เนื้อหาวันที่ : 2012-09-20 10:26:21 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2710 views

รู้จักจีน รู้จักซีอาน (ตอนที่ 3) ตลาดสินค้าฮาลาล

เมื่อครั้งที่ซีอานเป็นเมืองหลวงของประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถัง ชาวอิสลามจากประเทศอาหรับเดินทางมาค้าขายกับจีนโดยใช้เส้นทางสายไหม

รู้จักจีน รู้จักซีอาน (ตอนที่ ๓) ตลาดสินค้าฮาลาล


เมื่อครั้งที่ซีอานเป็นเมืองหลวงของประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถัง ชาวอิสลามจากประเทศอาหรับเดินทางมาค้าขายกับจีนโดยใช้เส้นทางสายไหม และเข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเมืองซีอานซึ่งเป็นเมืองที่มีความเจริญสูงสุดในขณะนั้น ชาวอาหรับได้ตั้งหลักแหล่งค้าขายและรวมกลุ่มกันอยู่เป็นชุมชนชาวอิสลาม มีสุเหล่าและภัตตาคารอาหารฮาลาล กล่าวกันว่าเมื่อมาร์โคโปโลเดินทางมาถึงซีอานและได้ไปเยือนจัตุรัสมุสลิม ได้นำเทคนิคการทำพิซซ่ากลับไปยังอิตาลี จนถึงวันนี้ชาวมุสลิมในซีอานยังคงถิ่นฐานอยู่ที่เก่าเช่นเดิมนับต่อเนื่องมากว่าพันสามร้อยปี ชนกลุ่มนี้คือ “ชาวหุย” ซึ่งหมายถึงชาวจีนฮั่นที่นับถือศาสนาอิสลาม ในซีอานมีชาวหุยอยู่ ๗๐,๐๐๐ คน ซึ่งนอกจากเป็นครอบครัวที่สืบเชื้อสายหลายร้อยรุ่นมาแต่อดีตแล้ว ยังมีชาวมุสลิมที่อพยพเข้ามาอยู่ใหม่มาจากมณฑลเหอหนาน ซานตง และซินเกียง ซึ่งต่างได้นำอาหารฮาลาลในแบบของตนเข้าเผยแพร่ในซีอานด้วย ทั้งนี้ทั่วทั้งมณฑลส่านซีมีชาวมุสลิมรวมประมาณ ๑๓๙,๐๐๐ คน

๑.  โอกาสทางการตลาด
ประเทศจีนมีชนกลุ่มน้อยอยู่ ๕๕ ชนชาติ ในจำนวนนี้ ๑๐ กลุ่มนับถือศาสนาอิสลาม รวมจำนวน ๒๒ ล้านคน ได้แก่ ชาวหุยซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศจีน ๙.๘ ล้านคน ชาวอุยกูร์หรือชาวจีนเชื้อสายเติร์ก ๘.๔ ล้านคน และกลุ่มชนชาติที่เหลืออีก ๘ กลุ่ม อาทิ คาซัส ตงเซียง เตอร์กิซ ซาลา ทาจิก เป่าอัน อุซเบก ทาทาร์ ดังนั้น ชาวหุยจึงนับเป็นกลุ่มชนนับถือศาสนาอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน เป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุด อยู่กันหนาแน่นในบางพื้นที่เช่นเขตปกครองตนเองซินเกียง เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย มณฑลกานซู มณฑลชิงไห่ มณฑลเหอเป่ย มณฑลเหอหนาน มณฑลยูนนาน มณฑลซานตง และมณฑลส่านซี

๒.  ช่องทางการตลาด/การกระจายสินค้า
๓.  ขั้นตอนในการนำเข้าสินค้าและกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง
การขายสินค้าอุปโภคบริโภคในจีนต้องขออนุญาต โดยเริ่มจากการขออนุญาตฉลากสินค้า หมายถึง สินค้าที่นำเข้ามามีฉลากภาษาไทย ต้องนำไปแปลแบบคำต่อคำก่อน จากนั้นนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์อย่างละ ๖ ชิ้น พร้อมบรรจุภัณฑ์ที่ติดฉลาก ซึ่งมีการระบุวันผลิต/ วันหมดอายุ และส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อย่างชัดเจน ไปยื่นขอรับรองผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานควบคุมด้านความปลอดภัยของสินค้าที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เวลาประมาณเดือนครึ่งถึงสามเดือน จากนั้นจึงนำใบรับรองฉลากไปขอนำเข้าสินค้าที่ด่านศุลกากร และต้องผ่านการตรวจรับรองความปลอดภัยของสินค้าอีกชั้นหนึ่งก่อนที่จะไปวางจำหน่าย ซึ่งขั้นตอนการขออนุญาตทั้งหมดสามารถจ้างบริษัทที่รับทำด้านนี้ไปดำเนินการได้ ซึ่งจะมีความชำนาญและติดต่อกับหน่วยงานภายในอยู่เป็นประจำ ทำให้สะดวกรวดเร็ว และค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก

การหาข้อมูลตลาดสามารถทำได้โดยพูดคุยกับนักธุรกิจในท้องที่สร้างความคุ้นเคยและไว้เนื้อเชื่อใจ จะทำให้ได้รับข้อมูลที่แท้จริงและถูกต้องในการตัดสินใจ นอกจากนี้ อาจใช้บริการบริษัทที่ปรึกษาซึ่งจะให้ข้อมูลเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียได้หลากหลาย นอกจากนี้การสร้างแบรนด์นับเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ประกอบการไทยควรยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงของไทยไว้ในประเทศจีนเมื่อนำสินค้าเข้ามาขาย เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อสินค้าติดตลาดแล้ว

๔.  ข้อมูลอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในประเทศ
จากสถิติของสมาคมอิสลามแห่งประเทศจีน แสดงว่ามูลค่าการค้าการซื้อขายระหว่างประเทศสินค้าอาหารฮาลาลมีไม่น้อยกว่า ๒.๑ ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าวเชื่อว่าอัตราการเจริญเติบโตจะสูงกว่าร้อยละ ๒๐ ต่อปี ไม่นับรวมถึงสินค้าฮาลาลอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า ของตกแต่งและเครื่องใช้ สำหรับประเทสจีนอุตสาหกรรมฮาลาลเติบโตปีละประมาณร้อยละ ๑๐ มูลค่าการค้าสินค้าอาหารฮาลาลในประเทศจีนมีประมาณ ๒,๑๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สินค้าฮาลาลของจีนมีสัดส่วนการค้าในตลาดโลกเพียงร้อยละ ๐.๑ และส่วนใหญ่เป็นการนำเข้า ในขณะที่การส่งออกมีเพียงประมาณ ๑๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นส่วนแบ่งตลาดที่น้อยนิดในตลาดโลก

อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในประเทศจีนยังไม่เติบโตและแข็งแรงมากนัก เริ่มต้นโดยจากการรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ผลิตสินค้าและอาหารฮาลาลส่วนใหญ่จะอยูในอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อวัวและแกะ ตลอดจนสินค้าที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบจากสิ่งเหล่านี้ ได้แก่ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและสินค้าหัตถกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ อุตสาหกรรมดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มณฑลเหอหนาน มณฑลกวางตุ้ง และพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอยู่มาก ผู้ผลิตอาหารฮาลาลส่วนใหญ่เป็นบริษัทเล็ก ผลิตสินค้าที่มูลค่าเพิ่มน้อย ขาดแคลนเทคโนโลยีที่จะช่วยให้สินค้าสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดสากล และยังไม่มีการสร้างแบรนด์

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งในอุตสาหกรรมฮาลาล คือใบรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล โดยทั่วไปสามารถขอรับได้จากหน่วยงานการศาสนาและชนกลุ่มน้อยของแต่ละท้องถิ่นหลังการตรวจสอบความถูกต้องของสินค้า ในบางท้องที่ใบรับรองนี้จะออกให้โดยสุเหล่า ปัจจุบันมีความร่วมมือระหว่างจีนกับต่างประเทศในการจัดตั้งศูนย์อบรมรับรองมาตรฐานฮาลาล ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความผูกพันกันในทางศาสนา วิถีการดำเนินชีวิต และลักษณะเศรษฐกิจที่สามารถเกื้อหนุนกันและกัน โดยใช้กลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์ควบคู่กับการแลกเปลี่ยนทางการค้า นอกจากนี้มีการลงนามความร่วมมือที่จะจัดตั้งศูนย์กลางอาหารฮาลาลในเมืองซีอานระหว่างมาเลเซียกับจีน บนพื้นที่กว่า ๓,๐๐๐ ตารางเมตร ใกล้กับแหล่งชุมชนชาวมุสลิมในเมืองซีอาน ในขณะเดียวกันมาเลเซียได้จัดตั้งศูนย์อบรมเพื่อช่วยพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลของจีนให้ได้มาตรฐานสากลเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปจำหน่ายในประเทศโลกมุสลิมอื่นๆ ได้

เนื่องจากอาหารฮาลาลเป็นอาหารบริสุทธิ์สะอาด ผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานถูกต้องตามหลักศาสนา จึงเป็นที่ยอมรับสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่จำกัดอยู่เพียงในหมู่ชาวมุสลิมเท่านั้น ร้านอาหารจานด่วนของชาติตะวันตกที่จำหน่ายและเป็นที่นิยมหากจัดตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนชาวมุสลิม ก็จะปรับเมนูอาหารให้เป็นฮาลาล เพื่อเข้าถึงตลาดได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ก็เห็นความสำคัญและเริ่มทำการเจาะลูกค้าในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่ของจีนยังไม่มีสินค้าฮาลาลที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ หากต้องการสินค้าจะต้องสั่งซื้อจากร้านค้าที่ได้รับตราเครื่องหมายฮาลาลที่เชื่อถือได้ตามเมืองใหญ่

๕.   ข้อเสนอแนะ
การขยายตลาดสินค้าฮาลาลจากประเทศไทยเข้ามายังจีน จำเป็นต้องเข้าใจและเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม ตลอดจนทำการศึกษาหาลู่ทางที่เหมาะสม เนื่องจากแต่ละพื้นที่ของจีนมีความแตกต่างและหลากหลายมาก สินค้าควรมีจุดขายที่ชัดเจน และมุ่งเป้าไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก ตลาดฮาลาลในจีนเป็นที่สนใจของหลายประเทศ การแข่งขันสูง ประกอบกับตลาดจีนมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ตามระดับการเปิดเสรี นอกจากต้องศึกษานโยบายภารรัฐอยู่เป็นระยะแล้ว สิ่งสำคัญคือจะต้องทำความเข้าใจกับลักษณะเฉพาะต่างๆ ของตลาดจีน ธรรมเนียมปฏิบัติ กลยุทธ์การค้าแนวทางในวิถีของจีน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ทำการค้าโดยหวังผลระยะยาวเพื่อประโยชน์และความเจริญร่วมกันของสองฝ่าย

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองซีอาน
กรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์
ที่มา: http://www.depthai.go.th