เนื้อหาวันที่ : 2007-05-17 08:30:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 4481 views

อยู่รอดปลอดภัยเมื่อใช้สารเคมี ตอนที่ 1

เมื่อมีการผลิตสารเคมีเพิ่มขึ้น ก็ย่อมต้องมีการใช้งาน จัดเก็บ ขนส่ง และกำจัดเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย แต่ก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะไปถึงมือผู้บริโภค ก็ต้องผ่านกระบวนการผลิต และบรรจุในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงผ่านเส้นทางของการขนส่งด้วย ดังนั้นผู้ ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการต่าง ๆ คือ ผู้ปฏิบัติงานซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสกับสารอันตรายต่าง ๆ ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน

คงต้องยอมรับกันว่า การผลิตและการใช้สารเคมีเป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของนานาประเทศ ทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา ท่านผู้อ่านทั้งหลายอาจจะตกใจ ถ้าได้รู้ว่าในปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์เคมีอันตรายอยู่บนโลกเราถึงประมาณ 650,000 ชนิด แถมยังมีการผลิตสารเคมีชนิดใหม่ ๆ กันขึ้นมาทุกวี่ทุกวัน รวมแล้วปีละไม่ต่ำกว่าร้อยชนิด และสารเคมีหลายชนิดก็เข้ามาข้องเกี่ยวกับการดำรงชีวิตประจำวันของเราอย่างใกล้ชิด ทั้งทางตรงและทางอ้อม เรียกได้ว่าเจอกันตั้งแต่ตื่นลืมตา ไปจนถึงเวลาเข้านอนเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นยาสีฟัน สบู่ โฟมล้างหน้า ครีมอาบน้ำ เครื่องสำอาง ครีมถนอมผิว น้ำยาทำความสะอาด ยาฉีดกันยุง เป็นต้น ดังนั้นเราจึงต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งจากการใช้งานที่ผิดวิธี และอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น การระเบิด อัคคีภัย การรั่วไหลของสารเคมี ตลอดไปจนถึงการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศที่เราหายใจ น้ำที่เราดื่ม หรืออาจปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่เรากิน และยังมีผลกระทบต่อต้นน้ำลำธาร ป่าไม้ ซึ่งอาจทำลายชีวิตสัตว์ป่า และเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ได้ด้วย

.

เมื่อมีการผลิตสารเคมีเพิ่มขึ้น ก็ย่อมต้องมีการใช้งาน จัดเก็บ ขนส่ง และกำจัดเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วยเช่นกัน แต่ก่อนที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะไปถึงมือผู้บริโภค ก็ต้องผ่านกระบวนการผลิต และบรรจุในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงผ่านเส้นทางของการขนส่งด้วย ดังนั้นผู้ที่จำ (ใจ) ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ ผู้ปฏิบัติงานซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการสัมผัสกับสารอันตรายต่าง ๆ ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน เช่น ลักษณะของพื้นที่ปฏิบัติงาน สภาพแวดล้อมในการทำงาน ชนิดของสารเคมีที่ใช้ ระยะเวลาในการสัมผัส ความรู้ในการปฎิบัติงาน วิธีหรือมาตรการในการป้องกันอันตรายจากสารเคมี ฯลฯ และที่สำคัญก็คือ ความใส่ใจของนายจ้างที่มีต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นนั่นเอง

.

ส่วนเนื้อหาที่เราจะพูดคุยกันในครั้งนี้ จะเป็นเรื่องของแนวทางความปลอดภัยในมุมกว้าง ๆ ที่หวังว่าคุณผู้อ่านจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในงานส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งโดยปกติแล้วในแต่ละสถานประกอบการ ย่อมจะต้องมีการเขียนแผนงาน หรือโปรแกรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอยู่แล้ว โดยแผนเหล่านี้จะต้องมีส่วนหนึ่งที่ระบุถึง การป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการสัมผัสสารเคมีหรือวัตถุอันตรายของผู้ปฏิบัติงาน และมีมาตรการในการป้องกันและควบคุมอันตรายก่อนที่จะเกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังรวมไปถึงแผนรับเหตุฉุกเฉิน ที่จะรองรับเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้จากสารเคมีอันตราย และเนื่องจากสถานที่ปฏิบัติงานในแต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน ดังนั้นแผนงานที่ใช้ย่อมต้องแตกต่างกันออกไปด้วยเช่นกัน ตามข้อจำกัดในการทำงาน ตลอดจนลักษณะเฉพาะตัวของสถานประกอบการแต่ละแห่ง จึงต้องมีการพิจารณาแผนงานให้เหมาะสมกับสถานที่ปฏิบัติงาน รวมถึงสะดวกและปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติงานให้มากที่สุดอีกด้วย

.

การตระหนักและการรับรู้

ก่อนที่เราจะรู้ว่าสารเคมีเหล่านี้จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างไรได้บ้างในสถานที่ปฏิบัติงาน เราควรที่จะรู้ว่าสารเคมีเหล่านั้นมีลักษณะอย่างไร และมีข้อมูลความปลอดภัยใดที่เกี่ยวกับสารเคมีนั้น ๆ บ้าง เช่น

- มีระบบบริหารจัดการคลังสารเคมีเหล่านี้หรือไม่

- ใช้งานหรือจัดเก็บสารเคมีไว้ที่ใด

- สารเคมีเหล่านี้ใช้ทำอะไร ในส่วนงานใดบ้าง

- สารเคมีเหล่านี้มีฉลากติดที่ภาชนะบรรจุหรือไม่

- ฉลากที่ติดอยู่มีสภาพสมบูรณ์และให้ข้อมูลเพียงพอหรือไม่

.

หากมีระบบบริหารจัดการคลังสารเคมีที่ดี และมีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ ก็จะทำให้สามารถค้นหาข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถตัดสินใจสั่งซื้อ ผลิต หรือดำเนินการใด ๆ กับสารเคมีที่ใช้งานอยู่ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะต้อง

.

- ทำการตรวจสอบสารอันตรายทุกชนิดที่รับเข้ามา และมั่นใจว่ามีฉลากติดอย่างถูกต้อง ภาชนะบรรจุต้องไม่เสียหายหรือรั่วไหล และต้องไม่ยอมรับสินค้าที่เสียหายหรือไม่มีฉลากติดเข้ามาไว้ในคลังสินค้า

- ระบุวันหมดอายุของสารเคมีทุกตัว และสามารถที่จะเคลื่อนย้ายไปกำจัดได้อย่างถูกต้อง

- มีแผนผังการจัดวางหรือตำแหน่งของสารเคมีที่จัดเก็บแต่ละประเภท

- มีการติดป้ายเตือนถึงพื้นที่ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษหรือต้องห้าม

- ตรวจสอบพื้นที่ทั้งหมดอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อมองหาสัญญาณของการรั่วไหล การสลายตัว การวางผิดตำแหน่ง หรือสารเคมีที่หมดอายุ หรือมีสภาพการจัดเก็บที่ไม่ปลอดภัย เมื่อทำการตรวจสอบสารเคมีควรมองหาลักษณะที่ผิดไปจากเดิม เช่น สี ความขุ่น จับตัวเป็นก้อน ความชื้นในของแข็ง ตะกอนในของเหลว สัญญาณแรงดันที่เพิ่มขึ้น เช่น การบิดเบี้ยวของภาชนะบรรจุและการที่สารเคมีหมดอายุ เมื่อตรวจสอบชั้นวางและตู้เก็บสารเคมีให้มองหาสัญญาณการหกรั่วไหล การกัดกร่อน การแตกหัก รอยด่าง และฝุ่น เป็นต้น

.

เมื่อมีระบบบริหารจัดการคลังสารเคมีที่ดีแล้ว สิ่งที่สำคัญอันดับต่อไป ก็คือ ข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสารเคมีอันตรายทุกตัวที่ใช้งาน ผลิตหรือจัดเก็บอยู่ เพื่อที่จะได้สื่อสารไปยังผู้ปฏิบัติงานถึงความถูกต้องและสิ่งที่ควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย โดยมีข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้ คือ

.

1. ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย

.

1.1 ประเภทของสารเคมีอันตราย ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าได้มีการแบ่งกลุ่มสารหรือวัตถุอันตรายออกเป็น 9 กลุ่ม คือ

1) วัตถุระเบิด

2)  ก๊าซ

2.1) ก๊าซไวไฟ / ภายใต้ความดัน / ละลาย / ทำความเย็น

2.2) ก๊าซไม่ไวไฟอยู่ในสถานะของเหลว / ภายใต้ความดัน / ละลาย / ทำความเย็น

2.3) ก๊าซพิษ / อยู่ในส่วนของเหลว / ภายใต้ความดัน / ละลาย / ทำความเย็น

3) ของเหลวไวไฟ

4) ของแข็งไวไฟ

4.1) ของแข็งไวไฟ

4.2) สารที่มีความเสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้เอง

4.3) สารเมื่อสัมผัสน้ำให้ก๊าซไวไฟ

5) สารออกซิไดซ์และสารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์

6) สารพิษและสารทำให้ติดเชื้อ

7) สารกัมมันตรังสี

8) สารกัดกร่อน

9) สารอันตรายเบ็ดเตล็ด

.

ควรที่จะจำแนกและระบุว่าสารเคมีอันตรายทุกตัวที่ใช้งาน ผลิต หรือจัดเก็บอยู่เป็นสารอันตรายประเภทใด รวมถึงความหมายของสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่แสดงถึงกลุ่มของสารเคมีอันตรายชนิดนั้น ๆ และที่สำคัญระบุ หรือมีแผนภาพแสดงถึงการเคลื่อนย้ายของสารเคมีไปยังกระบวนการต่าง ๆ ในการทำงาน

.

1.2 ระบุถึงคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของสารเคมีแต่ละตัว เช่น

- ชื่อทางเคมี สูตรเคมี และชื่อสามัญหรือชื่อพ้อง

- สิ่งที่ปรากฏ ระบุสถานะทางกายภาพ (ของแข็ง,ของเหลว,แก๊ส) และสี

- กลิ่น ถ้ากลิ่นสามารถรับรู้ได้ ต้องให้คำอธิบายไว้ด้วย   
- ค่า pH แสดงค่าจาก 0 – 14 (รวมถึงปริมาณความเข้มข้น)     
.
0-2 : กรดแก่   
3-5 : กรดอ่อน  
6-8 : กลาง      
9-11 : เบสอ่อน      

12-14 : เบสแก่

.

โดยที่สารหรือสารผสมที่มีค่า pH 0-2 หรือ 11.5-14 อาจถูกแบ่งประเภทว่ามีคุณสมบัติกัดกร่อน

- จุดเดือด/ช่วงเดือด ระบุอุณหภูมิที่วัตถุเปลี่ยนจากของเหลวเป็นก๊าซ

- จุดหลอมเหลว/ช่วงหลอมเหลว ระบุอุณหภูมิที่วัตถุที่เป็นของแข็งเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว

- จุดวาบไฟ เป็นอุณหภูมิต่ำสุดที่กระบวนการของของแข็งหรือของเหลวเพียงพอที่จะก่อตัวเป็นไอผสมกับอากาศที่ไวไฟใกล้กับพื้นที่ผิวดังนั้นจึงสามารถจุดติดไฟโดยประกายไฟหรือเปลวไฟที่ความกดบรรยากาศ  

- ความสามารถในการติดไฟ (ไวไฟ) อธิบายความสามารถที่วัตถุจะติดไฟและลุกไหม้โดยง่าย ของแข็งหรือของเหลวที่มีจุดวาบไฟเกินกว่า 21o C แต่น้อยกว่า 55 o C จัดว่าเป็นสารไวไฟ   

 .

ไวไฟอย่างสูง เกี่ยวข้องกับสารหรือสารผสมที่มีจุดวาบไฟเกินกว่า 0 o C แต่ต่ำกว่า 21 o C เช่นเดียวกับของแข็งที่ไวไฟในอากาศหรือจุดติดไฟได้โดยง่าย หลังจากสัมผัสกับแหล่งจุดติดไฟและลุกไหม้ต่อไป หลังจากเคลื่อนย้ายแหล่งจุดติดไฟไปแล้ว     

ไวไฟอย่างมาก เกี่ยวข้องกับของเหลวที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 0 o C และจุดเดือดต่ำกว่า 35 o C จนถึงก๊าซไวไฟเหลวเช่น LPG

.

- ความสามารถในการติดไฟโดยอัตโนมัติ วัตถุบางชนิดมีลักษณะจุดติดไฟได้ในอากาศที่มีประกายไฟหรือเปลวไฟ โดยอุณหภูมิการจุดติดไฟอัตโนมัติ คือ อุณหภูมิต่ำสุดที่วัตถุจะเกิดการจุดติดไฟได้เองโดยปราศจากแหล่งจุดติดไฟภายนอกใด ๆ

.

- คุณสมบัติในการระเบิด ระบุความเข้มข้นสำหรับขีดจำกัดของการระเบิดต่ำสุด-สูงสุด ซึ่งจะแสดงให้เห็นเป็นเปอร์เซ็นต์โดยปริมาณในอากาศ เช่น สำหรับ Xylene 1.1 – 7.0 % และสำหรับเบนซิน 1.2 – 8.0% เป็นต้น

- คุณสมบัติในการออกซิไดส์ สารและสารผสมเมื่อยามทำปฏิกิริยาโดยเฉพาะกับวัตถุไวไฟ จะสามารถก่อให้เกิดและคงไว้ซึ่งความร้อน

- ความดันไอ อธิบายความโน้มเอียงของวัตถุในการก่อตัวเป็นไอ เช่น การประเมินค่าของการสูดดม หรืออันตรายจากไฟ ความดันไอจะแสดงที่อุณหภูมิ 20 o C

.

- ความหนาแน่นสัมพัทธ์ ความหนาแน่นของสารหรือสารผสมเปรียบเทียบกับความหนาแน่นของน้ำ (= 1) โดยวัตถุจะลอยเหนือน้ำถ้าความหนาแน่นสัมพัทธ์น้อยกว่า 1 และจะจมเมื่อความหนาแน่นสัมพัทธ์มากกว่า 1

- ความสามารถในการละลาย ระบุความสามารถในการละลายน้ำ ถ้าไม่ทราบค่าที่แน่นอนให้ใช้คำว่า น้อย, ปานกลาง, มาก

- สัดส่วนสัมประสิทธิ์ หมายถึงอัตราส่วนของความสามารถในการละลายของสารหรือสารผสม (n-octanal) ในน้ำ ซึ่งโดยมากจะแสดงที่ 20 o C ถ้าไม่มีการระบุเป็นอย่างอื่น

- เสถียรภาพและปฏิกิริยา ระบุความมีเสถียรภาพของสารหรือสารผสมและโอกาสที่จะเกิดปฏิกิริยาอันตรายภายใต้สภาวะต่าง ๆ รวมถึงระบุสภาวะที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น อุณหภูมิที่สูงหรือต่ำ ความดัน ผลกระทบจากแสงหรือการกระทบกระเทือน ซึ่งจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาอันตรายและถ้าเป็นไปได้เขียนคำพรรณนาสั้น ๆ แต่ได้ใจความ

.

1. ระบุวัตถุที่เข้ากันไม่ได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาอันตรายถ้ามีการสัมผัสกับสาร หรือสารผสมที่ต้อง ใส่ใจและระมัดระวัง เช่น อาจจะเป็น น้ำ อากาศ เบส ตัวทำละลายออกซิไดส์ ฯลฯ

2. ระบุผลิตผลอันตรายจากการสลายตัว

3. ระบุความจำเป็นที่ต้องมีสิ่งที่ทำให้เสถียรภาพหรือโอกาสของปฏิกิริยาที่จะปล่อยความร้อนออกมา รวมถึงสังเกตลักษณะของกายภาพที่เปลี่ยนไป เช่น สี

.

- ข้อมูลอื่น ๆ ให้ข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความปลอดภัย เช่น ความหนาแน่นไอ อัตราการระเหย การนำไฟฟ้า ความหนืด ฯลฯ

.

2. ข้อมูลความเป็นอันตราย  

2.1 ความเสี่ยงในการทำงานร่วมกับสารเคมีอันตราย ความเสี่ยงจากการที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีจากการใช้งาน เคลื่อนย้าย จัดเก็บ ขนส่งหรือกำจัด แล้วก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ทั้งนี้ความเสี่ยงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมีว่ามีความเข้มข้นหรือคุณสมบัติที่จะก่อให้เกิดอันตรายอยู่ในระดับใด รวมถึงระยะเวลาและความถี่ที่ต้องสัมผัสด้วย

.

2.2 อันตรายด้านกายภาพ หมายถึง การก่อให้เกิดการระเบิด เพลิงไหม้ ปฏิกิริยาอันรุนแรงปลดปล่อยความร้อนและก๊าซพิษออกมา โดยมากแล้วก็จะเป็นของเหลวที่ไหม้ไฟได้ เป็นก๊าซอัด สารระเบิด สารไวไฟ สารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์ ตัวออกซิไดซ์ Pyrophoric (สารเคมีที่สามารถจุดติดไฟได้ด้วยตัวเองในอากาศที่อุณหภูมิ 130 o F หรือ 54.40 o C) สารไม่เสถียรหรือทำปฏิกิริยากับน้ำอันตรายด้านกายภาพที่พบอยู่บ่อย ๆ คือ อันตรายจากไฟไหม้ ในกรณีนี้เราจะใช้จุดวาบไฟ เป็นตัววัดเบื้องต้นของสารเคมีที่เป็นของเหลว และมีแนวโน้มไปในทางที่จะเกิดการลุกไหม้

.

ส่วนของเหลวที่สามารถเผาไหม้และมีความไวไฟนั้น ความสามารถของสารเคมีทั้งลุกไหม้หรือช่วยให้เกิดการลุกไหม้จัดเป็นอันตรายด้านกายภาพ ตัววัดเบื้องต้น 2 ตัว ที่ของเหลวจะลุกไหม้ได้ คือ จุดวาบไฟและอุณหภูมิที่จะจุดติดไฟได้เอง

.

2.3 อันตรายต่อสุขภาพ หมายถึง การก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังต่อผู้ปฏิบัติงานที่สัมผัส เช่น ก่อให้เกิดมะเร็ง ระคายเคืองและกัดกร่อน (ดวงตา ผิวหนัง และเยื่อบุที่เป็นเมือก) กระตุ้นความไวต่อความรู้สึก ปฏิกิริยาภูมิแพ้ เป็นพิษทำลายอวัยวะสำคัญ ๆ ของร่างกาย (ตับ ไต ปอด หัวใจ ประสาท สมอง) หรือระบบสืบพันธุ์ รวมถึงมีผลกระทบต่อระบบสร้างเม็ดเลือด

.

2.4 ช่องทางในการสัมผัส โดยทั่วไปแล้วมีอยู่ 4 ช่องทางคือ

1) การสูดดม

2) การดูดซึมผ่านผิวหนังและดวงตา

3) การกลืนกิน

4) การฉีด (เข้าเส้นเลือดดำ กล้ามเนื้อ ใต้ผิวหนัง เยื่อเมมเบรนซึ่งอยู่ภายในผิวหนังของช่องท้อง)

.

นอกจากนี้แล้ว อันตรายจากสารเคมียังสามารถที่จะถ่ายโอนหรือมีผลกระทบต่อบุตรที่อยู่ในครรภ์ได้อีกด้วย ซึ่งผ่านทางมารดาที่สัมผัสกับสารเคมีนั้น ๆ สารเคมีมากมายหลายชนิดจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากและตอบสนองเร็วที่สุดเมื่อสารนั้นแล่นตรงเข้าสู่การไหลเวียนเลือด

.

โดยมากแล้วสารเคมีที่ใช้ในสถานที่ปฏิบัติงานอาจจะกระจัดกระจายในอากาศในรูปของฝุ่น หมอก ควัน ก๊าซ หรือไอ ซึ่งเราอาจสูดดมเข้าไป โดยวิธีนี้ถึงแม้ว่าผู้ปฏิบัติงานไม่ได้ใช้งานแต่อยู่ในรัศมีการเข้าถึงก็มีโอกาสที่จะสัมผัสได้ ในการใช้สารเคมีโดยปราศจากการระมัดระวังที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องเสี่ยงกับการดูดซับสารเคมีในจำนวนที่เป็นอันตรายเข้าสู่ผิวหนัง โดยมากแล้วจะอยู่ในรูปของเหลว ฝุ่นก็อาจดูดซึมผ่านผิวหนังได้ถ้าผิวหนังเปียกชื้น เช่น เหงื่อ โดยสารเคมีแต่ละชนิดก็จะมีความสามารถในการซึมซาบเข้าสู่ผิวหนังแตกต่างกัน สารบางชนิดผ่านเข้าสู่ผิวหนังโดยเราไม่รู้สึกตัว การดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังจะเป็นลำดับสองรองจากการสูดดม ผิวหนังชั้นนอกที่ทำหน้าที่ป้องกันอาจถูกทำให้อ่อนแอลงโดยสารเคมี ดังนั้นจึงปล่อยให้สารเคมีเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย ดวงตาอาจจะดูดซึมสารเคมีไม่ว่าจากการกระเด็นหรือจากไอ สารเคมีสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านปากในรูปของก๊าซ ฝุ่น ไอ ควัน ของเหลว หรือของแข็ง หรืออาหาร บุหรี่ที่ปนเปื้อนจากมือที่สกปรก การกิน ดื่ม หรือสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามในพื้นที่ปฏิบัติงานที่มีการใช้งานสารเคมีอันตราย และไม่ว่าสารเคมีจะเข้าสู่ร่างกายทางไหนก็ตามแต่ มันก็จะสามารถเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปทั่วร่างกายได้ ซึ่งสามารถที่จะทำความเสียหาย ณ ตำแหน่งทางที่เข้าตลอดไปจนถึงอวัยวะเป้าหมายของการทำลาย

.

2.5 ผลกระทบจากสารเคมี ขึ้นอยู่กับความเป็นพิษและรูปแบบการสัมผัสกับสารเคมีนั้น ๆ ความเป็นพิษจัดเป็นสมบัติทางเคมีอย่างหนึ่งของสารเคมี ขณะที่การสัมผัสขึ้นอยู่กับวิธีที่ใช้สารเคมี ระดับของการสัมผัสขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารเคมีอันตรายและช่วงระยะเวลาที่สัมผัส มีสารหลายชนิดที่ไม่มีสัญญาณเตือนถึงอันตรายจำพวกกลิ่นแม้ว่าจะมีความเข้มข้นสูงก็ตาม

.

2.6 ผลกระทบแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง ผลกระทบแบบเฉียบพลันอาจเกิดขึ้นหลังจากการสัมผัสเป็นระยะเวลาสั้น ๆ และปรากฏผลทันที ส่วนผลกระทบแบบเรื้อรังมักจะจำเป็นต้องมีการสัมผัสซ้ำและจะสังเกตเห็นได้ช้าระหว่างการสัมผัสครั้งแรกและเมื่อเกิดปรากฏผลเสียต่อสุขภาพ สารเคมีอาจก่อให้เกิดผลกระทบทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง และอาจส่งผลให้บาดเจ็บอย่างถาวร

.

การได้รับบาดเจ็บจากการสัมผัสกับสารเคมีสามารถเป็บแบบชั่วคราวและฟื้นฟูกลับได้ มักจะหายเมื่อหยุดสัมผัสกับสารนั้น การสัมผัสกับตัวทำละลายอาจก่อผลกระทบให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง ปวดหัว หรือคลื่นเหียน ซึ่งผลกระทบนี้สามารถเป็นได้ทั้งเฉียบพลันและชั่วคราว ตัวทำละลายสามารถก่อให้เกิดผลกระทบแบบเรื้อรังร่วมด้วยและส่งผลให้ฟื้นฟูกลับมาไม่ได้โดยอาจทำให้ระบบประสาทเสียหายอย่างถาวร

.

การระคายเคือง-สามารถที่จะฟื้นฟูกลับได้จากปฏิกิริยาของการอักเสบ เช่น การสัมผัส Acetic acid, Ammonia และ Isopropyl alcohol มักจะเกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังและดวงตา แต่สามารถที่จะเกิดขึ้นที่เยื่อบุที่เป็นเมือกด้วยหรือเนื้อเยื่ออื่นๆ ที่สารเคมีสัมผัส รวมถึงปากหรือลำคอจะระคายเคืองเมื่อกลืนกินหรือว่าเป็นจมูกหรือปอดถ้าสูดดมเข้าไป

.

การกัดกร่อน-เนื้อเยื่อที่บาดเจ็บจะฟื้นฟูกลับมาไม่ได้ โดยจะละลายหรือเปลี่ยนโครงสร้างของเนื้อเยื่อจะฟื้นฟู กลับมาไม่ได้ ณ บริเวณที่สัมผัสภายในระยะเวลา 4 ชั่วโมงจะสังเกตุเห็นเป็นแผลเปื่อย เซลล์ตาย และกลายเป็นแผลเป็น โดยมักจะเป็นผิวหนังหรือดวงตาแต่รวมถึงเยื่อบุที่เป็นเมือกด้วย (เช่น ปาก หรือหลอดอาหารถ้ากลืนกิน และจมูกหรือหลอดลมถ้าสูดดม) สารที่เป็นในกรณีนี้ทั่วไปก็คือ กรดและเบส โดยเบสแก่มักจะมีฤิทธิ์กัดกร่อนมากกว่ากรด

.

2.7 ผลกระทบเฉพาะจุด-ผลกระทบต่อระบบในร่างกาย สารอันตรายอาจก่อให้เกิดผลกระทบเฉพาะจุด โดยผลกระทบเฉพาะจุดแบบเฉียบพลันอาจรวมการบาดเจ็บจากการกัดกร่อนของกรดและเบส หรือความเสียหายที่ปอดจากการสูดดมก๊าซ เช่น Phosgene และ Nitrogen oxides ขณะที่ก๊าซหลายชนิดที่ก่อผลเสียหายเฉพาะเมื่อมีการสูดดมซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลายาวนาน โดยมากก็จะเป็นก๊าซที่มีความเข้มข้นต่ำ ๆ การระคายเคืองต่อเนื่องของระบบหายใจสามารถเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสก๊าซ เช่น Sulphur oxides, Hydrogen fluoride และHydrogen chloride เมื่อสารอันตรายเข้าสู่การไหลเวียนของเลือด อาจจะกระจายไปทั่วทุกส่วนของร่างกาย อาจถึงตับซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่สุดในการล้างพิษของร่างกาย โดยที่ตับพยายามที่จะเปลี่ยนตัวกระทำที่เป็นพิษให้มีความเป็นพิษน้อยลงหรือให้เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ขบวนการนี้เรียกว่า "Metabolism" โดยสารบางชนิด เช่น Alcohol และ Carbon tetrachloride สามารถที่จะทำความเสียหายต่อตับได้ โดยปกติร่างกายพยายามที่จะขับสารเคมีที่ไม่ต้องการออกมา โดยไตจะกรองสารเหล่านี้จากการไหลเวียนของเลือด ซึ่งจะเป็นหนทางที่สำคัญในการที่ร่างกายจะขับสารพิษออก แต่ในการกระทำเช่นนี้ ไตจะได้รับความเสียหายจากสารพิษ เช่น Carbon tetrachloride, Ethylene glycol และ Carbon disulphide โดยเฉพาะ Cadmium จะทำอันตรายอย่างถาวรต่อไต ส่วนวิธีอื่น ๆ ที่จะขับของเสียออกมา เช่น การถ่ายอุจจาระ เหงื่อ ส่วนระบบประสาทจะไวต่อสารเคมี ผลกระทบจะก่อความเสียหายต่อระบบประสาทส่วนกลาง หรือเส้นประสาทซึ่งจะส่งกระแสประสาทไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

.

ตัวทำละลายอินทรีย์มักจะถูกใช้กันอย่างทั่วไป และรู้จักกันดีว่าสามารถที่จะทำความเสียหายต่อระบบประสาท เช่น Tetraethyl lead, A gasoline additive ซึ่งจะก่อความเสียหายกับผิวหนังตรงบริเวณที่สัมผัส หลังจากนั้นจะถูกดูดซึมและส่งผ่านเข้าไปในร่างกาย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลางและอวัยวะส่วนอื่น ๆ มีสารหลายชนิดที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ คือ Carbon disulphide, Mercury, Lead, Manganese และสารหนู

.

