เนื้อหาวันที่ : 2012-09-25 15:56:50 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1776 views

คมนาคม ผลักดันแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกส์

กระทรวงคมนาคมผลักดันแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2556 - 2563 เพื่อสนับหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคเหนือ

กระทรวงคมนาคมจัดเสวนา “โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๖๓”     เพื่อวางรากฐานการปรับโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง ในระยะยาว สนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ พร้อมรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน ในปี ๒๕๕๘

นายจารุพงศ์  เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานเสวนา “โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๖๓” ในวันจันทร์ที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๕  ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งผู้มีส่วนได้และเสีย จำนวน๕๐๐ คน ณ ห้องประชุม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และสำรวจความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ เพื่อให้ประชาชนความร่วมมือต่อการดำเนินงานตามแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ และจัดทำรายงานการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อประกอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่อไป

หลังจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมดูความพร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งทางราง เพื่อผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ- เชียงใหม่ ระยะทาง ๖๑๖ กิโลเมตร ความเร็ว ๓๐๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางประมาณ    3 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทย และสาธารณรัฐ ประชาชนจีนเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะเริ่มเซ็นสัญญาและดำเนินการก่อสร้างได้ในภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๖

รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า ๑๐ สายทาง โดยเก็บค่าบริการ ๒๐ บาทตลอดสาย พัฒนาการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชยนาวี และพัฒนาท่าอากาศยานสากล ท่าอากาศยานภูมิภาค และอุตสาหกรรมการบินของไทย พร้อมทั้งรองรับการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ 

 โดยรัฐบาลได้จัดทำแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๖๓ วงเงินลงทุน ๒ ล้านล้านบาท ครอบคลุมทั้งการขนส่งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอีก ๑๐ – ๑๕ ปีข้างหน้า โดยแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านคมนาคมขนส่ง อันส่งผลดีต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานฯ ดังกล่าวเป็นโครงการระยะยาวที่มีผลกระทบต่อประชาชนในทุกภาคส่วน ดังนั้น การดำเนินงานตามแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ จึงจำเป็นต้องสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การมีส่วนร่วม และสร้างความตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่ เพื่อยกระดับความสนใจของประชาชนต่อแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ รวมทั้งสำรวจความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และมีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ ที่จะเกิดในแต่ละภูมิภาค

รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดเชียงใหม่  เป็นจังหวัดเศรษฐกิจสำคัญของทางภาคเหนือ ที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานด้านระบบราง โดยการเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางระบบรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงทพฯ -  เชียงใหม่ และเส้นทางกรุงเทพฯ – หนองคาย – เวียงจันทน์  ซึ่งได้ให้ประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีนทำการศึกษาแล้ว   คาดว่าจะดำเนินการประกวดราคาได้ในปี 2557 ซึ่งในอนาคตจะมีการเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากประเทศลาวและประเทศจีน  เพื่อผ่านต่อไปยังประเทศมาเลเซีย โดยจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟขนาดรางมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Maekong Sub Regional) กับกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งการพัฒนาโลจิสติกส์และระบบขนส่งทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศด้วย เช่น การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๔ ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ ๒

กระทรวงคมนาคมมีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง จึงได้จัดเสวนาฯ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งประชาชนในระดับท้องถิ่นต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. ๒๕๕๖ – ๒๕๖๓ และนำผลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ มาใช้วิเคราะห์ปัญหาและโอกาสของโครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป