เนื้อหาวันที่ : 2012-08-28 15:01:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2747 views

เตือนผู้ทำงานในที่อับอากาศ หากประมาทอันตรายถึงชีวิต

ผู้ทำงานในที่อับอากาศ ควรมีมาตรการและอุปกรณ์ป้องกันตัวเองอย่างครบครัน เกิดอันตรายถึงชีวิตได้

กรมการแพทย์เตือนผู้ทำงานในที่อับอากาศ ควรมีมาตรการและอุปกรณ์ป้องกันตัวเองอย่างครบครัน หากประมาทหรือไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองสามารถเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

แพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ที่ทำงานในบริเวณสถานที่อับอากาศเช่น อุโมงค์ ถ้ำ บ่อ หลุม ห้องใต้ดิน ห้องนิรภัย ถังน้ำมัน ถังหมัก ไซโล ท่อ เตา หรือในที่มีทางเข้า-ออกแคบ มีการระบายอากาศไม่เพียงพอ ควรเตรียมอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้แก่ตนเองและทีมงานให้พร้อม เพราะสถานที่อับอากาศเป็นสถานที่มีอากาศหรือออกซิเจนสำหรับหายใจน้อยกว่า 19.6%

ซึ่งในบรรยากาศปกติประกอบด้วยก๊าซออกซิเจน 20.9% ก๊าซไนโตรเจน 78.1% และก๊าซอาร์กอน 1% สถานที่ซึ่งมีออกซิเจนน้อยถือเป็นสถานที่อันตรายมาก สามารถทำให้ผู้ที่ทำงานหรือลงไปในสถานที่เหล่านั้นมีอาการหายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียนและหมดสติ บางรายมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจเกร็ง ชัก และอาจเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่นาที ดังนั้นผู้ที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่อับอากาศซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงอันตรายควรผ่านการอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ เพื่อเข้าใจวิธีการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและเตรียมความพร้อม

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวต่อไปว่าผู้ที่ไม่ควรปฏิบัติงานในที่อับอากาศโดยเด็ดขาด ได้แก่ ผู้ที่มีร่างกายอ้วนมาก ใส่เครื่องช่วยหายใจ (respirator) มีประวัติเป็นโรคลมชัก โรคหอบหืด โรคกลัวที่แคบหรือความมืด มีความดันโลหิตสูงมากกว่า 160/90 ป่วยเป็นไข้หวัด ติดเชื้อในปอด ปอดอุดตัน มีน้ำในปอด ตรวจคลื่นหัวใจและมีลักษณะหัวใจขาดเลือดในขณะนั้น หรือเคยมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย สมรรถภาพทางการได้ยินเสียจากปานกลางถึงมาก และสมรรถภาพทางตาเสียมาก 


 นายแพทย์อดุลย์ บัณฑุกุล หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีกล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเทศไทยมีข่าวเกี่ยวกับ การตายจากการทำงานในสถานที่อับอากาศอยู่เสมอ ๆ สาเหตุเพราะนายจ้างและคนงานไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องอันตรายจากการทำงานในสถานที่อับอากาศ ซึ่งสถานที่เหล่านั้นมีอันตรายหลายอย่างเช่นความร้อน ไฟไหม้ ระเบิด สารเคมี ก๊าซพิษ

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือและรักษาควรนำผู้ป่วยออกจากพื้นที่เพื่อให้ได้รับออกซิเจนอย่างรวดเร็ว หากช้าเกินไปจะทำให้สมองขาดออกซิเจน สายตามองไม่เห็นบางส่วน และมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันโดยการกำหนดบริเวณที่อับอากาศ คุณสมบัติผู้ทำงาน และต้องสวมเครื่องป้องกันอันตรายส่วนบุคคลเสมอ


หากเกิดปัญหาดังกล่าวควรขอความช่วยเหลือไปที่กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และรายงานไปให้โรงพยาบาลในพื้นที่รับทราบเพื่อเตรียมสถานที่และอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อกลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และ เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โทร. 0-2517-4333