เนื้อหาวันที่ : 2012-08-09 13:58:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3057 views

กฟน. เปิดสถานีชาร์จไฟฟ้า โชว์นวัตกรรมแห่งอนาคต

กฟน. เปิดสถานีชาร์จไฟฟ้า โชว์นวัตกรรมแห่งอนาคต มั่นใจสิ้นปีมีกำไรทะลุ 7 พันล้านบาท

การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ครบรอบ 54 ปี แห่งความภาคภูมิใจ มุ่งรับใช้ประชาชนเดินหน้าระบบไฟฟ้ามั่นคง บริการมั่นใจ ห่วงใยสังคม  จ่ายลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท พร้อมเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้า โชว์นวัตกรรมแห่งอนาคต มั่นใจสิ้นปีมีกำไรทะลุ 7 พันล้านบาท เผยฐานะการเงินมีความมั่นคง มีความสามารถในการชำระหนี้ และการลงทุนเพื่อประชาชนสู่วิถีแห่งอนาคต

นายอาทร สินสวัสดิ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2555 กฟน.มีรายได้รวม 85,000 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 80,300 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 4,700 ล้านบาท หน่วยจำหน่ายไฟฟ้า 24,100 ล้านหน่วย มีสินทรัพย์รวม 150,700 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากปีก่อน 6,100 ล้านบาท คาดว่า กำไรสุทธิทั้งปีประมาณ 6,900 ล้านบาท โดยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปี 2555 เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 อยู่ที่ 8,383 เมกะวัตต์

ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยต่อไปว่า กฟน. ได้ยึดหลัก ระบบไฟฟ้ามั่นคง บริการมั่นใจ   ห่วงใยสังคม  โดยได้พัฒนาระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้าให้มีความมั่นคง มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น ระบบควบคุมระบบไฟฟ้า  และระบบบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า  (Supervisory  Control and  Data  Acquisition/Energy  Management System : SCADA/EMS)  ระบบควบคุมระบบสายป้อนอัตโนมัติ  (Distribution Automation System : DAS) และเพื่อรองรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น 

กฟน. ได้มีแผนลงทุนที่สำคัญในการพัฒนาระบบไฟฟ้า ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสาร  โดยจัดทำแผนปฏิบัติ งบประมาณประจำปี 2555 มีวงเงินลงทุนดำเนินการ 29,400 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 9,700 ล้านบาท 

กฟน. ตระหนักถึงภารกิจในการมีส่วนร่วมและสนับสนุนการพัฒนากรุงเทพฯ เมืองสวรรค์ จึงมุ่งเน้นการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายป้อนอากาศเป็นสายใต้ดิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการในพื้นที่พหลโยธิน  พญาไท สุขุมวิท ปทุมวัน จิตรลดา พระราม 3 และนนทรี

โดยการดำเนินงานดังกล่าวยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของระบบจำหน่ายเพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการพลังไฟฟ้าในอนาคต และดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ในการให้บริการระบบไฟฟ้า และรักษามาตรฐานในการให้บริการต่อผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการสนองต่อยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ( 2555-2559) ในการสร้างความสมดุลและมั่นคงของพลังงาน และสนับสนุนการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค

สำหรับค่าดัชนีความมั่นคงในระบบไฟฟ้า  และความสูญเสียในระบบจำหน่ายในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา กฟน. สามารถดำเนินการจ่ายกระแสไฟฟ้ารองรับความต้องการของลูกค้า  และความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดได้อย่างพอเพียง ตลอดจนสามารถเสริมสร้างและรักษาระดับความมั่นคงในระบบไฟฟ้าโดยมีค่าดัชนีจำนวนไฟฟ้าดับ (SAIFI) เฉลี่ย 0.976 ครั้ง/ราย ค่าดัชนีระยะเวลาไฟฟ้าดับ (SAIDI) มีค่าเฉลี่ย 26.729 นาที / ราย        

ด้านการให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้า กฟน. ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริการ   ผู้ใช้ไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความคาดหวัง  และความพึงพอใจของผู้ใช้ไฟฟ้า  โดยปัจจุบัน กฟน. มีผู้ใช้ไฟฟ้ากว่า 3.15 ล้านราย แบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบออกเป็น 18 เขต  และ 12 สาขาย่อยทุกแห่ง ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล (ISO 9001:2008) พร้อมนำระบบ e – service มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขอใช้ไฟฟ้า มีการพัฒนาศูนย์ข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า Call Center 1130 ให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยเดือนละกว่า 1 แสนราย นอกจากนี้ กฟน. ยังนำระบบ CRM-CEM มาใช้โดยคำนึงถึงลูกค้าเป็นศูนย์กลางการให้บริการ พร้อมนำระบบ GIS มาใช้ในงานบริการลูกค้าเพื่อความสะดวก รวดเร็ว

นอกเหนือจากภารกิจหลักในด้านการจำหน่ายไฟฟ้าแล้ว กฟน. ยังได้ให้ความสำคัญในเรื่อง  สังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) ควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นในด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการอนุรักษ์พลังงาน ด้านความปลอดภัย และด้านชุมชนและสังคม ซึ่งในโอกาสครบรอบ 54 ปี กฟน. ได้มีพิธีเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้า (EV Charging Station) เป็นแห่งแรก  ณ การไฟฟ้านครหลวง สำนักงานใหญ่ ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่การให้บริการของ กฟน.  และมีการวางแผนการก่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าเพิ่มเติม ณ การไฟฟ้านครหลวงเขตต่างๆ

นอกจากนี้ กฟน. ยังได้มีการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้งานกิจการภายในด้วย กฟน. จึงถือเป็นองค์การที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV Community) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่กําลังได้รับความนิยมจากทั่วโลก โดยคาดว่าจะเป็นเทคโนโลยีหลักที่จะใช้ในด้านการขนส่งในอนาคต เทคโนโลยีดังกล่าวมีข้อดีหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นพลังงานสะอาด ลดการสร้างมลภาวะ สำหรับการทำงานของสถานีชาร์จไฟฟ้าของ กฟน. นั้น เป็นการชาร์จไฟแบบเร็ว ไม่เกิน 30 นาที

กฟน. ยังมีการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่สังคมและสิ่งแวดล้อมหลายโครงการ  เช่น โครงการคืนโลกสดใส ลดใช้พลังงาน ที่เน้นให้เยาวชนตระหนักในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์ป่าชายเลน ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์  โครงการ Young MEA ที่เน้นในการสนับสนุนให้เยาวชนทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงกิจกรรมประหยัดพลังงาน โครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนและสังคม ในการออกหน่วยให้บริการประชาชนตามชุมชนต่างๆ โครงการบำรุงรักษาระบบสายดิน ตู้น้ำดื่มในโรงเรียนสังกัด กรุงเทพมหานคร และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น