เนื้อหาวันที่ : 2006-05-08 10:32:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2032 views

ปลากัด eBook บน Pocket PC เพื่อคนไทยรายแรก

บริษัท ไทยซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด หนุน คนไทยรักการอ่าน พัฒนาอีบุ๊คภาษาไทย บน Pocket PC รายแรก ลดการสูญเสียเงินตราออกนอกหลายร้อยล้านบาท หวังเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้อุปกรณ์สื่อสารแบบพกพามากขึ้น

บริษัท ไทยซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด หนุน คนไทยรักการอ่าน  พัฒนาอีบุ๊คภาษาไทย บน Pocket PC รายแรก ลดการสูญเสียเงินตราออกนอกหลายร้อยล้านบาท  ด้วยการสนับสนุนด้านผู้เชี่ยวชาญจากโครงการ ITAP (สวทช.)  เตรียมเปิดตัวภายใต้ชื่อโปรแกรม ปลากัดอีบุ๊ค ไตรมาส 3 นี้ พร้อมตั้งเป้าขยายการใช้งานบนมือถือ  หวังเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้อุปกรณ์สื่อสารแบบพกพาให้กว้างมากยิ่งขึ้น

 

 

 

เทคโนโลยีฐานข้อมูลในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ได้วิวัฒนาการจากหนังสือกระดาษสู่หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า อีบุ๊ค (eBook) เพื่อใช้อ่านในเครื่องคอมพิวเตอร์ PC แต่ปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่สามารถพกพาไปได้สะดวก อาทิ เครื่อง Pocket PC , เครื่อง Palm หรือ โทรศัพท์มือถือ   ทำให้อีบุ๊คได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมถึงประเทศญี่ปุ่น และหากความนิยมของอีบุ๊คมาถึงประเทศไทย อาจทำให้ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าลิขสิทธิ์ออกนอกประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล เนื่องจากอีบุ๊คที่ใช้กันอยู่เป็นโปรแกรมที่ต่างชาติพัฒนาขึ้น ทำให้การใช้งานจะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ให้กับเจ้าของซอฟต์แวร์

 
บริษัท ไทยซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด นับเป็นบริษัทของคนไทยรายแรกที่กล้าพัฒนาโปรแกรมอีบุ๊คภาษาไทยขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานและความสะดวกของคนไทยอย่างแท้จริง และช่วยลดรายจ่ายค่าลิขสิทธิ์ออกนอกประเทศได้หลายร้อยล้านบาท อันจะเกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
 

นายสมพร มณีรัตนะกูล  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ผลิตโปรแกรมดิกชันเนอร์รีไทย-อังกฤษ ของ สอ เสถาบุตร  , โปรแกรมบัญชี หรือระบบบัญชี GENEUS , GENiUS และโปรแกรมสื่อการศึกษา  เปิดเผยว่า  จากประสบการณ์การทำงานด้านการผลิตซอฟต์แวร์ที่สั่งสมมายาวนานกว่า 20 ปี จากอดีตลูกจ้างบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์รายใหญ่แห่งหนึ่ง ได้ร่วมกับเพื่อน ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ ผันตัวเองมาก่อตั้งบริษัทขึ้นเมื่อปี 2541 เพื่อผลิตซอฟต์แวร์จำหน่าย จนเป็นรู้จักและยอมรับของคนในประเทศ  

 

จากการศึกษาตลาดและแนวโน้มพบว่า อีบุ๊คจะได้รับความนิยมในประเทศไทยในอนาคต  แต่โปรแกรมส่วนใหญ่ที่ใช้อยู่ยังคงเป็นโปรแกรมภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น   บริษัทฯ จึงได้พัฒนาโปรแกรมหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีบุ๊คภาษาไทย ภายใต้ชื่อ โปรแกรมปลากัด  หรือ PLAKAT eBook   ขึ้นสำหรับการใช้งานบนเครื่อง Pocket PC เพื่อความสะดวกในการใช้งานของคนไทย  ซึ่งถือเป็นลิขสิทธิ์ของคนไทยด้วย  นอกจากจะช่วยลดรายจ่ายค่าลิขสิทธิ์ออกนอกประเทศได้หลายร้อยล้านบาท  คาดว่าจะสามารถส่งออกอีบุ๊คภาษาไทยไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากในอนาคต

 
สำหรับโปรแกรมปลากัดอีบุ๊คนี้ มีเนื้อหาหรือคอนเท็นต์ที่หลากหลายมากขึ้น เน้นให้สาระมากกว่าความสวยงาม สามารถบรรจุหนังสือได้เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่นวนิยาย ไปจนถึงอัตตชีวประวัติบุคคลสำคัญ ๆ แม้กระทั่งมาตราหรือกฎหมายต่าง ๆ ได้เป็นร้อย ๆ เล่มโดยไม่ต้องพกพาหนังสือกระดาษ ก็สามารถที่จะหาอ่านเรื่องราวที่ต้องการได้จากโปรแกรมดังกล่าวบน Pocket PC ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดก็ตาม หรือแม้แต่นักศึกษา หรือคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ ไม่ว่าที่ใด ๆ ในโลกก็สามารถอ่านภาษาไทยบนเครื่อง Pocket PC ได้ง่ายและสะดวก
 
สาเหตุที่บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาอีบุ๊คภาษาไทย นายสมพร กล่าวว่า เนื่องจากโปรแกรมดังกล่าวยังไม่มีบริษัทรายใดในประเทศทำ ขณะที่ตลาดยังมีความต้องการโดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ใช้งาน เครื่อง Pocket PC ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น อีกประเด็นหนึ่ง เพื่อปกป้องอีบุ๊คภาษาไทยไม่ให้ถูกต่างชาตินำไปดำเนินการจดลิขสิทธิ์เป็นของต่างชาติแล้วเก็บค่าลิขสิทธิ์จากคนไทยที่อ่านอีบุ๊คภาษาไทย ที่สำคัญอีกประการคือ เรามีความเป็นห่วงการอยู่รอดของภาษาไทยในอนาคตว่า หากภาษาไทยที่อยู่ภายในอีบุ๊คที่มาจากต่างประเทศจะถูกกำหนดความหมายตามความเข้าใจของชาวต่างชาติ ซึ่งอาจไม่ถูกต้องหรือมีความหมายที่ผิดเพี้ยนไปจากความหมายเดิม
 

ดังนั้น ในฐานะเป็นคนไทย และบริษัทเองก็มีประสบการณ์จากการทำพจนานุกรมไทยจนเป็นที่ยอมรับทั่วไป จึงได้พัฒนาอีบุ๊คภาษาไทยขึ้นมาให้คนไทยได้ใช้งานในราคาถูก ซึ่งในการพัฒนาโปรแกรมดังกล่าว บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการจัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำแนะนำด้านเทคนิคในการประยุกต์ใช้กับเครื่อง Pocket PC ให้ใช้งานง่ายและมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาอีบุ๊คที่มีความถูกต้องของภาษาไทย โดยเฉพาะเทคนิคในการตัดคำ

 

คุณสมบัติของโปรแกรมปลากัดอีบุ๊คนี้ เป็นการนำเอาข้อดีของอีบุ๊คต่างประเทศมาร่วมเข้าไว้ด้วยกัน และพัฒนาเวอร์ชันให้มีความหลากหลายใช้งานง่าย อาทิ สามารถควบคุมและจัดการภาษาไทยได้อย่างถูกต้องครบถ้วน มีจำนวนหน้าได้ไม่จำกัด ใส่ที่คั่นหน้าและบันทึกเพิ่มเติมได้ไม่จำกัด สามารถเน้นข้อความได้ เลือกหน้าที่ต้องการอ่านได้ทันที ค้นหาหนังสือได้ตามประเภท, วันที่พิมพ์, ชื่อสำนักพิมพ์ หรือชื่อผู้เขียน มีระบบเลื่อนบรรทัดอัตโนมัติตามความเร็วที่ต้องการ เพื่อความสะดวกในการใช้งานของแต่ละบุคคล นอกจากนี้ยังสามารถเก็บสถานะของหนังสือได้ เช่น เป็นหนังสือที่อ่านจบแล้ว, ยังไม่ได้เปิดอ่าน หรือ เปิดอ่านแล้วแต่ยังอ่านไม่จบ เป็นต้น และแม้แต่การแสดงรายละเอียดของอีบุ๊คแต่ละเล่ม เช่น ชื่ออีบุ๊ค, ประเภท, ผู้แต่ง, เลข ISBN, สำนักพิมพ์, ปีที่พิมพ์, เรื่องย่อ, สงวนลิขสิทธิ์โดย, จำนวนหน้า และ รางวัลที่ได้รับ เป็นต้น

 

จุดเด่นที่พิเศษอีกประการที่อีบุ๊คต่างประเทศไม่มี คือ เป็นโปรแกรมที่สามารถแปลได้ 2 ภาษา คือ ภาษาไทย กับภาษาอังกฤษ โดยแสดงข้อความได้ทั้งไทยและอังกฤษ พร้อมกับการพัฒนาไปเป็นภาษาอื่น ๆ เพื่อการส่งออกต่อไป สำหรับการแสดงความหมายของข้อความนั้น จะค้นหาจากพจนานุกรมสอ เสถบุตร ที่บริษัทพัฒนาขึ้น หากต้องการทราบความหมายของคำหรือข้อความ เพียงแค่ชี้ลงบนคำนั้น โปรแกรมก็แปลความหมายให้ทราบทั้งภาษาไทย เป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทย ถือเป็นโปรแกรมอีบุ๊คตัวแรกในโลกที่มีพจนานุกรมภาษาไทย   การเปลี่ยนขนาดตัวอักษร , สีตัวอักษร และสีพื้น เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน เช่น คนที่ตาบอดสี, คนสายตาสั้น, คนสายตายาว รวมถึงการใช้งานในที่มืดก็สามารถอ่านอีบุ๊คได้โดยไม่รบกวนผู้อื่นหรือคนข้าง ๆ ที่ไม่ต้องการแสงสว่าง

 

ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่า จะสามารถเปิดตัวโปรแกรมอีบุ๊คภาษาไทย ภายใต้ชื่อ โปรแกรมปลากัดอีบุ๊ค ออกสู่ตลาดได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาเว็บไซต์กลางที่จะสนับสนุนการเผยแพร่อีบุ๊คดังกล่าว พร้อมเตรียมหาพาร์ตเนอร์จากสำนักพิมพ์ต่าง ๆ รวมถึงนักเขียนอิสระในประเทศที่สนใจต้องการเผยแพร่แบบอีบุ๊คเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร โดยบริษัทฯ ได้ให้ความมั่นใจแก่เจ้าของผลงานว่าจะได้รับการคุ้มครองเรื่องการถูกละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะโปรแกรมดังกล่าวได้มีการติดตั้งระบบป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์เอาไว้อย่างดี นอกจากนี้บริษัทฯ ยังจะดำเนินการแจกจ่ายโปรแกรมให้กับหน่วยงานราชการ และหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศ เพื่อส่งเสริมการใช้ภายในประเทศโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใดอีกด้วย ซึ่งในเนื้อหาแต่ละเรื่องนั้นจะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ราคาไม่กี่บาท จนถึงหลักร้อย แต่ทั้งนี้อีบุ๊คที่จำหน่ายจะต้องมีราคาถูกกว่าหนังสือกระดาษไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 นายสมพร กล่าว

 

หลังจากนี้บริษัทฯ ยังเตรียมที่จะพัฒนาอีบุ๊คภาษาไทยให้สามารถนำไปใช้งานกับโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีแนวคิดที่จะพัฒนาไปสู่การฟังเสียงจากอีบุ๊คแทนการอ่าน ซึ่งเรื่องดังกล่าวบริษัทคงต้องขอการสนับสนุนจากเนคเทค (สวทช.) เป็นโครงการต่อไป

 

ด้าน นางสาว ระสิตา ถาวรานุรักษ์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) สวทช. กล่าวว่า บริษัทไทยซอฟต์แวร์ฯ ถือว่าเป็นบริษัทที่มีศักยภาพ และผลิตโปรแกรมดิกชันเนอรี่ไทย-อังกฤษอยู่แล้ว แต่ส่วนโปรแกรมภาษาไทยบนเครื่อง Pocket PC นั้นบริษัทฯ ยังขาดเรื่องของเทคนิคบางอย่าง ในฐานะที่เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนทางด้านเทคนิคในส่วนที่บริษัทฯ ยังขาดและต้องการ จึงได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านไอทีเข้าไปให้คำแนะนำ ซึ่งทำให้การพัฒนาอีบุ๊คภาษาไทยดำเนินไปได้ด้วยดี

 
เชื่อว่า การพัฒนาโปรแกรมปลากัดอีบุ๊ค จะมีประโยชน์ต่อคนไทยและเด็กไทย ที่สำคัญ บริษัทฯ ยังมีความตั้งใจที่จะแจกจ่ายโปรแกรมนี้ให้กับหน่วยงานราชการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ  จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับคนรักการอ่าน ในการอ่านหนังสือได้สะดวกขึ้น และสามารถพกพาไปอ่านที่ไหนก็ได้
 

สำหรับผู้ประกอบการด้านไอทีรายอื่น ๆ นั้น นางสาวระสิตา ได้กล่าวให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการด้านไอทีของไทยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของการรับจ้างพัฒนาระบบ  มักไม่ค่อยคิดค้นหรือพัฒนาโปรดักส์ใหม่ ๆ ออกมาเพราะกลัวเสี่ยง ทำให้เรายังสู้ต่างชาติไม่ได้ในเรื่องของไอเดีย ดังนั้น ผู้ประกอบการด้านไอทีของไทยจึงควรจะมองว่าประเทศไทยยังขาดอะไรอยู่ ตลาดยังมีอะไรที่เปิดช่องให้เราได้พัฒนาโปรดักส์ใหม่ ๆ ออกไปตอบสนองความต้องการของตลาด ดังเช่นที่บริษัทไทยซอฟต์แวร์ฯ พัฒนาโปรแกรมอีบุ๊คภาษาไทยให้กับคนไทย และหากยังมีอะไรที่ติดขัดหรือขาดเทคนิคบางอย่างก็สามารถเข้ามาขอรับความช่วยเหลือจาก ITAP หรือ หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ซึ่งยินดีที่จะเข้าไปช่วยเติมเต็ม หรือ หากยังไม่แน่ใจว่าโปรดักส์นั้นจะได้รับการตอบรับหรือไม่ ก็ยังมีหน่วยงานอย่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว.ฯลฯ ที่คอยให้คำปรึกษา และแนะนำแนวทางได้อีกด้วย