นายกสมาคมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย กระทุ้งรัฐต้องตื่นสร้างมาตรการหนุนธุรกิจโซล่าเซลล์ได้แล้ว พร้อมเสนอเพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 4,000 - 5,000 เมกกะวัตต์
นายกสมาคมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย กระทุ้งรัฐต้องตื่นสร้างมาตรการหนุนธุรกิจโซล่าเซลล์ได้แล้ว พร้อมเสนอเพิ่มปริมาณการผลิตเป็น 4,000 - 5,000 เมกกะวัตต์ เชื่อแผนเดิมที่กำหนดไว้ 2,000เมกกะวัตต์ หมดเกลี้ยงแน่ในอีก 2 ปี ฟากเอกรัฐโซล่าร์เผยช้ำใจประเทศไทยปล่อยเงินรั่วออกประเทศ เหตุปล่อยนำเข้าเซลล์และแผงต่างชาติทะลักเข้าประเทศเพียบ ดึงเม็ดเงินจากการขายไฟให้ระบบและคนไทยใช้ กลับสู่ประเทศตน
นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือกของประเทศไทยว่า แม้อนาคตธุรกิจพลังงานทางเลือกจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องของพลังงานของประเทศ และตลอดระยะเวลาทีผ่านมาได้พยายามผลักดันในเรื่องพลังงานทางเลือกจะเข้ามามีบทบาทสำคัญกับทุกรัฐบาลมาโดยตลอด ทั้งทำจดหมายและหนังสือถึงรัฐบาลทุกชุดและปลัดพลังงานเกือบทุกคนเพื่อให้เห็นความสำคัญ และพบว่าแม้ทุกเรื่องที่เสนอไปมีความสำเร็จในเวลาต่อมา แต่ก็ใช้เวลานานถึง 5-7 ปี จึงจะเห็นผลในการขับเคลื่อนทางฝ่ายภาครัฐที่มีต่อการสนับสนุนในอุตสาหกรรมนี้ แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนและต่อเนื่องในเรื่องของนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่
ดังนั้นจึงขอเสนอแนะทางแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับธุรกิจเซลล์แสงอาทิตย์ โดยรัฐควรออกมาตรการจูงใจในการลงทุนและติดตั้งโซลาเซลล์ เพื่อขจัดปัญหาทางด้านการเปลี่ยนมือหรือการซื้อขายใบอนุญาตที่ได้รับ เพราะผู้ประกอบการไม่มีความพร้อมในเรื่องของทุน โดยเมื่อมีใบอนุญาตก็ขายต่อให้กับนักลงทุนต่างประเทศ พร้อมกับออกมาตรการรับซื้อไฟฟ้าราคาพิเศษ
โดยต้องยืดระยะเวลาการรับซื้อให้ยาวออกไปอีก และน่าจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเลขการกำหนดพลังงานจากโซลาเซลล์ ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) จาก 2,000 เมกกะวัตต์ เพิ่มเป็น4,000-5,000 เมกกะวัตต์ เพราะหากดูตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ คาดว่าภายในเวลา 2 ปีน่าจะหมด เนื่องจากขณะนี้พบว่าในระบบมีการดำเนินการในเรื่องของโซลาเซลล์มากขึ้น ซึ่งคาดว่าสิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 400 เมกกะวัตต์ และปลายปี 2556 จะเพิ่มเป็น 700 – 800 เมกกะวัตต์ และปี 2557 น่าจะมีประมาณ1,000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้กระทรวงการคลัง ควรนำมาตรการทางภาษีมาจูงใจทั้งในส่วนของภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เช่น เอกชนที่ลงทุน 1 ล้านบาท ก็ให้นำมาคำนวณภาษีได้ 2 ล้าน ขณะที่บุคคลธรรมดาที่ลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์ก็ให้นำเงินลงทุน 5 แสนมาคำนวณในการลดภาษีได้ 5 ปี หรือนำมาลดหย่อนได้ปีละ 100,000 บาท ซึ่งถ้าหากทำได้ก็จะสนับสนุนให้โซลาเซลล์ของประเทศมีการเติบโต รวมทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากเดิมที่กำหนดว่า โรงไฟฟ้าขนาด 3.7 กิโลวัตต์จะต้องได้รับใบอนุญาตในการก่อสร้างโรงงาน โดยต้องแก้ไขระบุว่าเซลล์แสงอาทิตย์เล็กกว่า 1 เมกกะวัตต์ ไม่ต้องขอใบอนุญาต
