เนื้อหาวันที่ : 2012-08-16 15:03:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2046 views

อมตะ บี. กริม แต่งตั้งกสิกรเป็นที่ปรึกษาจัดหาแหล่งเงินทุนสร้าง 10 โรงไฟฟ้า

อมตะ บี. กริม แต่งตั้งกสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน จัดหาแหล่งเงินทุนสร้าง 10 โรงไฟฟ้า มูลค่ารวม 5 หมื่นล้านบาท

กสิกรไทย มุ่งมั่นเป็นเบอร์หนึ่งหนุนโรงไฟฟ้า SPP ล่าสุดอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บี.กริม ตั้งเป็นที่ปรึกษาระดมเงินทุน 5 หมื่นล้านบาท สร้างโรงไฟฟ้า 10 แห่งรวด ผลิตไฟฟ้าป้อนกฟผ. และโรงงานในนิคมอุตฯ ชั้นนำ 5 แห่ง สร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในระยะยาว
นายกฤษฎา ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า บริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทย ได้แต่งตั้งธนาคารกสิกรไทย ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) ในการดำเนินการจัดหาและเจรจาจัดสรรแหล่งเงินกู้มูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท
 
เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมขนาดเล็ก (SPP) ของกลุ่มบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ ซึ่งมีแผนที่จะก่อสร้างภายใน 7 ปี จำนวน 10 แห่ง ใน 5 นิคมอุตสาหกรรม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแห่งละ 90 เมกะวัตต์ รวมเป็น 900 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 1,200 เมกะวัตต์
 
โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ระยะยาว 25 ปี ส่วนพลังงานไฟฟ้าส่วนที่เหลือและไอน้ำจะจำหน่ายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมภายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่โครงการตั้งอยู่ 

ทั้งนี้การจัดหาแหล่งเงินของบริษัทเอกชนที่มูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท นับเป็นการจัดหาที่มีมูลค่ามากที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย ดังนั้นโครงสร้างแผนการเงินคงจะมีรูปแบบที่หลากหลายอาทิ เงินกู้ร่วมทั้งจากธนาคารไทยและต่างประเทศ การออกตราสารทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ อย่างไรก็ตามแหล่งเงินที่นำมาลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ จะทยอยดำเนินการในช่วงเวลา 6-7 ปี ดังนั้นจึงจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของธนาคารกสิกรไทย และระบบการเงินในประเทศ 
 
โครงการสร้างโรงไฟฟ้าของบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้อนนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญของไทยจะมีส่วนสร้างความมั่นใจให้แก่เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมว่าจะมีความต่อเนื่องของกระบวนการผลิต โดยไม่มีปัญหาเรื่องพลังงานไฟฟ้า
 
รวมทั้งความมีเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่นักลงทุนต่างประเทศใช้ในการพิจารณาเพื่อเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งแผนการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 10 โรงของบริษัท จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวให้แก่ประเทศไทยมากขึ้น ทั้งในภาคครัวเรือน ธุรกิจ อุตสาหกรรม และการพัฒนาประเทศ
 
ด้านนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2555 ปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้พุ่งสูงสุดถึง 26,121 เมกะวัตต์ และคาดว่าในปี 2556 ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 27,443 เมกะวัตต์
 
ดังนั้นเพื่อรองรับการความการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น และสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศในระยะยาว ทางบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จึงมีแผนจะลงทุนอีกประมาณ 50,000 ล้านบาท สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 10 โรงและได้เลือกให้ธนาคารกสิกรไทย เป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการจัดหาเงินทุนในการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าในครั้งนี้
 
เนื่องจากเล็งเห็นว่า เป็นธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญในการในการแสวงหาแหล่งเงินทุนที่หลากหลายตรงความต้องการ และที่สำคัญคือ เป็นสถาบันการเงินที่มีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจพลังงานมากที่สุดธนาคารหนึ่งในประเทศไทย

สำหรับโครงการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ของบริษัท ฯ ทั้ง 10 โรง จะตั้งอยู่ภายใน 5 นิคมอุตสาหกรรมได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี 2 โรง นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครและนิคมอุตสาหกรรมเหมราช จังหวัดชลบุรี 3 โรง นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง 3 โรง และนิคมอุตสาหกรรมวีอาร์เอ็ม (VRM) จังหวัดราชบุรี 2 โรง กำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละ 116-142 เมกะวัตต์ คาดจะสร้างเสร็จทั้งหมดภายในปี 2562 
 
นางปรียนาถ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัท อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด มีโรงผลิตไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว 3 โรง ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี 2 โรง และในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เบียนโฮ ประเทศเวียดนาม 1 โรง มีกำลังการผลิตรวม 363 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) อีก 3 โรง
 
ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี ขนาด 130 เมกะวัตต์ จำนวน 1 โรง พร้อมจะจ่ายไฟฟ้าในเดือนกันยายน 2555 และ ขนาด 120 เมกะวัตต์ อีก 2 โรงตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จภายในปี 2556 โดยโรงไฟฟ้าทั้งหมดจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมกันประมาณ 2,000 เมกะวัตต์
 
ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวนมากกว่า 800 ราย นอกเหนือจากที่ส่งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย