นายกฯ อนุมัติพีดีพี 2010 ขัดแผนอนุรักษ์พลังงานของครม. ส่อเอื้อผุด 7 โรงไฟฟ้าเอกชน ชี้นักการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อน
เอ็นจีโอ ตอกแผนพัฒนาพลังงาน 20 ปี เปิดเวทีฟังความเห็น 2 ชม. นายกฯอนุมัติพีดีพี 2010 ขัดแผนอนุรักษ์พลังงานของครม. ส่อเอื้อผุด 7 โรงไฟฟ้าเอกชน ชี้นักการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อน
น.ส.สุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทับสะแกของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) วิจารณ์การแถลงผลงานครบรอบ 1 ปีรัฐบาลของกระทรวงพลังงานนำโดยนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ประกาศความสำเร็จในการทำแผนพัฒนาไฟฟ้า(พีดีพี) 20ปี โดยใช้พลังงานทดแทนและแผนอนุรักษ์พลังงานเพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้า ในการรองรับการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้าอีก 20 ปีข้างหน้า
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่าประชาชนต้องรู้เท่าทันนักการเมือง การประเมิลผลนโยบายควรยึดความจริงและผลประโยชน์สังคมโดยรวม และนำไปสู่การแก้ไขข้อผิดพลาด ทั้งนี้กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแกไม่เห็นด้วยกับแผนพีดีพี 2010 ปรับปรุงครั้งที่ 3 ที่ต้องใช้ 20 ปี แต่มีเวลาฟังความเห็นประชาชนแค่ 1 ชั่วโมง 45 นาที ทำเวทีที่เดียวในกรุงเทพฯ รีบชงอนุมัติเพื่อให้เปิดประมูลสัมปทานโรงไฟฟ้าเอกชน 7 โรงให้ทันรัฐบาล และเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ กฟผ.ได้ไฟเขียวทำแผนปิดซ่อมโรงไฟฟ้าไป 3,000 เมกะวัตต์ ทั้งๆที่หลีกเลี่ยงได้ ถือว่าเป็นการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้ไฟฟ้าสำรองที่พึ่งพาได้ต่ำกว่าเป็นจริง เพื่ออ้างเหตุผลในการเร่งลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและก๊าซใหม่โดยไม่จำเป็น
แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก ยังกล่าวถึงแผนอนุรักษ์พลังงานของรัฐบาลที่ออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี โดยกำหนดเป้าหมายลดความต้องการใช้ไฟฟ้า 17,500 เมกกะวัตต์ (เทียบเท่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 22โรง)ในรอบ 20ปี ถือเป็นนโยบายชิ้นโบว์แดง แต่เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติ กระทรวงพลังงาน กลับทำแผนพีดีพี 2010 กลับกำหนดเป้าหมายการทำแผนอนุรักษ์พลังงานเพียง 20% หรือ 3,500 เมกะวัตต์ใน 20ปี และนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานชาติอนุมัติผ่าน จึงชัดเจนว่ารัฐบาลชุดนี้สอบตกด้านนโยบายพลังงาน
น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่าหากรัฐบาลจริงใจ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการไฟฟ้าด้านดีมานด์ โดยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าตามแผนอนุรักษ์พลังงานให้บรรลุเป้าหมายปีละ 875 เมกะวัตต์ จะทำให้ค่าไฟฟ้าตามคาดหมายในปี 2573 ลดลง 22% ทันที และใช้เม็ดเงินลงทุนต่ำกว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทุกชนิด ไม่ต้องเสียเงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. 4โรง โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2โรงและโรงไฟฟ้าก๊าซของเอกชนอีก 7 โรง ประเทศไทยก็มีไฟฟ้าพอใช้ และยังช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงได้อย่างยั่งยืน
แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก กล่าวอีกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้แผนอนุรักษ์พลังงานป็นทางเลือกแรกในการวางแผนพีดีพี และต้องทำให้มากสุด แต่รัฐบาลไทยกลับทำตรงข้ามคือใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายและทำให้น้อยที่สุด เพราะระบบที่เอื้อให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานและ กฟผ.ที่รับผิดชอบทำแผนพีดีพี ไปนั่งเป็นบอร์ดของบริษัทค้าพลังงานแบบสวมหมวก 2ใบ จึงมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน คำนึงถึงการสร้างกำไรให้กลุ่มทุนค้าพลังงานมากกว่าผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม .
ขอบคุณข้อมูลข่าว : เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา