เนื้อหาวันที่ : 2012-09-21 09:45:24 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1693 views

กสทช. เคาท์ดาวน์ประมูล 3G ความถี่ 2.1 GHz ยืนยันกระบวนการโปร่งใสเป็นธรรม

กสทช. นับถอยหลังประมูล 3G คลื่นความถี่ 2.1 GHz อีกครั้งกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในประเทศ ด้วยวิธีการประมูลและกระบวนการที่โปร่งใส สร้างความเชื่อมั่น ดีเดย์ 16 ตุลาคมนี้

กสทช.  ประกาศเริ่มนับถอยหลังประมูล 3G  คลื่นความถี่ 2.1 GHz   อีกครั้งกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในประเทศ สู่การเป็น “เครือข่ายไทย เครือข่ายโลก” พร้อมเผยวิธีการประมูลและกระบวนการที่โปร่งใส สร้างความเชื่อมั่น ด้วยมาตรฐานสากล ดีเดย์ 16 ตุลาคม นี้

นายพิทยาพล จันทนะสาโร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) เผย การประมูลคลื่นความถี่ย่าน   2.1 GHz  เพื่อเดินหน้าสู่การพัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G เต็มรูปแบบ  เป็นวาระแห่งชาติที่ได้รับเสียงตอบรับจากทุกฝ่าย    16 ตุลาคม 2555 คือวันที่จะจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ครั้งแรกของประเทศไทย

การพัฒนาเครือข่าย 3G บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz จะทำให้สามารถใช้งานโทรคมนาคมได้อย่างสมบูรณ์ครอบคลุมทุกรูปแบบ วันนี้เราทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศได้มาแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะผลักดันประเทศไทยสู่การสื่อสารยุค 3G สมบูรณ์แบบ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ซึ่งจะส่งผลดีกับประเทศในการรองรับนโยบายเปิดเสรีอาเซียนที่กำลังจะมาถึง ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการนำโครงข่าย 3G มาใช้เพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษา Tele-Education และการสาธารณสุข Tele-Health ในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล  นอกจากนี้ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความสับสนของประชาชนในการเลือกซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้รองรับกับเครือข่ายของผู้ให้บริการ 3G เมื่อบ้านเราใช้เทคโนโลยี 3G มาตรฐานก็จะสามารถรองรับเครื่องลูกข่ายที่รองรับ 3G ที่มีจำหน่ายอยู่ในตลาดได้ และที่สำคัญยังเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการโทรคมนาคมของประเทศไทย จากเดิมในยุคผูกขาดด้วยระบบสัมปทานไปสู่ระบบการให้ใบอนุญาตเป็นครั้งแรก

นายพิทยาพล กล่าวว่า  กสทช. ใช้วิธีจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการประมูล ซึ่งเป็นวิธีการตามที่พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 45 กำหนดไว้ สำหรับรูปแบบที่จะใช้ในการประมูล กทค. และ กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz สาระสำคัญของร่างประกาศประกอบด้วย จำนวนคลื่นความถี่ที่ผู้เข้าประมูลแต่ละรายสามารถถือครองได้ (Spectrum Cap) คือ 15 MHz และมีการแบ่งคลื่นความถี่ออกเป็น 9 สล็อต สล็อตละ 5 MHz โดยมีราคาประมูลตั้งต้นอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท ต่อ 5 MHz

ในทุกขั้นตอน กสทช. ได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย โปร่งใส เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจะนำเอาคลื่นย่าน 2.1 GHz มาให้บริการประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสใช้บริการที่มีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพทางการสื่อสารให้กับประเทศไทย เพิ่มโอกาสในการลงทุนเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนทุกคน

รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า งานจัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ถึงความสำคัญและประโยชน์ของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz รวมถึงเป็นการยืนยันว่าการดำเนินการจัดประมูลจะกระทำด้วยความสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม ตลอดจนถือเป็นวันสำคัญที่ทุกฝ่ายในวงการโทรคมนาคม ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบการโทรคมนาคม สื่อมวลชน รวมถึงประชาชนผู้ใช้บริการ มาพร้อมใจรวมพลังเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย รวมกันสนับสนุนให้การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เกิดขึ้น

ในส่วนของสำนักงาน กสทช. เองก็ได้เตรียมพร้อมทั้งในด้านสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และระบบสารสนเทศ ความปลอดภัย และการประชาสัมพันธ์ สำหรับการประมูล โดยมีคณะกรรมการดำเนินการประมูล 4 คณะ ได้แก่ คณะทำงานเตรียมการประมูล คณะทำงานด้านวิชาการ คณะทำงานรับและตรวจสอบคำขอรับใบอนุญาต และคณะทำงานตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาต ดูแล สำหรับที่ปรึกษาการประมูลได้บริษัท พาวเวอร์ อ็อกชั่น มาเป็นที่ปรึกษา และดูแลระบบซอฟท์แวร์การประมูล

นายพิทยาพล กล่าวทิ้งท้ายว่า กสทช. อยากให้ประชาชนคนไทยทุกคนรวมพลัง และให้การสนับสนุนการประมูล 3G ครั้งนี้  เพื่อให้ประเทศไทยของเราได้มีโอกาสใช้บริการที่มีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพทางการสื่อสารให้กับประเทศเพิ่มโอกาสในการลงทุน 16 ตุลาคม 2555 นี้ วันประมูลคลื่นความถี่ครั้งแรกของประเทศไทย ณ สำนักงาน กสทช.