ก่อสร้างโรงงานผลิตยางสังเคราะห์นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน (Nd-PBR) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในสิงคโปร์
แลงเซส เดินเครื่องก่อสร้างโรงงานผลิตยางสังเคราะห์นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน (Nd-PBR) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในสิงคโปร์ เงินลงทุน 200 ล้านยูโร โรงงานแห่งใหม่มีกำลังการผลิต 140,000 ตันต่อปี โดยแลงเซส เป็นซัพพลายเออร์ชั้นนำระดับโลก ของยางสังเคราะห์นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน (Nd-PBR) ข้อกำหนดการติดฉลากยางรถยนต์ ก่อให้เกิดความต้องการที่สูงมากในตลาด สำหรับยางรถยนต์ “กรีนไทร์” (Green Tires) หรือยางรถยนต์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างโรงงานผลิตยางบิวทิล ในพื้นที่ใกล้เคียงกำลังคืบหน้าไปด้วยดี
เริ่มเดินเครื่องก่อสร้างโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน (Nd-PBR) แห่งใหม่ในสิงคโปร์แล้ว โดยบริษัทเคมีภัณฑ์เฉพาะทางจากเยอรมนีรายนี้ได้ลงทุนราว 200 ล้านยูโร (ประมาณ 317 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) เพื่อก่อสร้างโรงงานที่มีกำลังการผลิต 140,000 ตันต่อปี บนเกาะจูร่ง (Jurong Island) ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะเป็นโรงงานผลิตยางสังเคราะห์ นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และจะสามารถตอบสนองความต้องการของตลาด “ยางกรีนไทร์” (Green Tires) หรือยางรถยนต์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่กำลังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย ทั้งยังจะช่วยสร้างงานได้อีกประมาณ 100 ตำแหน่ง โดยคาดว่าจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ. 2558
ยางสังเคราะห์ นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน ใช้ในการผลิตดอกยางและแก้มยางสำหรับยางในกลุ่ม “ยางกรีนไทร์” (Green Tires) ซึ่งช่วยลดแรงเสียดทานของล้อและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง นอกจากนี้ ยางสังเคราะห์นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน ยังทนต่อการขูดขีดได้สูงและมีบทบาทสำคัญในการทำให้ยางมีความปลอดภัย และเหนือสิ่งอื่นใดคือมีความคงทนมากขึ้น
"แลงเซส มีความยินดีที่ได้ลงทุนนำโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมยางรถยนต์ครั้งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สีเขียว (Green Mobility)" มร. เอ็กเซิล เซ ไฮท์มันน์ ประธานกรรมการบริหารของแลงเซส (LANXESS) กล่าวระหว่างร่วมพิธีเริ่มงานก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่เกาะจูร่ง
“นับเป็นเป้าหมายหลักของบริษัทที่มุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยี ที่ช่วยลดแรงเสียดทานของล้อ ซึ่งส่งผลต่ออัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง และนับเป็นสิ่งที่ดีสำหรับทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม โดยแลงเซส ได้รับเกียรติจาก มิส แองเจลิก้า เวียตส์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศสิงคโปร์ และ มร. ลีโอ ยิป ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ ร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ Petrochemical Corporation of Singapore (Private) Limited (PCS) จะเป็นบริษัทผู้จัดหาบิวทาไดอีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักส่วนใหญ่ ที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตยางสังเคราะห์นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน ขณะที่ TP Utilities Pte Ltd ของสิงคโปร์ (บริษัทลูกของ Tuas Power Ltd) จะผลิตไอน้ำป้อนโรงงานแห่งใหม่นี้ ส่วน Foster Wheeler Asia Pacific Pte Ltd เป็นบริษัทที่ได้รับคัดเลือกให้รับผิดชอบงานด้านวิศวกรรมและการก่อสร้างโรงงาน
โรงงานแห่งใหม่สามารถตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้นของอุตสาหกรรม “ยางกรีนไทร์” (Green Tires) แลงเซสเป็นผู้นำตลาดยางสังเคราะห์นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน (Nd-PBR) ที่ใช้ใน “ยางกรีนไทร์” (Green Tires) ซึ่งเป็นแขนงที่เติบโตเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ด้วยอัตราเติบโตทั่วโลกถึงร้อยละ 10 ต่อปี และเติบโตอย่างชัดเจนมากในเอเชียที่อัตรา ร้อยละ 13 ต่อปี
ความต้องการถูกขับเคลื่อนโดยอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก ที่ปรับเปลี่ยนเทรนด์เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชียและละตินอเมริกาเนื่องจากชนชั้นกลางมีฐานะมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากข้อบังคับการติดฉลากยางรถยนต์ ที่จะเริ่มบังคับใช้ทั่วโลกด้วย
ทั้งนี้ สหภาพยุโรป (EU) จะเริ่มใช้ข้อบังคับดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายน 2555 โดยจะแบ่งเกรดยางจาก A ถึง G ตามประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง (Fuel Efficiency) ประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนเมื่อพื้นเปียก (Wet Grip) และระดับเสียงที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของล้อ (Noise Emission) ซึ่งจะวัดเป็นเดซิเบล ข้อบังคับนี้จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสให้ผู้บริโภคมากขึ้น โดยเน้นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของ “ยางกรีนไทร์” (Green Tires) โดยจากการศึกษาของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมิวนิค ประเทศเยอรมนี (TU Munich) คาดการณ์ว่าส่วนแบ่งการตลาดยางคลาส A และ B ในสหภาพยุโรปจะสูงถึงร้อยละ 20-30 ภายในปี พ.ศ. 2560 แล้วกระโดดขึ้นไปถึงร้อยละ 70-80 ในปี 2565
ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นประเทศแรกๆ ในโลก ที่จะประกาศใช้ข้อบังคับการติดฉลากยางรถยนต์ (หรือ Tire Labeling Legislation) หลังจากก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเริ่มใช้ระบบการติดฉลากยางรถยนต์แบบสมัครใจ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 และเกาหลีใต้เริ่มใช้ระบบการติดฉลากยางรถยนต์แบบสมัครใจ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 และจะเริ่มบังคับใช้อย่างจริงจังในเดือนธันวาคมปีนี้ ตามด้วยประเทศอื่นๆ เช่น บราซิล สหรัฐอเมริกา และจีน ที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในปีต่อๆ ไป
แลงเซส ได้ว่าจ้างทีมที่ปรึกษาจาก Frost & Sullivan ให้ทำการศึกษาเพื่อตรวจสอบว่าผู้ขับขี่รถยนต์ในสิงคโปร์จะได้รับประโยชน์จาก “ยางกรีนไทร์” (Green Tires) อย่างไรบ้าง ผลจากการศึกษาดังกล่าวพบว่า การใช้ “ยางกรีนไทร์” (Green Tires) กับยานพาหนะทั้งหมดในสิงคโปร์ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 357,468 ตัน และช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึง 146 ล้านลิตรต่อปี
“ยางกรีนไทร์” (Green Tires) จะมีสมรรถนะสูงสุดเมื่อผสมทั้งยางสังเคราะห์นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน (Nd-PBR) และยางสไตรีน บิวทาไดอีน (SSBR) นอกจากนี้ แลงเซสยังผลิตยางสไตรีน บิวทาไดอีน ที่ส่วนใหญ่จะใช้ผลิตดอก “ยางกรีนไทร์” (Green Tires) ซึ่งจะช่วยให้ลดแรงเสียดทานของล้อ และเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะของยางรถยนต์บนพื้นถนนเปียก
"ขณะนี้เรากำลังเปลี่ยนจากยุคของการออกแบบยางไปสู่ยุคของวัสดุยาง ซึ่งจะสร้างความแตกต่างในแง่ของสมรรถนะ" มร. ไฮท์มันน์ กล่าว "และ ณ จุดนี้ แลงเซสมีบทบาทสำคัญนำในการพัฒนายางรถยนต์แห่งอนาคต”
จากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 20-30 ของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของยานพาหนะ และร้อยละ 24 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกี่ยวข้องกับยางรถยนต์ ทั้งนี้ “ยางกรีนไทร์” (Green Tires) จะช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ถึงร้อยละ 5-7 และมีอัตราค่าตัดจำหน่าย (cost amortization) เร็วที่สุด เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่ใช้ในรถยนต์
การผลิตยางสังเคราะห์นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน (Nd-PBR) อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยธุรกิจ Performance Butadiene Rubbers (PBR) ของแลงเซส ซึ่งกำกับดูแลโดย ดร. โจคาฮิม กรับ ปัจจุบันยางนวัตกรรมสูงชนิดนี้ผลิตที่เมือง Dormagen ในเยอรมนี, เมือง Cabo ในบราซิล, เมือง Port Jérôme ในฝรั่งเศส และเมือง Orange รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากยางรถยนต์แล้ว
ยางบิวทาไดอีนชนิดพิเศษยังใช้ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของพลาสติกในการผลิตโฟม High-Impact Polystyrene (HIPS) สำหรับงานฉีดขึ้นรูปอีกด้วย ประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ ได้แก่ ใช้ในการผลิตลูกกอล์ฟ รองเท้าวิ่ง และสายพานลำเลียง ทั้งนี้ Performance Butadiene Rubbers (PBR) เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจ Performance Polymers ของแลงเซส ซึ่งมียอดขายรวม 5.1 พันล้านยูโร (ประมาณ 8.1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์) ในปี 2554 โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยางบิวทิล (Butyl Rubber: BTR) คืบหน้าไปด้วยดี
โรงงานผลิตยางสังเคราะห์นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน (Nd-PBR) แห่งใหม่ของแลงเซสตั้งอยู่บนเกาะจูร่ง ถัดจากที่ตั้งโรงงานยางบิวทิล (Butyl Rubber: BTR) ของบริษัทฯ ซึ่งนับถึงปัจจุบันถือเป็นโครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ มูลค่า 400 ล้านยูโร (ประมาณ 634 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์) โรงงานแห่งนี้มีกำหนดจะเริ่มเดินสายการผลิตในช่วงไตรมาสแรกของปี พ.ศ. 2556