2.8 อวัยวะของร่างกายที่เป็นเป้าหมายสำคัญในการทำลายของสารเคมีอันตราย ระดับความรุนแรงของผลกระทบที่เป็นพิษในแต่ละส่วนของอวัยวะจะไม่เท่ากัน โดยมากแล้วจะมีอวัยวะหนึ่งถึงสองส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งจะถูกอ้างอิงว่าเป็นอวัยวะเป้าหมายของความเป็นพิษของสารต่าง ๆ ระบบประสาทส่วนกลางจัดเป็นอวัยวะเป้าหมายของความเป็นพิษบ่อยครั้งที่สุดที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบกับระบบในร่างกาย ส่วนการไหลเวียนเลือด ตับ ไต ปอด และผิวหนังจะมีความถี่รอง ๆ ลงมา ในขณะที่กล้ามเนื้อและกระดูกจะเป็นอวัยวะเป้าหมายสำหรับสาร 2 –3 ชนิด และสารหลายชนิดยังสามารถที่จะทำความเสียหายต่อระบบสืบพันธุ์ทั้งเพศชายและเพศหญิง

.

1) การเป็นพิษต่อระบบประสาท (Neurotoxins) ระบบประสาทจะมีส่วนสำคัญโดยตรงต่อหลาย ๆ กิจกรรมของร่างกาย ดังนั้นเมื่อระบบประสาทมีการเปลี่ยนแปลงจะปรากฏผลกระทบทั่วร่างกาย กระแสประสาทจะส่งผ่านทั่วร่างกายโดยหน่วยประสาท ซึ่งความเป็นพิษจะทำความเสียหายต่อเซลล์ของระบบประสาทส่วนกลาง (สมองและไขสันหลัง) หรือระบบประสาทส่วนปลาย (ประสาทที่อยู่นอกเหนือจากระบบประสาทส่วนกลาง) จะเกิดผลกระทบ เช่น โรคเส้นประสาท เซลล์ประสาทเสียหาย ไขมันหุ้มส่วนกลางของเซลล์ประสาทเสียหาย และรบกวนการส่งผ่านกระแสประสาท  สัญญาณและอาการที่แสดงถึงความเป็นพิษต่อระบบประสาทจะรวมถึง การง่วงซึม พฤติกรรมเปลี่ยนไป การทำงานของศูนย์กลางการบังคับหรือการสั่งการเคลื่อนไหวช้าลงหรือเสียหาย ตัวอย่างสารเคมีเช่น Carbon disulfide, Ethlene oxide, Hexane ตะกั่วและปรอท เป็นต้น  ระบบประสาทจะไวต่อตัวทำละลายอินทรีย์ โลหะบางชนิดโดยเฉพาะโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท และมังกานีส ส่วนยาฆ่าแมลงจำพวกสารฟอสฟอรัสอินทรีย์ เช่น Malathion และ Parathion จะก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อการส่งผ่านข้อมูลในระบบประสาท เป็นเหตุนำไปสู่การอ่อนแรง อัมพาตและถึงตายได้

.

2) การเป็นพิษต่อเลือดและการสร้างเม็ดเลือด (Blood / Hematopoictic Toxin) จะเป็นพิษต่อไขกระดูกหรือการไหลเวียนเซลล์เม็ดเลือด โดยจะลดหน้าที่การทำงานของเซลล์เม็ดเลือดแดง กีดกันการส่งผ่านออกซิเจนของเนื้อเยื่อ ระบบเม็ดเลือดจะมีองค์ประกอบสำคัญของเลือด คือ เซลล์และเกล็ดเลือด โดยความเป็นพิษจะทำให้มีผลกระทบในการไปยับยั้งการสร้างและรบกวนหน้าที่การทำงานขององค์ประกอบของเลือด โดยในส่วนการไหลเวียนของเลือดจะมีผลกระทบโดยตรงต่อเม็ดเลือดแดงและจะเกาะติดไปกับเม็ดเลือดแดง และรบกวนการขนส่งออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกาย ตัวอย่างสารเคมี เช่น Carbon monoxide, Sodium nitrite และ Hydrogen sulfide ส่วนสารหนู เบนซิน และ Chlordane สามารถที่จะก่อให้เกิดการลดการสร้างตัวขององค์ประกอบของเลือดทั้งหมด นอกจากนั้น Benzene, Chloramphenicol และPhenylbutazone อาจก่อให้เกิดมะเร็งต่อเนื้อเยื่อของเม็ดเลือด ในการไหลเวียนเลือดจัดเป็นอวัยวะเป้าหมายของตัวทำละลาย ปกติเม็ดเลือดจะถูกผลิตในไขกระดูก ตัวที่จะละลายไขกระดูก คือ Benzene สัญญาณแรก คือ การเปลี่ยนแปลงในเม็ดเลือดที่เรียกว่า “Lymphocytes” ส่วนสารตะกั่วที่อยู่ในรูปโลหะหรือสารประกอบในโลหะเป็นสารเคมีตัวอย่างคลาสสิกที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเลือด โดยตะกั่วที่อยู่ในเลือดอาจจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ความเป็นพิษเรื้อรังของตะกั่ว จะส่งผลให้ไปลดความสามารถของเลือดในการนำออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นสภาวะที่รู้จักกันดี คือ “anaemia”

.

3) การเป็นพิษต่อตับ (Hepatotoxin) ตับเป็นอวัยวะในร่างกายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีหน้าที่หลากหลายประการ เป็นโรงงานในการทำให้สะอาด ซึ่งจะหยุดสารที่ไม่ต้องการในเลือด ตับจัดว่าเป็นอวัยวะเป้าหมายสำหรับสารเคมีหลายชนิดเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงมากและมีบทบาทสำคัญในกระบวนการ Metabolism การมีสัญญาณของการเป็นพิษต่อตับจะรวมถึงการเป็นดีซ่าน และตับโตผิดปกติ นอกจากนั้นยังมีผลกระทบถึงน้ำดีในกระเพาะปัสสาวะและท่อน้ำดีด้วย มีอาการของตับอักเสบ โรคต่อมไขมันเสื่อม เนื้อตับตาย การมีสารน้ำดีมากผิดปกติและไปจับอยู่ตามผิวหนัง โรคตับแข็ง และการเป็นมะเร็งตับ โดยอาการของตับเมื่อได้รับผลกระทบจะแสดงในระยะหนัก โดยตัวอย่างสารเคมีที่เป็นพิษต่อตับ เช่น Carbon tetrachloride, Ethyl alcohol, Halothane ,Vinyl chloride และสารหนู เป็นต้น

.

4) การเป็นพิษต่อไต (Nephrotoxin) ไตเป็นส่วนสำคัญของระบบปัสสาวะของร่างกาย มีหน้าที่ขับถ่ายของเสียซึ่งเลือดลำเลียงมาจากหลากหลายอวัยวะของร่างกาย รักษาระดับสมดุลของของไหลและอิเล็กโตรไลต์ในร่างกายและผลิตเอนไซม์เฉพาะและฮอร์โมนที่จะช่วยปรับแรงดันเลือด ค่า pH แคลเซียม และการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ไตจัดว่าเป็นอวัยวะเป้าหมายเนื่องจากมีปริมาณของเลือดไหลเวียนผ่านไตเป็นจำนวนมาก  ดังนั้นการมีสัญญาณการเป็นพิษต่อไตจะรวมถึงอาการบวมน้ำ ภาวะปัสสาวะมีโปรตีน ความดันสูงเกิน ความไม่สมดุลของของไหลและอิเลคโตรไลต์ โลหิตจาง ไตอักเสบ และจนถึงไตวาย ตัวอย่างสารเคมีที่เป็นพิษ เช่น ตัวทำละลายต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและทำให้หน้าที่การทำงานของไตเสียหาย โดยสารที่อันตรายที่สุดต่อไต คือ Carbon tetrachloride รวมถึงน้ำมันสนในปริมาณมาก ๆ ก็ทำอันตรายต่อไตได้เช่นกันที่เราเรียกกันว่า “Painter ‘s Kidney“  ส่วนสารอื่น ๆ ที่ทำอันตรายต่อไต เช่น โลหะหนัก (โครเมียม ตะกั่ว ปรอท  แคดเมียมและยูเรเนียม) รวมถึง Halogenated hydrocarbon โดยสารเคมีบางชนิดจะเกิดปฏิกิริยาอย่างเฉียบพลันแต่มีหลายตัวที่จะสะสมเป็นอาการเรื้อรัง

.

5) การเป็นพิษต่อระบบหายใจ (Respiratory Toxin) จะเกิดผลกระทบต่อปอดและส่วนต่าง ๆ ของระบบหายใจ โดยปอดจัดว่าเป็นเส้นทางหลักซึ่งสารพิษจะเข้าสู่ร่างกายในสถานที่ปฏิบัติงาน จึงมักเป็นอวัยวะแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น หมอกควัน ของโลหะ ไอของตัวทำละลายและกาซที่กัดกร่อน เมื่ออนุภาคฝุ่นของสารบางชนิดถูกสูดดมเข้าสู่ปอดจะไม่สามารถขจัดออก ซึ่งจะเกาะติดแน่นในปอด จะก่อให้เกิดสภาวะที่เรียกว่าโรคปอดแข็ง (Pneumoconiosis) จัดว่าเป็นปัญหาสำหรับผู้ปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นของซิลิกา (ควอตซ์) และแร่ใยหิน (Asbestos) หน้าที่การทำงานของระบบหายใจคือส่งผ่านออกซิเจนไปยังกระแสเลือดและขจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากเลือด ดังนั้นความเสียหายจะเกิดยังเนื้อเยื่อของระบบหายใจจะเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนก๊าซกับเลือด ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการทำงานของเนื้อเยื่อทั้งหมดทั้งร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสมองและหัวใจ สามารถที่จะเกิดขึ้นกับระบบหายใจส่วนบน (จมูก คอหอย กล่องเสียง และหลอดลม) หรือระบบหายใจส่วนล่าง (หลอดลมใหญ่ หลอดลมฝอย และถุงลม) ผลกระทบจากความเป็นพิษต่อระบบหายใจ เช่น การระคายเคืองปอด โรคหืด โรคหลอดลมอักเสบ การ

.
พองลมของเนื้อเยื่อต่าง ๆ โรคปอดแข็ง หรือมะเร็งปอด

ผลกระทบแบบเฉียบพลันระคายเคืองปอด

ผลกระทบเรื้อรังเกิดเส้นใยหรือพังผืดจำนวนมากที่ปอด

ตัวอย่างสารเคมี เช่น แร่ใยหิน ซิลิกา Formaldehyde, Nitrogen dioxide เป็นต้น

.

6) การเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ (Reproductive Toxin) จะรวมถึงการเป็นหมัน การแท้ง การคลอดผิดปกติ อัตราการตายของลูกเพิ่มขึ้น และมะเร็งในลูก โดยสารเคมีจะส่งผลกระทบต่อโครโมโซม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและมีผลกระทบกับทารกในครรภ์ (ผิดรูป-วิรูป) และเซลล์กำเนิด (สเปิร์มและไข่) โดยผลกระทบจะแสดงออกในช่วงกว้าง เช่น การเป็นหมัน การลดสมรรถภาพทางเพศ ทำให้คลอดก่อนกำหนด หรือแท้ง ลูกพิการ เปลี่ยนแปลงโครโมโซม เด็กที่เกิดมาไม่แข็งแรงเป็นโรคง่ายรวมถึงการเป็นมะเร็งด้วย ตัวอย่างสารเคมี เช่น ตะกั่ว 1,2-Dibromo-3-chloropropane (DBCP) เป็นต้น โดยสามารถที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบสืบพันธ์ทั้งในเพศชายและหญิง นอกจากนั้นจะยังทำให้ตั้งครรภ์ได้ยาก ทารกตายตั้งแต่ในครรภ์ การหน่วงพัฒนาการของการสร้างอวัยวะของลูกในครรภ์และทำให้เกิดมาไม่สมบูรณ์ เช่น เพดานโหว่ หรือไม่มีแขนขา เป็นต้น ซึ่งเป็นผลจากสารเคมีที่เข้าไปมีผลกระทบโดยตรงกับเซลล์ของตัวอ่อนก่อให้เกิดเซลล์ตายหรือเสียหายนำไปสู่การสร้างอวัยวะที่ผิดรูป

.

7) การทำอันตรายต่อผิวหนัง - กัดกร่อน ระคายเคือง ภูมิแพ้ เม็ดสีเปลี่ยนแปลง และมะเร็ง (Cutaneous) จะส่งผลให้เกิดอาการร้อนแดง การบวมแข็งของผิวหนัง ตกสะเก็ด เม็ดตุ่มพอง หรือไปจนกระทั่งเนื้อตาย ตัวอย่างสารเคมี เช่น Oil และ Halogenated aromatic hydrocarbon สามารถทำให้เกิดสิว ส่วนตะกั่วและปรอททำให้เพิ่มเม็ดสีกับผิวหนัง ส่วน Hydroquinone จะไปลดเม็ดสี ในขณะที่ Berylium และ chromium จะไปกระตุ้นให้เกิดเนื้องอก ส่วนการเป็นมะเร็งผิวหนังจะเกิดจากการสัมผัสกับแสง UV และสารหนูในสถานที่ปฏิบัติงาน  

.

8) การทำอันตรายต่อดวงตา (Eye hazard)  จากสารเคมีที่สัมผัสกับเยื่อตาขาวหรือกระจกตา หรือจากการส่งผ่านของสารเคมีที่เข้าสู่กระแสเลือดไปยังประสาทตาและเรติน่า โดยผลกระทบที่แสดงผลทันที คือ เยื่อตาขาวอักเสบหรือกระจกตาเสียหาย และเกิดอาการบวม สารเคมีที่กระเด็นเข้าหน้าอาจมีบางส่วนที่เข้าตา กรดและเบสแก่จะก่อให้เกิดการกัดกร่อนกระจกตาอย่างรุนแรงและทำให้ตาบอดอย่างถาวร ตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น Acetone และสารทำความสะอาดจะก่อให้เกิดตาพร่ามัวชั่วคราว สารเคมีบางชนิดก่อให้เกิดผลกระทบต่อดวงตาแม้จะไม่สัมผัสถูกดวงตาแต่ผ่านการสูดดมหรือกลืนกินเข้าไปและเข้าสู่กระแสเลือดตรงไปยังดวงตา เช่น 2-4-Ditrophenol (น้ำยารักษาไม้) สามารถทำให้เป็นต้อกระจกหลังจากที่สูดดมเข้าไป หรือการที่กลืนกินเอา Thallium salts (ในยาปราบศัตรูพืช) และ Methanol (Wood alcohol) จะทำให้ตาบอดได้ หรือการสัมผัสกับสารหนูและ Carbon disulfide จะมีส่วนทำให้เรติน่าเสียหายได้ 

.
9) อวัยวะเป้าหมายส่วนอื่นๆ สารเคมีที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมยังสามารถก่อให้เกิดการเป็นพิษต่ออวัยวะเป้าหมายส่วนอื่น ๆ ได้อีก เช่น  
.

