นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากมาตรการคิวอี 3 เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม และไว้วางใจไม่ได้ แต่เชื่อว่าภูมิภาคละตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่เงินทุนจะไหลเข้ามากที่สุด เพราะมีผลตอบแทนที่สูงกว่าเอเชีย แม้ผลของคิวอี 3 จะทำให้ค่าเงินบาทไทยแข็งค่าขึ้น 1- 2% แต่ไม่รุนแรงเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค
"ภาคเอกชนไม่ควรชะล่าใจ และต้องมีการบริหารความเสี่ยง เพราะธปท.จะเข้าไปดูแลค่าเงินบาท เมื่อเกิดภาวะตื่นตระหนก หรือการเคลื่อนไหวที่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย โดยจะไม่มีการฝืนกลไกตลาด ซึ่งขณะนี้ธปท. ยังมีเครื่องมือในการดูแลและสามารถใช้ได้ดีพอสมควร แต่การดำเนินนโยบายก็มีต้นทุน จึงต้องผสมผสานการใช้นโยบาย ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย รวมถึงกฎระเบียบที่ใช้ดูแลสถาบันการเงิน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ ผลพวงจากเศรษฐกิจโลกและวิกฤติการเงินในยุโรป ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด"
ผู้ว่าการธปท. กล่าวอีกว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยโดยตรง จะยังไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงิน หรือ ลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะธนาคารพาณิชย์ยังมีการแข่งขันระดมเงินฝากเพื่อปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ยังไม่มีการปรับลดดอกเบี้ยตามนโยบาย และอาจเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดต่อตลาดและนักลงทุน และสร้างผลกระทบให้กับระบบเศรษฐกิจได้