สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดสำหรับยานยนต์ ที่ทำมาจากมูลวัว
สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดสำหรับยานยนต์ ที่ทำมาจากมูลวัว ช่วยลดมลภาวะที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ในปี 2552-2553 สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ในการทำการวิจัยการผลิตไบโอมีเทนด้วยวิธีดูดซึมด้วยน้ำ หรือเรียกว่า วอเตอร์ สครับบริ้ง (Water Scrubbing) จนเป็นผลสำเร็จ
โดยมีกำลังการผลิต 20 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เทียบเท่าการผลิตก๊าซเอ็นจีวี หรือก๊าซซีเอ็นจี NGV/CNG จำนวน 16 ถังต่อวัน (15 กก.ต่อถัง) และในปี 2554-2556 ทางสถาบันฯ จึงได้ริเริ่มที่จะต่อยอดจากงานวิจัยดังกล่าว โดยวิจัยร่วมกับ บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ฟาร์ม จำกัด นำก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้จากมูลวัวภายในฟาร์มจำนวนประมาณ 3,500 ตัว มาผลิตเป็น CBG
ด้วยวิธีการนำเทคนิคการผลิตไบโอมีเทนที่ได้จากโครงการแรกมาอัดเป็น ก๊าซซีบีจี (CBG ) เพื่อใช้ประโยชน์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ โดยได้มีการทดสอบใช้งานจากรถยนต์จริง
ปัจจุบันได้จัดสร้างอาคารศูนย์สาธิตต้นแบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดสำหรับยานยนต์ ณ บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ฟาร์ม จำกัด อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เป็นแบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นที่ใช้สอย 69 ตารางเมตร โดยมีการเดินระบบท่อส่งก๊าซต่อเชื่อมจากบ่อ
ระบบผลิตก๊าซชีวภาพซีเอ็มยู-ซีดี (CMU-CD) จำนวน 2 บ่อ ปริมาตรบ่อหมักรวม 4,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถผลิตก๊าซได้ประมาณวันละ 1,700-2,000 ลูกบาศก์เมตร ระบบผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัดสำหรับยานยนต์ ประกอบด้วย ระบบผลิตไบโอมีเทนด้วยระบบวิธีดูดซึมด้วยน้ำ ระบบเพิ่มแรงดัน และระบบเติมเข้ารถยนต์ ระบบผลิตก๊าซซีบีจี CBG
สำหรับเครื่องยนต์ เป็นระบบที่ไม่ซับซ้อนมาก สามารถผลิตได้ในทุกที่ที่มีระบบก๊าซชีวภาพ เป็นพลังงานทดแทนที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศ และที่สำคัญคือ ก๊าซซีบีจี CBG เป็นพลังงานที่ไม่มีวันหมด ผลิตได้เรื่อยๆ เป็นพลังงานหมุนเวียนที่หาแหล่งกำเนิดได้ง่าย ใช้ต้นทุนไม่สูงเหมือนการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมการใช้ CBG ยังมีส่วนช่วยในการลดมลภาวะที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
ด้าน นายบัลลพ์กุล ทิพยเนตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า ก๊าซชีวภาพที่ได้จากมูลโคนมภายในฟาร์มที่ผลิตได้วันละ 2,000 ลูกบาศก์เมตร ได้นำมาทดสอบโดยใช้กับรถไถที่ใช้งานในฟาร์ม ติดถังก๊าซขนาด 50 ลิตรน้ำ จำนวน 1 คัน เติมก๊าซ CBG พบว่า รถไถใช้งานได้ดี และช่วยลดค่าน้ำมันดีเซลที่ใช้ในฟาร์ม ได้มากถึงร้อยละ 50
ขอบคุณข้อมูลข่าว : สวท.เชียงใหม่