์ครบวงจรแห่งอาเซียน เปิดเผยว่า ปัจจุบันทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน เริ่มเห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑ์ เพราะพิพิธภัณฑ์คือการสร้างองค์ความรู้เผยแพร่เรื่องราวที่สำคัญให้กับสังคม
ไม่ว่าจะเป็นในด้านประวัติศาสตร์ ,ด้านโบราณคดี,ด้านการศึกษา,ด้านวิทยาศาสตร์ ,ด้านคมนาคม ตลอดจนด้านการแพทย์ ดังนั้น บริษัทฯ ได้มีการปรับกลยุทธ์ในแผนรับบริหารและออกแบบพิพิธภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย และรองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
บริษัทฯ มีหน่วยธุรกิจที่รับงานด้านการจัดนิทรรศการทั้งงานนิทรรศการถาวรประเภทพิพิธภัณฑ์ และงานนิทรรศการชั่วคราวอยู่แล้ว แต่บริษัทฯ เชื่อว่า ตลาดพิพิธภัณฑ์ ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งจากการเดินทางไปดูงานในประเทศแถบอาเซียน โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย พม่า และลาว มีแนวโน้มจะมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ บริษัทจึงได้ขยายขอบเขตธุรกิจการให้บริการพร้อมเพิ่มบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในงานพิพิธภัณฑ์ ตลอดจนนำเทคโนโลยี และเทคนิคพิเศษมาใช้ในการจัดแสดง” นายเสริมคุณ กล่าว
ทั้งนี้ การดำเนินงานของแผนกรับบริหารและออกแบบพิพิธภัณฑ์ของ CMO แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
1.ประเภทให้บริหารการจัดงานแบบครบวงจร (Turnkey Management) ครอบคลุมตั้งแต่ออกแบบอาคาร ,นิทรรศการ และก่อสร้างนิทรรศการ อาทิเช่น พิพิธภัณฑ์ขนส่งทางน้ำเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
2.ประเภทออกแบบและก่อสร้างนิทรรศการ อาทิเช่น พิพิธภัณฑ์ Angkor National Museum ,นิทรรศการตามรอยพ่อ เกษตร คือวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ และอาคารแสดงพันธุ์สัตว์น้ำบึงบอระเพ็ด เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครสวรรค์ เป็นต้น
3.ประเภทก่อสร้างนิทรรศการ อาทิเช่น พิพิธภัณฑ์ศาลปกครอง เป็นต้น
4.ประเภทศึกษาและออกแบบวางแผนแม่บท อาทิเช่น พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติหริภุณไชย กรมศิลป์
เป็นต้น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร CMO กล่าวอีกว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้จากการรับบริหารและออกแบบพิพิธภัณฑ์ ประมาณ 120 ล้านบาท ในปี 56 ซึ่งปัจจุบันรายได้อยู่ที่ 70 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยที่รายได้ที่เพิ่มขึ้นจะมาจากการที่บริษัทฯ ได้
ล่าสุดบริษัทฯ ได้รับงานใหม่ มา 3 งาน โดยได้รับความไว้วางใจทั้งจากสถาบันการศึกษา สถาบันการเงิน ตลอดจนหน่วยงานกองทัพไทย ให้ออกแบบและสร้างพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ งานออกแบบและจัดสร้างพิพิธภัณฑ์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ,พิพิธภัณฑ์จดหมายเหตุ ธ.ก.ส. และ นิทรรศการถาวรพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จ.อุบลราชธานี ภายใต้กองทัพภาคที่ 2
อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าหมายปีนี้มีรายได้รวม 1,100 ล้านบาท ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้ของบริษัท แบ่งเป็นงานอีเว้นท์ของภาคเอกชน 65% และเป็นโครงการของภาครัฐอีก 35% ซึ่งในส่วนของงานภาครัฐ บริษัทฯ ยังเติบโตได้ดี โดยมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง อาจจะทำให้สัดส่วนเปลี่ยนไป เพราะรัฐบาลมีความชัดเจนที่ส่งเสริมการจัดงาน โดยเฉพาะงานประเภทนิทรรศการ ซึ่ง CMO ได้รับความไว้วางใจจากภาครัฐบาลให้จัดงานมาโดยตลอด
ด้าน นางสาววรรณา อิศรางกูร ณ อยุธยา รักษาการ ผู้อำนวยการ ฝ่ายพิพิธภัณฑ์ กล่าวว่า จุดเด่นที่ CMO แตกต่างจากคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน คือ การที่บริษัทฯ มีพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ทำให้ลูกค้ามั่นใจในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท พีเอ็ม เซ็นเตอร์ จำกัด ที่ให้บริการเช่าเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับการจัดการแสดง, บริษัท เอ็กซ์โปซิชั่น เทคโนโลยี จำกัด เป็นผู้ให้บริการรับเหมาติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในการจัดงานและ บริษัท ดิอายส์ จำกัด ผู้ให้บริการผลิตสื่อมัลติมีเดีย
นอกจากนี้ บริษัทฯ คำนึงถึงความมีเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละพิพิธภัณฑ์ที่ออกแบบที่มีการวางแผนตั้งแต่ลักษณะการบริหารงบประมาณของหน่วยงานนั้นๆ เพื่อไม่ทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์ที่มีแต่ของพังไม่มีงบประมาณซ่อมแซม เช่น การออกแบบพิพิธภัณฑ์อัจฉริยะเปิด-ปิดระบบได้เองเมื่อไม่มีผู้ชม หรือ ระบบเปิด-ปิดพิพิธภัณฑ์ด้วยการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียวก็จะทำให้ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ในการดูแลอุปกรณ์ไปได้อย่างมาก
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ เริ่มพัฒนารูปแบบ มุ่งเน้นในด้านการประหยัดพลังงาน โดยมีความร่วมมือกับภาควิชาสภาพแวดล้อมภายใน คณะคุรุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาอาคารที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำพิพิธภัณฑ์โดยเฉพาะ ให้กลายเป็นอาคารที่จัดสร้างนิทรรศการแล้วเสร็จจะสามารถใช้พลังงานน้อยกว่าปกติกว่า 50% ซึ่งโครงการต้นแบบ คือ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จ.อุบลราชธานี” นางวรรณา กล่าว