เมื่อเอ่ยถึง "เออีซี" ไม่ว่าภาคธุรกิจใดต่างก็ตื่นตัว จนมีการจัดสัมมนาหัวข้อ "ภาคธุรกิจ...กับ เออีซี" กันแทบทุกวงการ
ในส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์เอง มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ "เออีซี" กันตั้งแต่ฝั่งของ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ วิศวกร สถาปนิก ไปจนผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง เปิดมุมมองกันอย่างครบถ้วน ตลอดการสัมมนาเกือบทุกครั้ง ล้วนเต็มไปด้วย "คำเตือน" จากวิทยากร สู่ผู้ประกอบการร่วมวิชาชีพ เพราะการรีบรุดไปลงทุนอาเซียน อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย
ล่าสุดในงานสัมมนาของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คนทำนโยบายกับผู้ประกอบการต่างเห็นคล้ายคลึงกันว่า ช่องว่างในอาเซียนยังมี แต่อาจจะยังไม่ใช่จังหวะ โดยเฉพาะประเทศกลุ่ม CLMV อันได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า (เมียนมาร์) และเวียดนาม
"พม่า" ที่หลายคนบอกว่าพอเปิดประเทศแล้วน่าสนใจเหลือเกิน โทนี่ พิคอน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด วิเคราะห์ว่า พม่ามีช่องว่างตลาดที่น่าสนใจในหลายธุรกิจ ทั้งโรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ คอนโดมิเนียม ที่มีจำนวนค่อนข้างน้อยคนละเรื่องกับกรุงเทพฯ จึงทำให้ดีมานด์สูงกว่าซัพพลาย
แต่ปัญหาใหญ่สุดของพม่า คือเรื่อง "กฎหมาย" เพราะกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศของพม่า ที่เคยผ่านออกมาแล้ว กลับถูกดึงกลับไปแก้ไขใหม่อีกรอบ แถมการเมืองของพม่าก็ยังไม่นิ่ง ธนาคารก็มีปัญหา ทำให้ผู้บริโภคอาจต้องซื้อบ้านด้วยเงินสด ประตูสู่การลงทุนพม่าจึงยังเหมือนเปิดแค่แง้มๆ คนที่เคยไปดูงานในพม่ามาแล้ว ชี้จุดอ่อนใหญ่ของพม่าว่า ราคาที่ดินยังสูงเกินความเป็นจริง ที่ดินในเมืองย่างกุ้งตกตร.วาละกว่า 1 ล้านบาท เทียบเท่าที่ดินย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ขณะที่สาธารณูปโภค ความต้องการซื้อยังไม่ได้แข็งแกร่งเท่า ทำให้การลงทุนในพม่าอาจต้องจับตาไปสักพัก
ส่วน "เวียดนาม" ปัญหาใหญ่คือเข้าถึงที่ดินยาก เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่เป็นของรัฐ จะลงทุนได้ก็จำเป็นต้องเข้าหารัฐ อีกทั้งเงินเฟ้อพุ่งสูงถึงปีละกว่า 20% ลงทุนใหญ่ๆ ก็ไม่ได้ เพราะเงินจมนานๆ มีแต่ขาดทุน
แต่สำหรับ ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต แห่งค่าย "พฤกษา" ผู้มีประสบการณ์ในการลงทุนที่เวียดนามมาแล้ว ยังเชื่อว่าโอกาสในเวียดนามยังมี เพียงแต่ต้องศึกษา เข้าใจ และต้องเตรียมความพร้อมสูง และในส่วนของพฤกษาเอง ก็ยังพร้อมจะลุยโครงการ 2 ที่เวียดนาม ขณะที่กัมพูชา แม้จะหาที่ดินฟรีโฮลด์ได้ง่ายกว่าเวียดนาม แต่กำลังซื้อมีน้อย ตลาดอสังหาริมทรัพย์แต่ละประเภทเล็กมาก
กิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า เรื่องใหญ่ของ CLMV คือไม่มีสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย หากจะเจาะตลาดจริงๆ ในตอนนี้จึงทำได้เฉพาะตลาดที่มีกำลังซื้อสูงหรือมีเงินเก็บอยู่ในมือเท่านั้น สรุปคือการลงทุนในประเทศ ยังดูเป็นทางเลือกที่ดีอยู่ ซึ่งสอดคล้องกับ ณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร "เอสซี แอสเสท" มองเออีซีว่า ยังมีเรื่องต้องศึกษา ทั้งกฎหมายการลงทุน สภาพตลาด ปัญหาเกี่ยวกับการเงิน ไม่ใช่สิ่งที่ต้องเร่งทำและย้ำด้วยว่า เออีซี ไม่ได้หมายถึงว่าไทยต้องออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่ยังหมายถึงโอกาสที่จะจับตลาดลูกค้าจากประเทศในอาเซียนที่เข้ามาทำงานหรือมาท่องเที่ยวในไทยด้วย เอสซี แอสเสท จึงมองการลงทุนในประเทศก่อน ทั้งตามหัวเมืองท่องเที่ยว รวมถึงอาจมีบริเวณที่ประเทศเพื่อนบ้านเดินทางสะดวก
อย่างไรก็ดี เออีซี ก็ต้องมาถึงในไม่กี่ปีข้างหน้า คงต้องศึกษาปัจจัยแวดล้อมอย่างรอบด้าน รอบคอบ จะตั้งมั่นรับมือในประเทศ หรือออกไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ยังมีเวลาให้หาสูตรสำเร็จกันอีกพัก