ภาครัฐและเอกชนต่างเริ่มมองเห็น ภาพลาง ๆ ของ AEC แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
เปิดประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
พม่าเปิดเมือง (ตอนที่ 1)
สุทธิ สุนทรานุรักษ์
นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 6 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมากระแสตื่นตัวเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC นั้นดูจะ “คึกคัก” มากขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ เหตุผลสำคัญน่าจะมาจากทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเริ่มมองเห็น “ภาพลาง ๆ” ของ AEC แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ขณะที่เศรษฐกิจในฝั่งยุโรปกำลังซบเซา เศรษฐกิจอเมริกาก็ยังไม่ฟื้นจากฤทธิ์ไข้แฮมเบอร์เกอร์ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจึงเหลือเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเรานี่แหละครับที่ดูจะเป็นความหวังมากที่สุดโดยเฉพาะ “จีน” ที่ศตวรรษนี้ คือ มหาอำนาจทางเศรษฐกิจตัวจริงเสียงจริง นี่ยังไม่นับรวม ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดียหรือกลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลางที่กุมบ่อน้ำมันเอาไว้ในมือ
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วหากการรวมกลุ่มกันให้เข้มแข็งของประเทศในแถบอาเซียนที่จะกลายเป็น “ประชาคมอาเซียน” ในอีกไม่ถึง 3 ปีนั้นก็ยิ่งจะทำให้สถานะของทวีปเอเชียดูทรงพลังมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามาช่วยถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจโลกจากฝั่งตะวันตก
โลกเราทุกวันนี้ไม่เหมือนแต่ก่อนแล้วนะครับ อย่างที่ผู้เขียนย้ำอยู่เสมอว่าพลังแห่ง “โลกาภิวัตน์” นี่แหละจะเป็นแรงผลักดันให้โฉมหน้าของโลกศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นรัฐบาลทุกประเทศจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่อง “เศรษฐกิจ” ความเป็นอยู่ ปากท้องของประชาชนภายในชาติ มากกว่าการทำสงครามหรือการสะสมอาวุธ เพราะหากรัฐบาลใดสามารถนำพาประชาชนทั้งประเทศให้อิ่มท้องได้แล้ว รัฐบาลนั้นก็จะได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐบาลที่มีความสามารถ
ดังนั้น ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลือกรัฐบาลของพวกเขานั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของโลกในศตวรรษนี้ครับ
เมื่อปีที่แล้วถ้าท่านผู้อ่านลองย้อนดูเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของโลก จะเห็นภาพการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในแถบอัฟริกาตอนเหนือและกลุ่มประเทศอาหรับ ไล่ตั้งแต่ ตูนีเซีย ลิเบีย อียิปต์ ซีเรีย นั้นมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ประชาชนต้องลุกขึ้นสู้ คือ ความยากจนข้นแค้น อดอยาก เพราะรูปแบบการปกครองของประเทศเหล่านี้ไม่เป็นประชาธิปไตย มีการผูกขาดอำนาจของเผด็จการทางทหารมาอย่างยาวนานจนในที่สุดโครงสร้างของเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้ได้ “บิดเบี้ยว” และติดกับดักความยากจนซ้ำซาก
เมื่อเป็นเช่นนี้นานวันเข้า ประชาชนทั้งประเทศต่างทนไม่ได้เพราะกระแสของโลกมันไปไกลเหลือเกินแล้วครับ ท้ายที่สุดจึงเกิดปรากฏการณ์ “ลุกขึ้นสู้” หรือที่ประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่บันทึกไว้ว่าเป็น “อาหรับสปริง” (Arab Spring)
เหตุการณ์อาหรับสปริงสะท้อนให้เห็นว่า โลกเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินควบคู่ไปพร้อมกับการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
….กลับมาที่อาเซียนกันต่อดีกว่าครับ….
การรวมกลุ่มกันของประเทศในแถบอาเซียนนั้นเกิดขึ้นจาก “วิสัยทัศน์” ของรัฐบาลทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มองเห็นเหมือนกันว่าในอนาคตเราจำเป็นต้องร่วมมือกันมากกว่าที่จะมาเป็นคู่แข่งขันกัน
น่าคิดเหมือนกันนะครับ เพราะในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แล้วการแข่งขันกันย่อมทำให้สร้างนวัตกรรมหรือสร้างผลิตภาพหรือ Productivity ในการผลิต แต่หากมองอีกมุมหนึ่งการร่วมมือกันโดยเลือกที่จะไม่เป็นคู่แข่งขันกันนั้นก็สามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเศรษฐกิจได้เหมือนกัน
ทั้งนี้การเริ่มต้นเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนนั้น ผลกระทบใกล้ตัวที่สุดจะเกิดขึ้น คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีโดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจบริการไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา การแพทย์ การท่องเที่ยว สุขภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีครับที่แสดงให้เห็นแล้วว่าการรวมกลุ่มกันแล้วสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในอาเซียนได้อย่างแท้จริง
ในตอนที่แล้วผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ถึงประเทศที่ “เนื้อหอม” ที่สุดในขณะนี้ ซึ่งจะเป็นใครที่ไหนไม่ได้นอกจาก “พม่า” หรือชื่อทางการเรียกว่า สาธารณแห่งสหภาพเมียนม่าร์ (Republic of Union of Myanmar)
พม่าเปิดเมือง: จากอาณาจักรโบราณถึงพม่าใหม่บนคลื่นโลกาภิวัตน์
ขึ้นชื่อว่า “พม่า” แล้ว เราคนไทยอาจจะเกิดความรู้สึกตะขิดตะขวงใจจากประวัติศาสตร์การเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้ง ขณะเดียวกันเราเองมักจะมองพม่าเพื่อนบ้านรายนี้ในฐานะ “ศัตรูคู่อาฆาต” ที่มีประวัติศาสตร์สงครามร่วมกันมาอย่างยาวนาน
แต่อย่างไรก็ตามหากเราศึกษาประวัติศาสตร์พม่าให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าเราคงอดไม่ได้ที่จะเห็นใจใน “ชะตากรรม” ของชาวพม่านะครับ เพราะนับแต่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นหรือ “อาณานิคม” ของอังกฤษแล้ว ดูเหมือนว่าเหตุบ้านการเมืองของแผ่นดินทองแห่งนี้จะไม่มีความสงบเอาเสียเลย และถ้านับระยะเวลาความวุ่นวายทางการเมืองแล้ว เราก็จะพบว่าการต่อสู้ทางการเมืองในพม่าเป็นการต่อสู้กันระหว่างประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและกองทัพที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 1962
นอกจากนี้พม่ายังมีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อยที่อังกฤษในฐานะประเทศเจ้าอาณานิคมวาง “กับดัก” แห่งความแตกแยกเอาไว้อีกด้วย
ดังนั้นในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เราจะเห็นคลื่นแรงงานพม่าอพยพข้ามแดนมาทำงานในเมืองไทยนับเรือนล้าน ไปที่ไหนเราก็จะเจอแต่พม่า ทั้งหมดนี้เป็นตัวชี้วัดที่ดีอย่างหนึ่งนะครับว่าตราบใดที่แผ่นดินแม่หาความสงบไม่ได้ ยังคงปากกัดตีนถีบอยู่ มันจึงถึงเวลาแล้วที่คนในประเทศจะพยายามอพยพย้ายถิ่นหนีไปสู่ที่ที่ดีกว่าเสมอ
พม่านับเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นอาณาจักรโบราณที่มีคนมอญมาตั้งรกราก ก่อนที่จะมีการแย่งชิงดินแดนแห่งนี้และสถาปนาอาณาจักรหลายอาณาจักรตั้งแต่ พุกาม อังวะ ตองอู อลองพญา จวบจนกระทั่งเข้าสู่ยุคของการ “ล่าอาณานิคม” ที่พม่าเองต้องตกเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษยาวนานร่วม 60 ปี แถมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังโดนญี่ปุ่นเล็งที่จะยึดครองอีกต่างหาก
การต่อสู้แย่งชิงแผ่นดินของพ่ออยู่หัวบุเรงนองนี้สะท้อนให้เห็นความเป็น “แผ่นดินทอง” อย่างแท้จริงนะครับ เพราะพม่านั้นเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไม่แพ้ “อาณาจักรสยาม” ของเรา ด้วยเหตุนี้เองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาแผ่นดินพม่าจึงไม่ว่างเว้นภัย “สงคราม” แม้แต่ช่วงเดียว
ถ้าท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวสารต่างประเทศอย่าสม่ำเสมอจะเห็นได้ว่าในระยะหลัง ๆ นั้นเมื่อพม่าขยับตัว “เปิดประเทศ” บรรดามหาอำนาจทั้งใหญ่น้อยต่างจ้องที่ “จีบ” พม่ากันตาเป็นมัน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะป่าไม้และแร่ธาตุสำคัญ ๆ ของพม่าที่เป็นแหล่งดึงดูดใจเหล่ามหาอำนาจทั้งหลายให้เข้ามาตักตวงแสวงหาประโยชน์เหมือนเมื่อครั้งในอดีตที่ผ่านมา
ทรัพยากรธรรมชาติในพม่านั้นมีทั้งอยู่บนดินและใต้ดิน อาทิ ป่าไม้ อัญมณี แร่ธาตุ น้ำมัน นอกจากนี้พม่ายังคงมีผืนป่าธรรมชาติที่กินพื้นที่ถึงครึ่งประเทศ เป็นแผ่นดินที่อุดมไปด้วยทับทิม หยก พลอยโลหะมีค่าอย่างทองคำ เงิน เหล็ก ตะกั่ว ดีบุกและสังกะสี มีแหล่งพลังงานที่ยังไม่มีใครเข้าไปขุดใช้ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน
นอกจากนี้ในเชิงยุทธศาสตร์แล้วพม่ามีพรมแดนที่ติดทั้งจีนและอินเดีย สองพี่ใหญ่แห่งเอเชีย ยังมีศักยภาพในการเป็นเมืองท่าซึ่งปัจจุบันโครงการท่าเรือน้ำลึก “ทวาย” Dawei ก็กำลังได้รับการจับตาว่าจะกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในอนาคตโดยจะเข้ามาแทนที่ “สิงค์โปร์” ในฐานะฮับแห่งใหม่ของเอเชีย
ท่าเรือน้ำลึกทวาย อีกหนึ่งโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อน AEC
อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ในกรุงเนปิดอว์
(ซ้ายสุด) พระเจ้าอโนรธามังช่อ ผู้สถาปนาอาณาจักรพุกาม (กลาง) พระเจ้าบุเรงนองมหาราชแห่งราชวงศ์ตองอู และ
(ขวาสุด) พระเจ้าอลองพญาแห่งราชวงศ์อลองพญา
ทั้งสามพระองค์คือสัญลักษณ์แห่งความเข้มแข็งของอาณาจักรพม่าโบราณและสื่อให้เห็นถึง
ความรุ่งโรจน์ของสหภาพเมียนมาร์ยุคใหม่
ในอดีตนั้นอาณาจักรโบราณไม่ว่าจะเป็นพุกาม อังวะ ตองอู หรืออลองพญา ล้วนถูกจัดวางตำแหน่งจากโลกตะวันตกให้เป็นเมืองท่าทางการค้าไม่แพ้กรุงศรีอยุธยาของเรา โดยเฉพาะเมือง “ย่างกุ้ง” นับเป็นเมืองท่าสำคัญของดินแดนแถบอุษาคเนย์ที่ทั้งอังกฤษ และโปรตุเกสต่างหมายปอง
ท่านผู้อ่านลองเปรียบเทียบดูนะครับว่า ทุกวันนี้ชาติมหาอำนาจทั้งจากโลกตะวันตกและตะวันออกนั้นต่างพยายามเข้าไปเจรจาผูกสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับพม่าชนิด “หัวกระไดไม่แห้ง” นี่ไม่นับรวมการออกตระเวนโรดโชว์เมียนม่าร์ยุคใหม่ของนางอองซาน ซูจี ด้วยแล้ว จะเห็นได้ชัดเลยว่าพม่าวันนี้กำลังจะกลายเป็น “ดาวรุ่ง” ทางเศรษฐกิจในไม่ช้า
นางออง ซาน ซูจี The lady ของชาวพม่า
ในวันที่ได้รับอิสรภาพและกลายเป็นศูนย์รวมใจของชาวพม่าในปัจจุบัน (ภาพจากสำนักข่าวอิระวดี)
ผู้เขียนขออนุญาตย้อนอดีตกลับไปประมาณ 130 ปีที่แล้ว ที่ช่วงเวลานั้นราชวงศ์อลองพญากำลังอยู่ในช่วงที่ใกล้จะจวนเจียน “เสียเมือง” ให้กับอังกฤษยุคพระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน พม่าในวันนั้นมี “พระเจ้าธีบอ” เป็นกษัตริย์ครับ และพระเจ้าธีบอองค์นี้ได้ก็กลายเป็น The Last Emperor หรือจักรพรรดิองค์สุดท้ายของพม่า
