กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมความพร้อมให้ภาครัฐและเอกชนสามารถปรับตัวรองรับต่อการปฏิรูปความสัมพันธ์ทางการค้าของประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่กำลังจะไปสู่ประชาคมอาเซียนภายในปี ค.ศ. 2015
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้มีการเตรียมความพร้อมให้ภาครัฐและเอกชนสามารถปรับตัวรองรับต่อการปฏิรูปความสัมพันธ์ทางการค้าของประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่กำลังจะไปสู่ประชาคมอาเซียนภายในปี ค.ศ. 2015 ประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก คือประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน |
. |
สำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN ECONOMIC COMMITTEE : AEC) ที่ทางกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบนั้น ขณะนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นเลขานุการ โดยมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่พิจารณาการดำเนินงาน และผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านกฎหมาย เศรษฐกิจ และมาตรการเตรียมการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต ทั้งนี้การก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตาม AEC Blueprint ภายในปี 2015 ที่มีเป้าหมายที่จะรวมอาเซียน ให้เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวร่วมกัน (single market and production base) จะทำให้บรรยากาศการค้า ความร่วมมือของประเทศไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียนเปลี่ยนไป โดยจะเกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานมีฝีมือ และเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น ทั้งนี้ความร่วมมือในแต่ละด้านยังจะนำไปสู่ข้อผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งหากไม่มีการปรับตัวในเรื่องนี้ก็จะทำให้เกิดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ตามมา |
. |
สำหรับแผนงานภาพรวมเพื่อการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) นั้นประกอบด้วยยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน คือ 1.การจัดตั้งตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน 2.การไปสู่ภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขันสูง 3.การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน และ 4.การรวมตัวเข้ากับเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่ายุทธศาสตร์หลักทั้ง 4 ด้าน และ การทำ FTA ของอาเซียนกับประเทศอื่น จะถูกนำไปรวมใน ASEAN Charter ซึ่งจะมีผลผูกพันทางกฎหมายอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่จะต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษและดำเนินงานในทุกขั้นตอนอย่างรอบครอบ |
. |
เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ให้ความสำคัญมาก โดยมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้เห็นว่าแม้ระยะเวลาที่จะมีการรวมอาเซียนนั้นจะใช้เวลาอีก 8 ปี แต่หากประเทศไทยไม่เริ่มปรับตัว ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา จึงได้เร่งให้ทุกภาคส่วนจริงจัง ให้ข้อมูลอย่างเต็มที่เพื่อผู้เกี่ยวข้องปรับตัวก้าวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ทุกประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย ต่างก็มีความตื่นตัว และเริ่มมีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ของอาเซียนกันแล้ว |
. |
และเพื่อให้ประชาชน ภาครัฐ และเอกชน ได้ตื่นตัว เตรียมพร้อม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะได้มีการจัดสัมมนาเชิงวิชาการเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และข้อตกลงเขตการค้าเสรีขึ้น ในหัวข้อ “ก้าวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน : ผลประโยชน์และนัยต่อประเทศไทย” ซึ่งอธิบดี รองอธิบดี นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ จะได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมสัมมนาได้ซักถามในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ |