เนื้อหาวันที่ : 2012-09-18 13:34:42 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2292 views

สงขลาไบโอแมส ปิดดีลสินเชื่อ 620 ล้านบาทมุ่งหวังเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้า

โครงการสงขลาไบโอแมส เดินหน้าปิดดีลสินเชื่อ 620 ล้านบาทมุ่งหวังเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าของชุมชนที่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง

สินเชื่อดังกล่าวจะนำไปใช้ในการก่อสร้างโครงการ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเดินเครื่องได้ในปี 2557 เป็นดีลแรกของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยที่ให้สินเชื่อโครงการประเภทโรงไฟฟ้า  โครงการนี้ถือเป็นต้นแบบโรงไฟฟ้าชุมชนที่ชุมชนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง
         
บริษัท สงขลาไบโอแมส จำกัด (“สงขลาไบโอแมส”) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท พรีไซซ เพาเวอร์ โปรดิวเซอร์ จำกัด (“พรีไซซ เพาเวอร์”) และสหกรณ์ออมทรัพย์อัศศิดดีก จำกัด ประสบความสำเร็จในการจัดหาสินเชื่อ โดยได้ลงนามสัญญาการสนับสนุนสินเชื่อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล กับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยวงเงินมูลค่า 620 ล้านบาท เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2555

นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ในฐานะผู้ถือหุ้น กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลสงขลาเป็นโครงการที่เราภาคภูมิใจมาก เพราะรูปแบบการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าของชุมชนอย่างแท้จริง โดยเบื้องต้น สหกรณ์อัศศิดดิก ได้เข้ามาถือหุ้นร่วมกันในสงขลาไบโอแมส จากนั้นจะดำเนินการกระจายหุ้นให้กับชุมชนในพื้นที่ รอบโรงไฟฟ้าต่อไป

การมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าของชุมชน จะทำให้ชุมชนเกิดความเข้าใจเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า ช่วยดูแลและตรวจสอบการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด และเกิดความรักและหวงแหนโรงไฟฟ้าอีกด้วย”

สำหรับ ราชบุรีโฮลดิ้ง นอกเหนือจากเงินทุนแล้ว ยังได้สนับสนุนบุคลากรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนและด้านการเงินทำให้โครงการเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย และที่สำคัญโครงการนี้ยังตอบสนองกลยุทธ์การเติบโตด้านพลังงานทดแทนของบริษัทฯ และเป็นการตอบสนองนโยบายการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของรัฐบาล ซึ่งมีเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลให้ได้ 3,630 เมกะวัตต์ในปี 2564

“การเป็นพันธมิตรกับ พรีไซซ เพาเวอร์ในโครงการชีวมวลสงขลา ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดภาระการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศเพื่อการผลิตไฟฟ้า และลดภาวะโลกร้อน ขณะเดียวกันก็มองว่า การจะพัฒนาโครงการให้ประสบความสำเร็จต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เกิดการยอมรับและเชื่อมั่น เพื่อให้โครงการและชุมชนอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดีที่การพัฒนาโครงการนี้ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากชุมชนที่เล็งเห็น ประโยชน์ของประเทศชาติและชุมชนที่จะได้รับจากโครงการเป็นสำคัญ" นายนพพล กล่าว

นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย กรรมการ บริษัท พรีไซซ เพาเวอร์ โปรดิวเซอร์ จำกัด หนึ่งในผู้ถือหุ้น เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลสงขลา ริเริ่มขึ้นตามนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนของภาครัฐ โดยบริษัทฯ ได้เลือกพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นที่ตั้งโครงการ เพราะมองเห็นศักยภาพชีวมวลที่มีอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกยางพารามากกว่าร้อยละ 85 ของประเทศ มีปริมาณรากไม้ยางพาราจำนวนมากที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลได้ อีกทั้งโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราส่วนใหญ่ก็อยู่ในภาคใต้ ซึ่งการแปรรูปไม้ยางพารานั้น จะได้ปีกไม้และขี้เลื่อยเป็นผลพลอยได้ ซึ่งจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวลได้เช่นกัน ทำให้มีความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงต่ำ

โครงการนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่รัฐให้การสนับสนุนเป็นพิเศษ โดยให้ราคารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 1 บาทต่อหน่วยผลิต หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 30% เป็นเวลา 7 ปี อันจะทำให้โครงการมีผลตอบแทนดียิ่งขึ้น” นายพรเทพกล่าว

ด้านนายก่อซี อุเซ่ง ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์อัศศิดดีก จำกัด เปิดเผยว่า รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลมาตั้งแต่เริ่มต้น โดยสหกรณ์ฯ ได้ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างผู้พัฒนาโครงการและชุมชน มีส่วนร่วมในการคิด รวมทั้งหาทางออกให้กับประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาโครงการอย่างสร้างสรรค์

“แนวคิดที่สนับสนุนให้โครงการนี้เป็นโครงการเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง คือ เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนในฐานะเจ้าของโครงการ แสดงถึงความจริงใจของผู้พัฒนาโครงการ ทำให้ชุมชนมีความมั่นใจในโครงการและเชื่อว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน”

นายณรงค์ศักดิ์ วิเชษฐ์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สงขลาไบโอแมส จำกัด เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าชีวมวลสงขลา มีขนาดกำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และกำหนดขายไฟฟ้าให้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 9.1 เมกะวัตต์ บริษัทฯ มีความภูมิใจในความก้าวหน้าของโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างดียิ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้มีการลงนามในสัญญา ซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) ประเภท Non-Firm

สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากกับ กฟภ. ระยะเวลา 25 ปี และได้รับการสนับสนุนอัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder) จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) จำนวน 1.30 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 7 ปี

อีกทั้งยังได้รับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นระยะเวลา 8 ปี ล่าสุด บริษัทฯ ได้ลงนามสัญญาสนับสนุนสินเชื่อวงเงินมูลค่า 620 ล้านบาทกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยด้วย  “ภายหลังการลงนามเงินกู้วันนี้แล้ว บริษัทฯ จะดำเนินการออกแบบ จัดหาอุปกรณ์และก่อสร้างโรงไฟฟ้า คาดว่าโรงไฟฟ้าจะแล้วเสร็จและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนกรกฎาคม 2557”


สำหรับ หม่อมราชวงศ์ศศิพฤนท์ จันทรทัต กรรมการ และรักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นว่า “โครงการนี้ถือเป็นก้าวแรกของธนาคารในการเข้าสู่ธุรกิจพลังงานนับตั้งแต่ธนาคารได้จัดตั้งขึ้นในปี 2545 และเป็นโครงการฯ ที่มีจุดเด่น ในแง่ของการสนับสนุนของชุมชนและความมั่นคงด้านเชื้อเพลิง เพราะในพื้นที่ภาคใต้การพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้ายังมีไม่มากนักทำให้ ปริมาณของเชื้อเพลิงยังมีอยู่อย่างเพียงพอ

ด้วยความพร้อมของเงินทุนดังกล่าวจะเสริมสร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่ายได้ว่าโครงการโรงไฟฟ้า ชีวมวลสงขลาจะสามารถเดินหน้าดำเนินการตามแผนงานได้สำเร็จโดยจะสามารถเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2557 ตามเป้าหมายที่วางไว้ในที่สุด”