“ขณะนี้ในประเทศไทยคิดว่ามูลค่าของธุรกิจโซล่าเซลล์น่าจะอยูที่ 1.5 แสนล้านบาท โดยกว่า 99 % เป็นโซลลาฟาร์มและ 1%และทุกวันถือว่าการผลิตโซลาเซลล์ในประเทศมีเพิ่มมากขึ้นจาก 7-8 ปีประเทศไทยยังไม่มีเลย ดังนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วรัฐบาลจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุน อย่างไรก็ตามในขณะนี้ในเรื่องของการรับซื้อไฟฟ้า (แอดเดอร์)จากปัจจุบันที่ซื้อในราคา 8 บาทและอนาคตจะมีการเปลี่ยนเป็นฟีดนทารีฟ (Feed In Tariff)หรือการรับซื้อในราคาต้นทุนจริงๆซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศอัตราในการรับซื้อในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งหากออกมาไม่เหมาะสมก็จะเกิดเหตุให้มีการขายใบอนุญาตและการผูกขาดเกิดขึ้นแน่นอนและไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการที่เข้าใหม่ และจะทำให้เกิดการซื้อกิจการจากต่างประเทศ”
นายดุสิต กล่าวว่า หากประเทศไทยมีโซลาฟาร์มที่เติบโตก็จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเติบโตตามด้วย เช่น ธุรกิจเหล็กเพราะโซลาฟาร์มใช้เหล็กเป็นองค์ประกอบเป็นจำนวนมาก และยังมีธูรกิจ สายไฟ เซอร์กิตเบรกเกอร์ ซิลีคอน ฟิมล์ การผลิตกระจก แบตเตอร์รี่และธุรกิจที่ปรึกษาเกิดขึ้นตามมาอีกมาก ดังนั้นจึงอยากเห็นนโยบายและความชัดเจนในธุรกิจพลังงานทางเลือกของรัฐบาลเพราะก่อนหน้านี้ธุรกิจนี้เกิดการชะงักงันมาแล้ว
นายวิวัฒน์ แสงเทียน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอกรัฐโซล่าร์ จำกัด กล่าวว่า การที่ทางการมีแนวคิดจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการรับซื้อไฟจากแอดเดอร์ที่ 8 บาทเป็นเฟสอินคือ ซื้อในราคาต้นทุนจริง ซึ่งคร่าวๆ น่าจะอยู่ที่ 5.94 บาท หากมีการรับซื้อไฟในราคาดังกล่าว ธุรกิจนี้จะต้องประสบปัญหาในเรื่องของเงินทุนสนับสนุนจากภาคธนาคารแน่นอน เพราะหากรัฐซื้อในราคาระดับนี้ถือว่าเป็นราคาที่ไม่สมจริง หรือในการลงทุนผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ยเพียง 5-6% คำถามคือว่า ธนาคารจะปล่อยกู้หรือไม่เพราะผลตอบแทนการลงทุน(IRR)ต่ำมาก หรือหากแยกตามการลงทุนในพลังงานทางเลือกจะพบว่าแสงอาทิตย์IRRจะอยู่ที่ 10% โครงการไบโอพลาสติกส์ IRR อยู่ที่ 15 %และจากขยะอยู่ที่ 25% ซึ่งการทำไฟฟ้าจากขยะมีประมาณ 5 - 6 โครงการ
นอกจากนี้หากดูรายละเอียดในโครงการเซลล์แสงอาทิตย์ปัจจุบันจะพบว่ามีการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น ทั้งในส่วนเซลล์และแผง ที่กว่า 99% มีการนำเข้ามา และเมื่อมีการขายไฟเข้าระบบเงินที่ได้ก็กลับออกไปต่างประเทศเพราะทุกวันนี้มีการเปลี่ยนมือกันมาก และส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของต่างประเทศ และไม่ต้องเสียภาษีเลย เนืองจากปีแรกของการลงทุนก็มีกำไร เพราะคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ให้การสนับสนุนที่ไม่ต้องเสียภาษีเลย ซึ่งทำให้รัฐเสียประโยชน์