พม่าถูกผนวกเข้าไปอยู่กับอินเดียในฐานะที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอย่างสมบูรณ์เมื่อปี 1886 ครับ และนับแต่นั้นเป็นต้นมาอาณาจักรโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ก็เข้าสู่ยุคของการถูกกดขี่ในฐานะเป็นอาณานิคมหนึ่งของอังกฤษ
ในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคม ชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ พยายามเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษมีการต่อสู้ทั้งบนดินและใต้ดิน จวบจนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นยุคของการต่อสู้เพื่อปลดแอกและเรียกร้องเอกราช มีการปลุกเร้ากระแสลัทธิชาตินิยมขึ้นมา พม่าเองได้มีกลุ่มวีรบุรุษที่นำโดยนาย อู ออง ซาน (U Aung San) ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นวีรบุรุษตลอดกาลของชาวพม่าที่ร่วมกับสมัครพรรคพวกผู้รักชาติเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษได้สำเร็จเมื่อปี 1948
(ซ้าย) พระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่า และ (ขวา) คือ นายพลอู ออง ซาน
วีรบุรุษตลอดกาลของชาวพม่าผู้มีส่วนสำคัญในการเรียกร้องเอกราชพม่า
อย่างไรก็ดีชะตากรรมของท่านนายพลอู ออง ซาน นั้นคล้ายกับวีรบุรุษคนอื่น ๆ ที่พอบรรลุเป้าหมายสำคัญแล้วมักจะถูกลอบสังหารโดยมีชนวนมาจากความขัดแย้งในเรื่องการมอบเอกราชให้กับชนกลุ่มน้อยในพม่าหลังจากที่มีการลงนามใน “สนธิสัญญาปางโหลง” ซึ่งนายพลออง ซาน เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้มีการมอบเอกราชให้กับชนกลุ่มน้อย
ภายหลังสิ้นบุญของนายพลออง ซาน แล้ว พม่าในยุคที่มีนายกรัฐมนตรี อู นุ (U Nu) ซึ่งก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมขบวนการต่อสู้เรียกร้องเอกราชโดยมีอีกชื่อว่า “ตะขิ่น นุ” ซึ่งคำว่าตะขิ่น (Thakins) เป็นภาษาพม่าแปลว่าอาจารย์โดยในช่วงที่มีการเรียกร้องเอกราชคำว่า “ตะขิ่น” ถูกนำมาใช้เรียกกลุ่มผู้เรียกร้องเอกราชพม่าจากอังกฤษซึ่งประวัติศาสตร์พม่าเรียกขบวนการนี้ว่า Dobama Asiayone Movement ครับ
กล่าวกันว่า นายอู นุ เป็นคนธรรมะธัมโม จึงพยายามนำพาพม่าเข้าสู่การปกครองที่มีศาสนาพุทธเป็นตัวนำ พม่าพยายามสร้างสังคมนิยมแนวพุทธในการปกครองประเทศด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ต้องแปลกใจนะครับว่าทำไมการต่อสู้เรียกร้องทางการเมือของพม่าในแต่ละครั้งนั้น “พระสงฆ์” ล้วนแล้วแต่เข้ามามีบทบาทในการต่อสู้ด้วย
(ซ้าย) นายอู นุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าก่อนจะถูกนายพล เนวิน (ขวา)
ทำการปฏิวัติและนำพม่าเข้าสู่ความเป็นรัฐเผด็จการทหารอย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี 1962
ในช่วงทศวรรษที่ 50 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงใหม่ ๆ นั้น กระแสรัฐบาลชาตินิยมเพื่อทำให้การสร้างชาตินั้นมีความเป็น “ปึกแผ่น” มากขึ้น พม่าเองก็เช่นเดียวกันครับ ในสมัยของนายกรัฐมนตรีอูนุก็ใช้ความเป็นชาตินิยมพม่าโดยมีศาสนาพุทธเป็นตัวเหนี่ยวนำทำให้สามารถสร้างชาตินิยมพม่าได้ในช่วงเริ่มต้นของการสร้างประเทศพม่ายุคใหม่
อย่างไรก็ตามประชาธิปไตยในพม่าก็ต้อง “สะดุด” ลง เมื่อเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 1962 โดย นายพลเนวิน (Ne Win) และหากจะว่าไปแล้วในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นก็ใกล้เคียงกับสมัยรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ของไทยเรานะครับ ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า “กองทัพ” แทบทุกประเทศในแถบอาเซียนพยายามที่จะแทรกตัวเข้ามามีบทบาทโดยเฉพาะการแย่งชิง “อำนาจ” ทางการเมือง ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญในช่วงนั้นที่ทำให้กองทัพเข้มแข็ง คือ การได้รับสนับสนุนทางการเงินและอาวุธยุทธโธปกรณ์จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์
ในยุคทหารพม่าครองเมืองนั้น พม่าถูกมองว่าเป็นประเทศที่ “ปิดตัวเอง” ลึกลับและไม่สุงสิงกับใคร นายพลเนวิน ครองอำนาจอย่างยาวนานโดยใช้พรรคการเมืองที่ตัวเองตั้งขึ้นในชื่อ Burma Socialist Program Party ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองคล้ายสังคมนิยมโดยใช้สหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบ มีการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจจากส่วนกลาง แต่อย่างไรก็ดีกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่ายังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมาสุกงอมเอาเมื่อปี 1988 หรือที่รู้จักกันในชื่อเหตุการณ์ที่เรียกว่า 8888 Uprising ซึ่งเป็นการลุกขึ้นสู้กับเผด็จการทางทหารครั้งยิ่งใหญ่ของชาวพม่าเมื่อวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 เหตุการณ์นี้ทำให้ทั่วโลกได้เห็นพลังการต่อสู้ของชาวพม่าเป็นครั้งแรก โดยต้นเหตุสำคัญมาจากเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจที่คนพม่าเริ่มรับไม่ได้กับการปกครองของรัฐบาลทหารพม่าที่นำพาประเทศไปสู่ความยากจนข้นแค้น
กองทัพพม่า ผู้มีอิทธิพลตัวจริงในการปกครองประเทศ
8888 Uprising การลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า
ก่อนจะถูกกวาดล้างโดยรัฐบาลทหารพม่าที่สถาปนาตัวเองใหม่ในชื่อของ SLORC
อย่างไรก็แล้วแต่กองทัพพม่ายังสามารถควบคุมสถานการณ์ความวุ่นวายได้ก่อนจะกวาดล้างกลุ่มนักศึกษาที่เป็นแกนนำในการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนี้ เป็นผลให้นักศึกษาพม่ากลุ่มหนึ่งเลือกที่จะลี้ภัยทางการเมืองมาอยู่ประเทศไทยและพยายามเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวพม่าเพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลทหารภายใต้ชื่อใหม่ที่ว่า SLORC (State Law and Order Restoration Council) นั้นน่ากลัวมากน้อยเพียงใด
นายพลซอ หม่อง (Saw Maung)
ผู้สถาปนาอำนาจกองทัพใหม่ภายใต้ชื่อ SLORC
ในยุคเริ่มต้นของ SLORC นั้นได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก Socialist Republic of the Union of Burma เป็น Union of Myanmar หรือ สหภาพเมียนม่าร์ เมื่อปี 1989 การเปลี่ยนชื่อครั้งนี้สะท้อนให้เห็นทั้งความเชื่อและความต้องการที่จะลบภาพพม่าเดิมที่มีประวัติศาสตร์บอบช้ำมายาวนาน กล่าวกันว่าผู้นำกองทัพพม่านั้นมีความเชื่อในเรื่องโชคลางและพึ่งบริการหมอดูในการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ในแต่ละครั้ง
เล่ามาถึงตรงนี้ เห็นทีต้องขออนุญาตพักยกไว้ก่อนนะครับ เพราะประวัติศาสตร์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของพม่าหลังจากนี้เป็นต้นไปดูจะ “เข้มข้น” และมีสีสันอยู่ไม่น้อยโดยเฉพาะการปรากฏตัวของวีรสตรีพม่ายุคใหม่นามว่า “ออง ซาน ซูจี” รวมไปถึงการย้ายเมืองหลวงของพม่าไปที่เมืองเนปิดอว์ และเมียนม่าร์ในวันนี้วันที่จะต้องเป็นประธานอาเซียนในปี 2014
เราจะมาดูกันว่าพม่าจะเปิดเมืองได้อย่างที่หวังไว้หรือไม่
…โปรดติดตามตอนต่อไปครับ….
**สงวนลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ห้ามลอกเลียนแบบหรือทำซ้ำไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง นอกจากจะได้รับอนุญาต