เนื้อหาวันที่ : 2012-09-21 16:08:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 792 views

แลงเซส เปิดตัวยางรถยนต์ต้นแบบ เกรด AA

ยางรถยนต์ต้นแบบเป็นหนึ่งในยางรุ่นแรกที่ได้รับการรับรองเกรด AA ตามข้อบังคับการติดฉลากยางรถยนต์ใหม่ของสหภาพยุโรป ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพย. ศกนี้

แลงเซส (LANXESS) บริษัทเคมีภัณฑ์เฉพาะจัดแสดงนวัตกรรมยางสังเคราะห์ ด้วยการเปิดตัวยางรถยนต์ต้นแบบ “LANXESS AA” ในงาน Mobility Day North America ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอังคาร ที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา ณ มลรัฐ นอร์ธ แคโรลาน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยยางรถยนต์ต้นแบบดังกล่าว เป็นหนึ่งในยางรุ่นแรกที่ได้รับการรับรองเกรด AA ตามข้อบังคับการติดฉลากยางรถยนต์ใหม่ของสหภาพยุโรป ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้

การจัดแสดงครั้งนี้ ช่วยเสริมตำแหน่งอันแข็งแกร่งของแลงเซส ในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์เฉพาะทาง เพื่อสร้างสรรค์อุตสาหกรรมยานยนต์สีเขียว หรือ “Green Mobility” ทั้งนี้ ปัจจุบันแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์สีเขียวทั่วโลก ต่างแสวงหาการคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการใช้ยางสมรรถนะสูง ที่ช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิงและลดมลพิษ

 “แลงเซสเชื่อว่า ยางต้นแบบที่เราได้สร้างขึ้นนี้ มีความสำคัญต่อการพัฒนาวิทยาการที่มีเทคโนโลยีสูงของเรา และสำคัญต่อผลิตภัณฑ์ของลูกค้าด้วยเช่นกันดร. โจอาคิม กรับ หัวหน้าหน่วยธุรกิจ Performance Butadiene Rubbers (PBR) กล่าว

ยางรถยนต์ต้นแบบของแลงเซส ใช้เทคโนโลยียางสังเคราะห์สมรรถนะสูงที่มีพื้นฐานของนีโอดิเมียม (Nd-PBR) รุ่นใหม่ล่าสุด พร้อมกับยางสไตรีน บิวทาไดอีน (SSBR) และส่วนประกอบยางอื่นๆ เพื่อที่จะได้รับการรับรองเกรด A ทั้งในด้านประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนเมื่อพื้นเปียก และการลดแรงเสียดทานของล้อ ตามข้อบังคับของการติดฉลากยางรถยนต์ใหม่ของสหภาพยุโรป

ดร. เอ็กเซิล เซ ไฮท์มันน์ ประธานคณะกรรมการบริหารของแลงเซส กล่าวภายในงาน Mobility Day North America ว่า ยางรถยนต์ต้นแบบนี้ ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของแลงเซส โดยอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนจากยุคของการออกแบบยางไปสู่ยุคของวัสดุยาง ซึ่งจะสร้างความแตกต่างในแง่ของสมรรถนะ

ยิ่งไปกว่านั้น ยางต้นแบบรุ่นดังกล่าวของแลงเซส ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของยางสังเคราะห์ นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน (Nd-PBR) ในการเพิ่มความทนทาน โดยเฉพาะกับยางเกรด AA ถึงแม้ว่าความทนทานจะไม่ได้รับการประเมินเกรด ตามข้อบังคับการติดฉลากยางรถยนต์ใหม่ของสหภาพยุโรป แต่จะเป็นเกณฑ์อันแตกต่างที่มีความสำคัญในกลุ่มยางสมรรถนะสูง

โดยทั่วไป บริษัทผู้ผลิตยางจะดำเนินการออกแบบยางรถยนต์ภายใน “กรอบสามเหลี่ยมอัศจรรย์” (magic triangle) อันประกอบไปด้วย ประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนของยางบนพื้นเปียก การลดแรงเสียดทานของล้อ และอายุการใช้งานของยาง ซึ่งหมายความว่าการปรับปรุงความทนทาน มักจะต้องแลกกับประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนเมื่อพื้นเปียก หรือการลดแรงเสียดทานของล้อเสมอ

แลงแซส เป็นผู้นำตลาดยางสังเคราะห์นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน (Nd-PBR) สำหรับใช้ในการผลิต “ยางกรีนไทร์” (Green Tires) หรือยางรถยนต์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีอัตราเติบโตรวดเร็วที่สุดในอุตสาหกรรมยาง ด้วยอัตราการขยายตัวทั่วโลกเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี

ทั้งนี้ สหภาพยุโรป จะเริ่มใช้ข้อบังคับดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2555 โดยจะแบ่งเกรดยางจาก A ถึง G ตามประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิง ประสิทธิภาพการยึดเกาะถนนเมื่อพื้นเปียก และระดับเสียงที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของล้อ  ซึ่งจะวัดเป็นเดซิเบล ข้อบังคับนี้จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสให้ผู้บริโภคมากขึ้น โดยเน้นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของ ยางกรีนไทร์” จากการศึกษาของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมิวนิค ประเทศเยอรมนี (TU Munich) คาดการณ์ว่าส่วนแบ่งการตลาดยางคลาส A และ B ในสหภาพยุโรปจะสูงถึงร้อยละ 20-30 ภายในปี พ.ศ. 2560 แล้วกระโดดขึ้นไปถึงร้อยละ 70-80 ในปี พ.ศ. 2565

ประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เป็นประเทศแรกๆ ในโลก ที่จะประกาศใช้ข้อบังคับการติดฉลากยางรถยนต์ หลังจากก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเริ่มใช้ระบบการติดฉลากยางรถยนต์แบบสมัครใจ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 และเกาหลีใต้เริ่มใช้ระบบเดียวกันนี้ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2554 และจะเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคมปีนี้ ตามด้วยประเทศอื่นๆ เช่น บราซิล สหรัฐอเมริกา และจีน ที่คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในปีต่อๆ ไป

 “ยางกรีนไทร์” จะมีสมรรถนะสูงสุดเมื่อผสมทั้งยางสังเคราะห์นีโอดิเมียม โพลิบิวทาไดอีน (Nd-PBR) และยางสไตรีน บิวทาไดอีน (SSBR) นอกจากนี้ แลงเซส ยังผลิตยางสไตรีน บิวทาไดอีน ที่ส่วนใหญ่จะใช้ผลิตดอก “ยางกรีนไทร์” ซึ่งจะช่วยให้ลดแรงเสียดทานของล้อ และเพิ่มประสิทธิภาพการยึดเกาะของยางรถยนต์บนพื้นถนนเปียก

ยางเกรด A จะมีประสิทธิภาพการยึดเกาะบนพื้นถนนเปียกมากที่สุด รถยนต์ที่ใช้ยางเกรด A มีระยะเบรกจาก 80 กม./ชม. ถึงจอดสนิทสั้นกว่ายางเกรด F ราว 18 ถึง 21 เมตร

จากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 20-30 ของการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของยานพาหนะ และร้อยละ 24 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เกี่ยวข้องกับยางรถยนต์ ทั้งนี้ “ยางกรีนไทร์” จะช่วยลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงได้ถึงร้อยละ 5-7 และมีอัตราค่าตัดจำหน่าย (cost amortization) สั้นกว่า เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่ใช้ในรถยนต์