- การเป็นพิษต่อหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Toxicity) เช่น Ethanol และ Cobalt จะทำให้ระบบกล้ามเนื้อหัวใจเสียหายได้ สารหนูและปรอททำให้หลอดเลือดแดงกระด้างและเกิดรอยโรคที่หลอดเลือด ส่วน Toluene และ Halogebated alkanes จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ     

.

- การเป็นพิษต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Toxicity to the Immune System) ทำให้ระบบบกพร่องหรือเสื่อม หรือมีผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติของระบบภูมิคุมกัน (เช่น ภูมิแพ้/อาการไวต่อแสง/ปฏิกิริยาคุ้มกันโรคผิดปกติต่ออวัยวะต่าง ๆ) ตัวอย่างสารเคมี เช่น Toluene diisocyanate, Formaldehyde, Silicone, Benzene, Heavy metal, Halogenated aromatic hydrocarbons และ ยาฆ่าแมลง เป็นต้น ส่วนปฏิกิริยาภูมิแพ้นั้นบางครั้งก็อาจเรียกว่าความไวต่อการกระตุ้น มักจะปรากฏเมื่อมีการสัมผัสซ้ำกับสารนั้น ๆ เมื่อถูกกระตุ้นแม้จะเป็นปริมาณน้อย ๆ ก็สามารถทำให้เกิดอาการได้ ซึ่งความรุนแรงจากการระคายเคืองผิวหนังจนถึงสาหัสบางครั้งก็อาจเสียชีวิตได้ถ้าแพ้มาก ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมีที่สัมผัส ในคนเรานั้นผิวหนังและดวงตาจัดว่าเป็นบริเวณที่บ่อยที่สุดในการตอบสนองต่อภูมิแพ้ ในขณะที่ในห้องทดลองหนูตะเภาจะมีปฏิกิริยาภูมิแพ้มากที่สุดที่ระบบหายใจ  

.
ดังนั้น ควรที่จะระบุถึงอันตรายทั้งทางด้านกายภาพและต่อสุขภาพของสารเคมีอันตรายทุกชนิดให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบด้วย แยกเป็น   
1. อันตรายด้านกายภาพ   

1.1) อันตรายจากไฟไหม้

- ของเหลวที่เผาไหม้ได้

- ของเหลวไวไฟ

- ละอองไวไฟ

- ก๊าซไวไฟ

- ของแข็งไวไฟ

- ตัวออกซิไดซ์

- Pyrophoric

.

1.2) อันตรายจากการระเบิด

- ก๊าซอัด

- สารระเบิด

.

1.3) อันตรายจากปฏิกิริยา

-สารเปอร์ออกไซด์อินทรีย์

- สารไม่เสถียร

- สารทำปฏิกิริยากับน้ำ

.

2. อันตรายต่อสุขภาพ

2.1) ผลกระทบต่อร่างกาย

- มะเร็ง

- ตัวทำที่เป็นพิษ

- เป็นพิษอย่างสูง

- กัดกร่อน

- ระคายเคือง

- ตัวกระตุ้นความไวต่อความรู้สึก

.

2.2) ผลกระทบต่ออวัยวะเป้าหมาย

- เป็นพิษต่อตับ

- เป็นพิษต่อไต

- เป็นพิษต่อระบบประสาท

- เป็นพิษต่อเลือด / เม็ดเลือด

- เป็นพิษต่อระบบหายใจ

- เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์

- เป็นอันตรายต่อผิวหนัง

- เป็นอันตรายต่อดวงตา

- เป็นอันตรายต่ออวัยวะเป้าหมายอื่น ๆ เช่น หัวใจและหลอดเลือด กระเพาะอาหารและลำไส้ ภูมิคุ้มกัน กล้ามเนื้อและโครงกระดูก ฯลฯ

.

3. แจ้งผู้ปฏิบัติงานให้ทราบถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในการใช้งานสารเคมีอันตรายในกระบวนการทำงานต่างๆ เช่น การผสมสารเคมี ปริมาณที่ใช้ การเจือจางสารเคมี การตรวจสอบฉลาก การใช้และการทำความเข้าใจกับเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) สภาวะที่ควรหลีกเลี่ยง ฯลฯ

.

- การผสมสารเคมี ห้ามทำการผสมสารเคมีจนกว่าจะแน่ใจและทราบถึงผลลัพธ์ที่แท้จริงที่จะเกิดขึ้นก่อน การผสมสารเคมีอาจก่อให้เกิดอันตรายขึ้นได้จากไฟลุกไหม้ การระเบิด หรือปลดปล่อยไอพิษออกมา เมื่อมีความรู้ในการผสมสารเคมีแล้ว ให้ทำการผสมอย่างช้า ๆ อย่าเทลงไปโดยเร็ว ให้เทจำนวนน้อย ๆ ก่อน รอสักพัก (บางปฏิกิริยาจะใช้เวลา) และสังเกตดูผลที่เกิดขึ้นแล้วค่อยทำการเทเพิ่มถ้าดูแล้วว่าไม่มีปฏิกิริยาที่รุนแรงและเป็นอันตราย ต้องระมัดระวังการปลดปล่อยออกมาของความร้อน ไอพิษ และการกระเด็น ควรที่จะกระทำในที่ซึ่งมีระบบดูดอากาศเฉพาะแห่งหรือระบบระบายอากาศ ถ้าการผสมสารเคมีเริ่มที่จะทำปฏิกิริยารุนแรงและปลดปล่อยความร้อนหรือไอพิษที่ไม่ได้คาดคิดเป็นจำนวนมาก หรือเริ่มควบคุมไม่ได้ ให้หยุดทันที เคลื่อนย้ายแหล่งความร้อนที่มีอยู่และทำการปิดอุปกรณ์ไฟฟ้า เตือนผู้ที่อยู่ใกล้เคียงและอพยพออกจากพื้นที่นั้น ถ้าจะกลับเข้าไปต้องแน่ใจว่าปฏิกิริยาได้บรรเทาเบาบางลงแล้วและเจ้าหน้าที่เทคนิคที่มีความชำนาญได้ลงความเห็นว่าปลอดภัยจากความเสี่ยงจากไฟไหม้หรืออันตรายจากการสัมผัส บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล

.

- การถ่ายเทสารเคมี เมื่อถ่ายเทสารเคมีจากภาชนะบรรจุหนึ่งไปยังอีกภาชนะบรรจุหนึ่ง ต้องทำด้วยความระมัดระวัง และถ้าถ้ามีการบรรจุใหม่ต้องทำการติดฉลากอย่างแน่นหนา และภาชนะบรรจุควรทำด้วยวัสดุที่เข้ากันได้หรือทนต่อสารเคมีที่บรรจุ ไม่ควรนำสารเคมีส่วนที่เกินหรือเหลือเทคืนใส่ภาชนะบรรจุเดิมเพราะความไม่ บริสุทธิ์ อาจเข้าไปในภาชนะแล้วอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ไม่คาดคิดได้

.

- การเปิดฝาภาชนะบรรจุสารเคมี เปิดและปิดด้วยความระมัดระวัง การเสียดสีจากการเปิดและปิดฝาภาชนะอย่างรุนแรง อาจทำให้สารเคมีที่ไวต่อการกระตุ้นระเบิดได้ รวมถึงการใช้แรงที่มากเกินไปอาจทำความเสียหายต่อผนึกเป็นผลให้เกิดการรั่วและหกตามมาภายหลังได้

.

- การเจือจางสารเคมี ในบางครั้งสารเคมีอาจถูกทำให้เจือจางด้วยตัวทำละลาย (โดยมากมักจะเป็นน้ำ) เพื่อที่จะลดความแข็งแรงของคุณสมบัติที่มีอยู่หรือลดปฏิกิริยาของสารประกอบ เมื่อทำการเจือจางให้เติมสารเคมีอย่างช้า ๆ ไปยังตัวทำละลายและคนอย่างช้า ๆ หลังจากเจือจางแล้วมักจะต้องเขียนความเข้มข้นใหม่ที่ฉลาก โดยความเข้มข้นสามารถเขียนได้หลายรูปแบบ (โมล / ลิตร หรือ กรัม / มิลลิลิตร หรือส่วน / 1ล้านส่วน หรือเปอร์เซ็นต์ ฯลฯ) โดยความเข้มข้นใหม่สามารถคำนวณจากความเข้มข้นเก่า ด้วยสูตร

.

ดังนั้น ถ้าเจือจางด้วยตัวทำละลายนอกเหนือจากน้ำ ต้องเขียนชนิดของตัวทำละลายนั้นบนฉลากด้วย

- การเคลื่อนย้ายสารเคมี การใช้รถโฟล์กลิฟและยานพาหนะอื่น ๆ ในการเคลื่อนย้ายภาชนะบรรจุสารไวไฟ สารกัดกร่อน หรือวัตถุที่มีพิษ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง โดยผู้ขับต้องได้รับการฝึกอบรมในการกระทำการด้วยความปลอดภัยและไม่ควรทำให้เกิดประกายไฟเพราะอาจจะเกิดอันตรายขึ้นได้

.

- การปล่อยทิ้งโดยไม่มีคนติดตามปฏิกิริยาและปฏิบัติการ การปล่อยทิ้งปฏิกิริยาและปฏิบัติการข้ามคืน ควรที่จะหลีกเลี่ยง โดยปฏิกิริยาควรที่จะถูกตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ถ้าปฏิบัติการต้องทำข้ามคืนต้องแน่ใจว่าจะไม่เกิดไฟหรือการระเบิดจากปฏิกิริยาที่ทิ้งไว้

.

- การไม่ทราบถึงชนิดของสารเคมี ต้องพึงระวังไว้ก่อน ถ้าไม่ทราบเพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้ ห้ามทำการสูดกลิ่นหรือสัมผัสสารเคมีเพื่อที่จะจำแจก ให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้กระทำการจะดีกว่า ถ้าสินค้าเคมีภัณฑ์ใดไม่สามารถแจกแจงหรือระบุได้อย่างปลอดภัยต้องถูกกำจัดเสมือนเป็นกากของเสียที่เป็นอันตราย

.

- พื้นที่ทำงาน ต้องสะอาดและเป็นระเบียบ พื้นห้องและพื้นผิวอื่น ๆ ต้องแห้งและไม่ลื่น สารเคมีที่หกต้องถูกทำความสะอาดโดยทันที ของเสียต้องไม่ปล่อยทิ้งให้สะสมควรที่จะถูกจัดเก็บและเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ทำงานทันที

.

- การปฏิบัติงานโดยลำพัง หลีกเลี่ยงการปฏิบัติงานโดยลำพังเมื่อใช้สารเคมีอันตราย ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้นายจ้างต้องมีการเขียนแผนงานเพื่อที่จะมั่นใจในความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงจัดพนักงานบางคนจากพื้นที่อื่นใกล้เคียงหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพื่อที่จะได้ตรวจสอบเป็นระยะ ๆ

.

- การทำความสะอาดอุปกรณ์ ในหลาย ๆ กรณี อุปกรณ์ที่เคยสัมผัสกับสารเคมีมาก่อนต้องถูกทำความสะอาดเมื่อไม่ได้ใช้งานมานาน ระมัดระวังสารเคมีที่เข้ากันไม่ได้กับน้ำหรือสารทำความสะอาดที่ใช้ หลังจากทำความสะอาดแล้วน้ำหรือตัวทำละลายที่ใช้ในการชะล้างต้องถูกบำบัดเสมือนกากของเสียอันตราย

.

- การฝึกสุขอนามัย ให้ล้างมือทุกครั้งหลังจากการทำงานกับสารเคมี ก่อนที่จะรับประทานอาหาร ไม่ควรใช้ Toluene ในการทำความสะอาดมือเพราะอาจถูกดูดซึมเข้าทางผิวหนังและก่อให้เกิดอันตรายได้ และกำหนดให้การกิน ดื่ม สูบบุหรี่รวมถึงการใช้เครื่องสำอางเป็นสิ่งต้องห้ามในทุก ๆ ที่ ที่ใช้หรือจัดเก็บสารเคมีอันตราย และควรมีสัญลักษณ์อย่างชัดเจนและแยกส่วนสำหรับพื้นที่กินหรือสูบบุหรี่

.

- การจัดเก็บสารเคมีในพื้นที่ทำงาน จัดเก็บสารเคมีให้น้อยที่สุดในพื้นที่ปฏิบัติงานเท่าที่เป็นไปได้ อาจใช้เพียงพอในแต่ละวัน และควรนำเก็บในห้องจัดเก็บเมื่อสิ้นสุดการทำงานในแต่ละวัน อาจจะใช้การเซ็นต์ชื่อสำหรับการนำเข้า-ออกสารเคมีเพื่อที่จะมั่นใจว่าได้นำกลับคืน และห้องจัดเก็บควรที่จะแยกออกจากพื้นที่ปฏิบัติงาน

.

- การได้รับความรู้ ผู้ปฏิบัติงานทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีหรืออยู่ใกล้ ต้องรับทราบถึง ตำแหน่งและวิธีการใช้อุปกรณ์ฉุกเฉินกรณีเกิดอุบัติเหตุจากสารเคมี กฎระเบียบความปลอดภัยและกระบวนการต่าง ๆ ในงานที่ทำ รวมถึงประเภทของอันตรายจากสารเคมีที่ใช้งานอยู่ ชนิดของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่จำเป็นต้องใช้และตำแหน่งของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล และไม่ควรใช้งานสารเคมีใด ๆ ตราบใดที่ยังไม่ได้อ่านและทำความเข้าใจกับเอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี (MSDS) ฯลฯ

.

เอกสารอ้างอิง   

- A Guideline on Chemical Handling & Storage by Canada Labour, safety       
- The plan for controlling chemical & biological hazard in the workplace by Manitoba    

- Hazard Determination & Hazard Communication Standard (HCS) by U.S.Department of Labour,Occupational Safety & Health Administration(OSHA)