ทุเรียนที่จำหน่ายในตลาดซีอานส่วนใหญ่นำเข้าผ่านนครกวางโจว และขนส่งทางรถบรรทุกมายังตลาดซีอาน
ทุเรียนที่จำหน่ายในตลาดซีอานส่วนใหญ่นำเข้าผ่านนครกวางโจว และขนส่งทางรถบรรทุกมายังตลาดซีอาน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการนำเข้าผลไม้จากไทยมายังซีอานโดยการขนส่งทางบกใช้เส้นทาง R3E หรือ R9E มากขึ้น โดยผู้นำเข้าชาวจีนและผู้ส่งออกชาวไทยจะทำความตกลงกันเองในเรื่องเส้นทางขนส่ง
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยควรให้ความรู้แก่ผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีกเกี่ยวกับการรักษาคุณภาพของทุเรียนในระหว่างการขนส่งและรอการขาย เช่น การขนส่งทางบกอาจเกิดปัญหาระหว่างการขนส่งและเปลี่ยนถ่ายตู้ ซึ่งผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกไม่ทราบวิธีการที่ถูกต้องทำให้ทุเรียนไทยที่นำเข้าเพื่อกระจายไปยังภูมิภาคที่ห่างไกลจากจุดนำเข้า เสื่อมคุณภาพหรือเสียหาย การเลือกเส้นทางขนส่ง ควรพิจารณาจากแหล่งผลิตต้นทาง และเมืองปลายทางที่เป็นแหล่งบริโภคสินค้าที่แท้จริง ไม่ใช่เมืองที่เป็นจุดนำเข้าสินค้าผ่านแดนเท่านั้น
ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน ความต้องการบริโภคมีตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีผลผลิตมาก ราคาทุเรียนต่ำกว่าช่วงอื่นๆ และช่วงฤดูหนาว การบริโภคจะเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกายและให้พลังงาน แต่ปริมาณผลผลิตมีน้อย ทำให้มีราคาแพง ราคาทุเรียนในช่วงฤดูกาลอยู่ที่ประมาณ ๑๒ หยวนต่อกิโลกรัม ขณะที่ทุเรียนนอกฤดูกาลมีราคาประมาณ ๒๐ หยวนต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ ราคาทุเรียนยังผันแปรตามปริมาณผลผลิตและคุณภาพในแต่ละปีอีกด้วย
ผู้ส่งออกไทยควรให้ความสำคัญต่อคุณภาพมาตรฐานสินค้า การตรวจสอบและกำกับควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออก เพื่อรักษาชื่อเสียงความน่าเชื่อถือในระยะยาว ตลอดจนวางแผนบริหารปริมาณและคุณภาพผลผลิตเพื่อการส่งออก เพื่อให้มีสินค้าจำหน่ายสม่ำเสมอตลอดทั้งปี และรักษาระดับราคาไม่ให้ตกต่ำ ควรวางแผนการผลิตควบคู่กับแผนการตลาด สามารถคาดการณ์ผลผลิตและตั้งราคาเพื่อเตรียมทำสัญญาขายสินค้าไว้ล่วงหน้า ไม่ควรรอจนผลผลิตใกล้ออกสู่ตลาด
ซึ่งจะเป็นการโอนอำนาจการต่อรองราคาไปในมือผู้นำเข้า เนื่องจากเมื่อผลผลิตใกล้ออกสู่ตลาดแล้วจะไม่สามารถเก็บรักษาสินค้าไว้ได้นาน ผู้นำเข้าสามารถร่วมมือกันชะลอการสั่งซื้อเพื่อต่อรองราคา ประกอบกับผู้ส่งออกผลไม้ไทยได้เพิ่มจำนวนขึ้นมากจากการที่ผู้ผลิตเริ่มประสบผลสำเร็จจากการออกหาตลาดได้เองในต่างประเทศ ไม่เพียงแต่ขายผ่านผู้รวบรวมดังเช่นที่ผ่านมา ในขณะที่จำนวนผู้นำเข้าก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
การแข่งขันจึงมีสูงทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ผู้ส่งออกไทยควรพิจารณารวมกลุ่มเพื่อกำหนดราคาขายมาตรฐาน โดยตั้งราคาจากคุณภาพมาตรฐานและปริมาณที่ออกสู่ตลาดเป็นฐานกำหนดราคาอ้างอิง ควรหลีกเลี่ยงการเสนอขายด้วยราคาที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงซึ่งจะทำให้สินค้าราคาตก และคำนึงว่าตลาดผู้บริโภคชาวจีนมีไม่สิ้นสุดและยังมีโอกาสขยายฐานจำนวนผู้บริโภคได้อีกมากในวันข้างหน้า
อนึ่ง สามารถติดตามความเคลื่อนไหวราคาขายส่งผลไม้ไทยในตลาดจีนที่สำคัญได้ที่ http://www.21food.cn
รายงานโดย สิริรัตน์ วงศ์ไพโรจน์พานิช
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองซีอาน